จริงแค่ไหน Gen Y ไม่ใส่ใจออม
คนที่เกิดระหว่างปี 2522-2539 หรืออายุ 21-38 ปีในปัจจุบันเราจะเรียกพวกเขาว่า Generation Y หรือ The Millennial
คนที่เกิดระหว่างปี 2522-2539 หรืออายุ 21-38 ปีในปัจจุบันเราจะเรียกพวกเขาว่า Generation Y หรือ The Millennial หรือจะเรียกย่อๆ ว่า Gen Y ซึ่งใน Krungsri Guru บอกว่าพวกเขาก็เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานของคนกลุ่ม Baby Boomer
“คนกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและค่านิยมที่แตกต่างระหว่างรุ่นปู่ย่าตายาย กับรุ่นพ่อแม่ ซึ่งในยุคนี้จะเป็นยุคที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตเป็นอย่างมาก ทำให้พ่อแม่ที่ค่อนข้างจะประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วจะดูแลเอาใจใส่ลูกๆ เป็นอย่างดี” Krungsri Guru ระบุ
พร้อมกับบอกอีกว่า คนรุ่นนี้มักจะถูกตามใจตั้งแต่เด็ก มีการศึกษาดี ชอบการแสดงออก มีความเป็นตัวของตัวเองสูงรักอิสระ ปรับตัวเก่ง คล่องแคล่วเรื่องเทคโนโลยี ชอบทำงานด้านไอทีและธุรกิจทางด้านความบันเทิง ชอบทำงานเป็นทีมชอบการระดมความคิดเห็น
นอกจากนี้ โซเชียลเน็ตเวิร์กยังมีอิทธิพลกับคนกลุ่มนี้ค่อนข้างมากและมีความเป็นสากลมากขึ้น มีเพื่อนต่างชาติและต่างวัฒนธรรม เนื่องจากโซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้การติดต่อกันทั่วโลกสะดวกมากขึ้น
“แต่สิ่งที่แตกต่างจากคนยุคก่อนๆ ก็คือ พวกเขามักจะไม่ค่อยอดทน ไม่ค่อยหมกมุ่นอยู่กับงานเหมือนกับคนรุ่นก่อน”
“พวกเขาเติบโตมากับการนั่งแช่อยู่หน้าคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ พฤติกรรมการบริโภคจึงเรียกได้ว่า รักง่ายหน่ายเร็วเช่น มักเปลี่ยนมือถือเป็นว่าเล่น”
ในขณะที่ Krungsri Guru ระบุถึงพฤติกรรมการใช้เงินของคนกลุ่มนี้ไว้ว่ามีการบริหารการเงินที่ไม่ดี มักจะใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย ไม่ค่อยอดออม นิยมการเป็นหนี้มากกว่าการรู้จักเก็บออม ซึ่งเป็นสิ่งอันตรายมาก
แต่ในวันนี้ ถ้าจะบอกว่า คน Gen Y ไม่ใส่ใจการออมเงิน น่าจะไม่ถูกต้องทั้งหมดเพราะมีงานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้น พบข้อมูลที่ตรงกันว่า คน Gen Y เริ่มออมเร็วขึ้นและไม่ได้หวังพึ่งสวัสดิการรัฐเหมือนคนรุ่นก่อนๆ อย่าง Gen X หรือ Baby Boomer
วารสาร “พระสยาม” ของธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2/2556 นำเสนอเรื่อง “Gen Y เตรียมพร้อมหลังเกษียณ ไม่หวังพึ่งสวัสดิการสังคม” โดยอ้างถึงผลสำรวจคนกลุ่มคน Gen Y ของ Merrill Edge เมื่อปี 2556 พบว่า
ส่วนใหญ่ต้องการมีเงินเก็บสะสมสำหรับวัยเกษียณ เฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่ากลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 51-64 ปี ตั้งเป้าเงินเก็บสะสมสำหรับวัยเกษียณเฉลี่ยอยู่ที่ 2.6 แสนเหรียญสหรัฐเท่านั้น
77% ของคน Gen Y กำลังเริ่มต้นวางแผนทางการเงินสำหรับชีวิตในวัยเกษียณ แม้ว่าจะยังมีเวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะถึงวัยเกษียณ
ส่วนใหญ่จะมองว่า พวกเขาควรทำงานเพื่อให้มีรายรับที่ต่อเนื่อง และวางแผนการลงทุนเพื่อหาเลี้ยงตนเองเมื่อถึงวัยเกษียณ โดยไม่หวังพึ่งรับเงินสวัสดิการสังคมจากรัฐ เช่น เงินบำเหน็จบำนาญ หรือเงินจากกองทุนประกันสังคม
“แต่พวกเขาเลือกที่จะคิดถึงการออมการลงทุนเพื่ออนาคตอย่างจริงจัง และเริ่มต้นลงมือวางแผนทางการเงินหลังวัยเกษียณค่อนข้างไวกว่าคนในเจเนอเรชั่นก่อน”
57% มีความคิดที่จะลงทุนในตลาดหุ้น ขณะที่กลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 51-64 ปี มีเพียง 25% ที่อยากจะลงทุนในตลาดหุ้น
54% ชอบการใช้งานเครื่องมือบนระบบออนไลน์ เพื่อมาวางแผนทางการเงินและรับทราบข่าวสารได้อย่างทันที เช่น การคำนวณงบประมาณต่างๆ ในชีวิต
55% ต้องการให้บัญชีธนาคารและบัญชีสำหรับการลงทุนของพวกเขาถูกจัดเก็บไว้เป็นบัญชีเดียว
“อาจเป็นเพราะพวกเขาได้เจอกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจมาตลอด เช่น วิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย เมื่อปี 2540 อาจได้เห็นภาวะล้มลุกคลุกคลานของธุรกิจครอบครัว ภาพความยากลำบากต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตทำให้พวกเขามีแนวความคิดแตกต่างไปจากคนรุ่นพ่อแม่ซึ่งมองว่าเงินสวัสดิการหรือเงินบำนาญหลังเกษียณเป็นอีกหนึ่งช่องทางของรายรับ”
ขณะที่ ผลการสำรวจของ Transamerica Center for Retirement Studies สหรัฐอเมริกา พบข้อมูลที่ไปในทิศทางเดียวกันว่า คน Gen Y มีการเตรียมความพร้อมสำหรับวัยเกษียณมากกว่าคนในรุ่นก่อนๆ
ส่วนใหญ่ตั้งใจจะพึ่งพาเงินลงทุนและเงินออมของตัวเองในวัยเกษียณ โดยมีเพียง 18% เท่านั้นที่หวังว่า สวัสดิการจากรัฐจะเป็นแหล่งรายได้หลักของพวกเขา ขณะที่คนกลุ่ม Baby Boomer หวังพึ่งสวัสดิการรัฐมากถึง 36%
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่มั่นใจว่า เมื่อถึงวันที่พวกเขาเกษียณอายุรัฐบาลจะไม่มีสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุให้อีกแล้ว พวกเขาจึงเริ่มต้นเก็บออมเพื่อวัยเกษียณ ตั้งแต่อายุ 22 ปี