Blueberry Bon Bon ลุยตลาดเด็กเพื่อนบ้าน
จากธุรกิจรุ่นพ่อ บริษัท ไทยทูเวย์แฟบริค ผู้ผลิตเสื้อผ้าและถุงเท้าเด็กที่เคยเป็นแค่ผู้รับจ้างผลิต (โออีเอ็ม)
โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล
จากธุรกิจรุ่นพ่อ บริษัท ไทยทูเวย์แฟบริค ผู้ผลิตเสื้อผ้าและถุงเท้าเด็กที่เคยเป็นแค่ผู้รับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) ส่งออกให้แบรนด์ดังๆ พอมาถึงรุ่นลูกที่มารับช่วงต่ออย่าง ภัควัฒน์ อาริยะเรืองกิจ และภิตินันท์ เอื้อวัฒนะสกุล สองพี่น้องที่ช่วยกันทำการตลาด โดยตั้งเป้าไว้ว่า ภายใน 3-5 ปีจากนี้ จะปั้นเสื้อผ้าและถุงเท้าเด็กแบรนด์ “Blueberry Bon Bon” ให้เป็นที่รู้จักในตลาดซีแอลเอ็มวี
ภัควัฒน์ เริ่มฉายภาพให้เห็นถึงแผนการเติบโตของ Blueberry Bon Bon ในตลาดซีแอลเอ็มวีว่า จะแบ่งการขยายธุรกิจใน 2 ส่วน คือ การขยายกำลังการผลิตเพิ่มในประเทศเพื่อนบ้านซีแอลเอ็มวี เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดส่งออกทั้งในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) และตลาดอื่นๆ รวมทั้งตลาดอาเซียนที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น อีกส่วนคือ การขยายตลาดของสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าและถุงเท้าเด็กภายใต้แบรนด์ของตัวเองให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น
ด้านการขยายกำลังการผลิตนั้น เบื้องต้นมองไว้ที่กัมพูชา เนื่องจากมีเพื่อนที่เรียนในโครงการ Yen-D ในชั้นกัมพูชาที่กำลังพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่อยู่แถวรอบๆ กรุงพนมเปญมาชวนให้เข้าไปตั้งโรงงานที่นั่น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องต้นทุน และค่าเช่าสัญญาว่าเหมาะสมหรือไม่
“เราก็มองทางเลือกอื่นๆ ไว้ด้วย เช่น การเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานที่กัมพูชาเอง เพื่อความคล่องตัว แต่ในกัมพูชามักมีการสไตรก์ของแรงงานบ่อยครั้ง ทำให้มองว่า ถ้าเข้าไปอยู่ในนิคมฯ น่าจะดีกว่า เพราะมีสาธารณูปโภค มีโรงงานพร้อมเครื่องจักรให้เช่าพร้อม และพอมีปัญหาก็มีคนท้องถิ่นคอยดูแลให้ ทำให้เราทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น โดยที่ไม่ต้องมานั่งปวดหัว” ภิตินันท์ กล่าว
สำหรับการขยายกำลังการผลิตคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้อีกอย่างน้อย 4.2 ล้านชิ้น/ปี จากเดิมที่บริษัทมีโรงงานในไทย 3 แห่ง มีพนักงานรวม 1,500 คน และมียอดขายเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท โดยปีนี้คาดว่ายอดขายรวมจะเพิ่มขึ้นอีก 30% หรือประมาณ 300 ล้านบาท
ขณะที่การทำตลาดนั้น ตอนแรกมองตลาดเมียนมาไว้ เพราะเป็นตลาดที่เติบโตสูงสุดในกลุ่มซีแอลเอ็มวี มีประชากรเยอะ และคนเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจากการที่นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุน แต่ก็เป็นตลาดที่มีคู่แข่งมาก ทั้งบริษัทสิ่งทอรายใหญ่ๆ ของไทยที่ขยายฐานการผลิตเข้าไป ซึ่งมีฐานลูกค้าไม่ต่างกับบริษัทมากนัก ขณะเดียวกันก็มีบริษัทสิ่งทอจากไต้หวันและเกาหลีใต้ที่เข้าไปเมียนมาเช่นกัน จึงคิดที่จะฉีกแนว เบนเข็มไปมองที่ตลาดกัมพูชาก่อน
“กัมพูชาเป็นตลาดที่ค่อนข้างเปิดเสรีการค้าและการลงทุนกว่าเมียนมา และจำนวนประชากรก็น้อย ที่สำคัญถ้าทำตลาดในกัมพูชาได้ ก็จะสามารถทำตลาดส่งออกต่อไปยัง สปป.ลาวและเวียดนามได้ด้วย จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและมีโอกาสสำเร็จสูง และเมื่อมีฐานตลาดอยู่ในมือระดับหนึ่งแล้วค่อยกลับมาทำตลาดในเมียนมาใหม่ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก”ภัควัฒน์ กล่าว
สำหรับกลยุทธ์ในการทำตลาดในซีแอลเอ็มวี ก่อนอื่นต้องเข้าไปศึกษาตลาด เพราะแต่ละตลาดไม่เหมือนกัน และมีความต่างทั้งเรื่องการเมือง คน กฎหมายและรสนิยม ที่สำคัญการมีพันธมิตร มีคอนเนกชั่นที่ดี จะช่วยทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่ดี ช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี