posttoday

ตลาดทุนมองเอกชนเริ่มลงทุน

15 เมษายน 2560

ตลาดทุนเชื่อว่าการลงทุนของภาคเอกชนจะเริ่มดีขึ้นจากภาพที่เห็นมีการขยับนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตเข้ามาแล้ว

โดย...บงกชรัตน์ สร้อยทอง

ตลาดทุนเชื่อว่าการลงทุนของภาคเอกชนจะเริ่มดีขึ้นจากภาพที่เห็นมีการขยับนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตเข้ามาแล้ว

ทั้งนี้เป็นไปตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2560 ใหม่ เป็นขยายตัวเพิ่ม 3.4% จากเดิมมองไว้ที่ 3.2% ภายใต้สมมติฐานว่า การบริโภคภาคเอกชนโตดีขึ้นเป็น 2.7% จากเดิม 2.6%

ที่สำคัญคือการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าโตเพิ่มเป็น 2.4% จากเดิม 1.6% เพราะมองว่าครึ่งปีหลังการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวดีขึ้นตามความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่น่าจะดีขึ้น ความชัดเจนในโครงการลงทุนพื้นฐานของภาครัฐที่เกิดขึ้นในปีนี้ และงบกลางปีที่จะถูกผลักดันออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกประมาณ 1.8 แสนล้านบาท

“วรวรรณ ธาราภูมิ” ประธานกรรมการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวในช่วงแถลงดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนล่าสุด ว่า ประเทศไทยไม่ได้มีความมั่งคั่ง แต่มีความมั่นคงมาก เพราะค่าเงินมีเสถียรภาพและเป็นที่ต้องการของนักลงทุน ดุลการค้า ดุลการชำระเงิน และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งมาก

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยช่วงที่เหลือปีนี้คือ การลงทุนของภาครัฐที่ยังคงเป็นพระเอกอยู่แม้อัตราการขยายตัวจะต่ำกว่าปีก่อนก็ตาม และที่สำคัญเชื่อว่าการลงทุนภาคเอกชนกำลังจะเริ่มดีขึ้น เนื่องจากเริ่มเห็นเอกชนเริ่มขยับ เพราะมีการนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตมากขึ้นแล้ว ซึ่งจากนี้จะต้องจับตาให้มากขึ้น

สำหรับโครงการลงทุนภาครัฐที่จะช่วยขับเคลื่อนมีอยู่ 4 โครงการ คือ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีการลดภาษีให้บริษัทต่างๆ และบุคคลธรรมดา โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ และโครงการการรถไฟฟ้าหลากสีในกรุงเทพฯ ซึ่งเริ่มเห็นจากที่เพิ่งเปิดรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายที่สำโรง

สอดรับกับตัวเลขข้อมูลที่ “ภากร ปีตธวัชชัย” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้แถลงข้อมูลการซื้อขายประจำเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า มูลค่าการซื้อขายหุ้นในหมวดธุรกิจ 3 อันดับแรก ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ล้วนเป็นหุ้นที่อยู่ในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ อันดับหนึ่งคือ กลุ่มธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 10.8% อันดับสอง กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น 9.1% และสามคือ กลุ่มธุรกิจการเงินที่เพิ่มขึ้น 5.1%

ขณะที่หุ้นกลุ่มธุรกิจที่มีการซื้อขายปรับลงแรงที่สุดคือ กลุ่มธุรกิจบริการลดลงมากสุดถึง 3.1% รองลงมาคือ กลุ่มธุรกิจเกษตรกรรมและอาหารที่ลดลง 1.8%

ตลาดทุนมองเอกชนเริ่มลงทุน

นอกจากนั้น ดูจากการระดมทุนในตลาดรองซึ่งถือเป็นการใช้เครื่องมือทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เพื่อขยายการลงทุนต่อ หลังเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) แล้ว ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2560 อยู่ที่ 1.83 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 1.38 หมื่นล้านบาท อาจจะเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่ บจ.มีความต้องการระดมทุนเพื่อไปขยายการลงทุนเพิ่ม

สำหรับเครื่องมือทางการเงินที่นิยมใช้มากที่สุดคือ การขายหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (พีพี) อยู่ที่ 1.61 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 90.81% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 8,484 ล้านบาท ขณะที่การออกเพิ่มทุนขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม (อาร์โอ) ลดลงมากถึง 69.21% รองลงมาคือและการออกเสนอใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์) ที่ลดลง 37.59% ขณะที่ไม่มีการใช้เครื่องมือเพิ่มทุนแบบเสนอขายให้ประชาชนทั่วไป (พีโอ) และการเสนอขายหุ้นกู้เลย

หากพิจารณาตลาดแรกคือ การเสนอขายหุ้นให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ณ สิ้นไตรมาสแรก คือ 2,346 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 1,356 ล้านบาท  และหากดูการระดมทุนทั้งตลาดแรกและตลาดรองอยู่ที่ 2.07 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 1.51 หมื่นล้านบาท

 “ประพันธ์ เจริญประวัติ” ผู้ช่วยผู้จัดการและผู้จัดการ mai กล่าวว่า ที่ผ่านมา บจ.ใน mai เข้าจดทะเบียนเพราะต้องการระดมทุนเพื่อขยายการลงทุนให้บริษัทมีการเติบโตที่ต่อเนื่อง และหลังเข้า mai มาแล้วก็มีการใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ หรือใช้ตลาดทุนได้อย่างคุ้มค่า

จากงบการเงินปีก่อน บจ. mai มีทั้งหมด 137 แห่ง พบว่า การระดมทุนจากจากหุ้นไอพีโอทั้งหมด 4.1 หมื่นล้านบาท และหลังเข้ามาแล้วก็มีการระดมทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่ามากกว่าตอนไอพีโออีก ซึ่งหากดูเครื่องมือทางการเงินที่ใช้มีทั้งหมด 323 เครื่องมือ เท่ากับ 1 บริษัทได้ใช้เครื่องมือทางการเงินเฉลี่ย 2-3 ครั้ง ในการสร้างการเติบโต การสร้างสภาพคล่องให้หุ้น อีกทั้งเพื่อเป้าหมายรักษาพนักงาน

ปีนี้ตั้งเป้าหมายว่า จะส่งเสริมให้ บจ.ใช้เครื่องมือทางการเงินมากขึ้นหรือ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้ เพราะหากดูงบปีที่ผ่านมา พบว่าสินทรัพย์ทั้งหมดของ บจ. mai อยู่ที่ 2.08 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นมา 3.86 หมื่นล้านบาท หรือ 22% จากปี 2558 อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งสินทรัพย์ที่เพิ่มมาจากการขยายธุรกิจ เท่ากับว่าจะมีการสร้างรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นให้กับบริษัทได้ในอนาคต ขณะที่สถานะทางการเงิน บจ. mai แข็งแกร่งเพราะอัตราหนี้สินต่อทุน (ดี/อี) เฉลี่ยอยู่ที่ 0.82 เท่า ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่อยู่ที่ 1 เท่า แม้จะมีการขยายการลงทุนที่มากขึ้นแต่หนี้กลับลดลง