posttoday

หุ้นแบบไหนมีลุ้น "เทิร์นอะราวด์"

09 กุมภาพันธ์ 2560

กว่าจะได้ชื่อว่าเป็น “หุ้นเทิร์น อะราวด์” ต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากของธุรกิจ จนกลับมามีกำไรต่อเนื่องอีกครั้ง

โดย...โพสต์ทูเดย์ WEALTH

กว่าจะได้ชื่อว่าเป็น “หุ้นเทิร์น อะราวด์” ต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากของธุรกิจ จนกลับมามีกำไรต่อเนื่องอีกครั้งหนึ่งจึงจะถือได้ว่าเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์ที่สมบูรณ์แบบ

นพดล ดาวแสงสว่าง ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ภารกิจพิชิตหุ้น Turnaround” บอกเอาไว้ว่า จากการศึกษาและลงทุนหุ้นเทิร์นอะราวด์มาหลายปี ทำให้เขาสามารถแบบระดับขั้น หรือ พัฒนาการของหุ้นในกลุ่มนี้ได้ 5 ขั้น

ช่วงที่ 1 เป็นช่วงที่ทำร้ายจิตใจนักลงทุนมากที่สุดแล้ว เพราะจากที่ทำธุรกิจปกติ ราคาหุ้นขึ้นๆ ลงๆ ตามปกติ กลับมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้บริษัทประสบปัญหาราคาหุ้นดำดิ่ง

ช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่ นพดล เรียกว่า “หมดหวัง” นักลงทุนไม่สนใจ ราคาหุ้นลงมาจนอยู่ในระดับต่ำ ไม่มีคนสนใจ แต่เขาบอกว่า สำหรับเขาแล้วช่วงนี้เป็นเวลาที่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด เพราะจะเป็นช่วงที่ผู้บริหารออกมาหาทางทำให้บริษัทพลิกฟื้นคืนมาได้

ช่วงที่ 3 ช่วงเวลาแห่งการเก็งกำไร เพราะนักลงทุนทั่วไปเริ่มกลับมาสนใจ หลังจากที่แผนการฟื้นฟูกิจการเริ่มออกสู่สาธารณะมากขึ้น

ช่วงที่ 4 จะอยู่หรือไปก็มาตัดสินใจกันใช่วงนี้ เพราะถ้าบริษัทสามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ ราคาหุ้นก็พลิกกลับให้สมกับเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์ แต่ถ้าไม่เป็นไปตามคาดก็จะกลายเป็น “เรืออับปาง” แบบที่นพดลเปรียบเทียบและเราก็จะได้เห็น “แมลงเม่า” ที่เข้าไปลงทุนในช่วงที่ 3 บาดเจ็บล้มตายไปตามๆ กัน

ช่วงที่ 5 ถ้าสามารถผ่านช่วงที่ 4 ได้ ก็น่าจะสบายใจได้กำไรกันไปไม่น้อย ซึ่งนพดลบอกว่า บริษัทที่พลิกฟื้นมาถึงช่วงนี้ได้จะมีทางเลือกอยู่ 3 ทาง คือ ขยายกิจการต่อเนื่องจนกลายเป็น Growth Stock หรือรักษาผลประกอบการให้คงที่ หรือร่วงกลับไปอีกครั้ง

ในงานวิจัยของสุรศักดิ์ ไชยธนกิจ (นำมาเขียนเป็นหนังสือชื่อ “ทำกำไร 1,000% ด้วยหุ้นเทิร์นอะราวด์”) แบ่งหุ้นเทิร์นอะราวด์ออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่

1.หุ้นเทิร์นอะราวด์เชิงระบบ หมายถึง หุ้นที่มีวัฏจักรธุรกิจขึ้นลงตามทิศทางเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ทำให้ราคาหุ้นแกว่งตามไปตามรอบของวัฏจักรด้วย เช่น หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว พลังงาน ขนส่ง ส่งออก น้ำตาล

2.หุ้นเทิร์นอะราวด์เชิงเทคนิค หมายถึง หุ้นที่ราคาจะเปลี่ยนแปลงไปตามเทคนิคทางการเงิน โดยจะเห็นได้ชัดในบริษัทที่ใช้เงินมากๆ ในการลงทุนสินทรัพย์ถาวร ในขณะที่การลงทุนยังไม่แล้วเสร็จ โครงการไม่สามารถสร้างรายได้เข้าบริษัทได้ ทำให้ธุรกิจขาดทุน ราคาหุ้นก็ตกลงไปด้วย แต่เมื่อโครงการเริ่มสร้างรายได้บริษัทกลับมามีกำไรอีกครั้ง

3.หุ้นเทิร์นอะราวด์เชิงธุรกิจ หมายถึง บริษัทที่ประสบปัญหาทางธุรกิจ และมีการปรับปรุงธุรกิจเดิมให้ดีขึ้น หรือเปลี่ยนไปทำอีกธุรกิจหนึ่งเลย ซึ่งสุรศักดิ์บอกว่านักลงทุนไทยน่าจะคุ้นเคยกับหุ้นเทิร์นอะราวด์ในรูปแบบนี้มากที่สุด

หุ้นแบบไหนมีลุ้น \"เทิร์นอะราวด์\"

ขณะที่ ดุษิต จงสุทธนามณี วิทยากรหลักสูตรที่ปรึกษาธุรกิจและการลงทุนจัดโดยบริษัท เอฟ พี เอ็ม เซอร์ทิฟิเคต (www.fpmadvisor.com) และเพจ “โรงเรียนสอนเล่นหุ้น” บอกว่า “เรื่องราว” ของหุ้นเทิร์นอะราวด์ที่น่าสนใจจะมี 2 แบบ คือ

1.ธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ยางพารา เพราะราคายางพาราในตลาดโลกมีผลกับยอดขาย หรือ พลังงาน ที่ราคาจะเปลี่ยนแปลงตามความต้องการซื้อและปริมาณการผลิตน้ำมันของโลก รวมทั้งกลุ่มเดินเรือที่ค่าระวางเรือจะผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจโลก

2.ธุรกิจที่เปลี่ยนไปทำธุรกิจอย่างอื่นที่มีอนาคตดีกว่า ซึ่งอาจจะทำให้บริษัทกลับมามีกำไรได้

“ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจตัวธุรกิจของบริษัทนั้นก่อนว่า ทำธุรกิจอะไร ธรรมชาติของธุรกิจเป็นอย่างไร ซึ่งหากเป็นหุ้นที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์จะดูง่าย เพราะมีวัฏจักรราคาที่ชัดเจน แต่ถ้าเป็นบริษัทที่เปลี่ยนธุรกิจอาจจะดูยาก เพราะฉะนั้นต้องติดตามข่าวและบทวิเคราะห์ของ
นักวิเคราะห์” ดุษิต กล่าว

แต่ถ้ายังไม่มั่นใจว่าหุ้นแบบไหนที่น่าจะเข้าข่ายหุ้นเทิร์นอะราวด์จะลองใช้หลักเกณฑ์ของเกลนน์ เคอร์ทิส ที่เขียนไว้ใน www.investopedia.com ดูก็ได้ เพราะเกลนน์บอกว่า ถ้าอยากรู้ว่า บริษัทไหนกำลังจะฟื้นขึ้นมี “จุดสังเกต” ที่เป็นสัญญาณบ่งชี้การพลิกฟื้นอยู่ 3 ข้อนี้ คือ

1.ยอดขายเพิ่มขึ้น

ถ้าบริษัทที่มียอดขายย่ำแย่มาหลายปี แต่อยู่ๆ ก็กลับมามียอดขายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องเริ่มจับตามองได้แล้วว่า เพราะอะไร ทำไมถึงมียอดขายเพิ่มขึ้นมาได้

2.ค่าใช้จ่ายที่สำคัญลดลง

แม้ว่าบริษัทจะไม่ได้มียอดขายเพิ่มขึ้น แต่การที่บริษัทสามารถลดต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สำคัญบางอย่างลงได้ ก็อาจทำให้ธุรกิจที่กำลังมีปัญหาพลิกกลับมาฟื้นได้เหมือนกัน

3.มีสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด

ถ้าสินค้าที่ออกมาใหม่มีความน่าสนใจมากพอก็จะช่วยให้ธุรกิจพลิกฟื้นขึ้นมาได้ เหมือนเมื่อปี 2544 บริษัท แอปเปิ้ล อิงค์ กำลังมีปัญหาอย่างหนัก แต่เมื่อ iPod (ครื่องฟังเพลงพกพา) ออกสู่ตลาดแอปเปิ้ล อิงค์ ก็พลิกจากขาดทุนมาเป็นกำไรได้อย่างสวยงาม

ถ้าลองเข้าไปสอดส่องในงบการเงินก็น่าจะมีหุ้นมากมายที่เหมือนจะเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์ แต่จะมีสักกี่ตัวที่จะพลิกกลับมาได้ และที่คาดหวังว่าจะพลิกกลับมาดี ก็อาจจะไม่ได้ดีเสมอไป และยังเคยมีหุ้นที่คิดว่าจะ “เทิร์นอะราวด์” แต่กลับพลิกไปเป็น “หุ้นเน่าสนิท” มาแล้ว