พรรคประชาชน ยัน! ประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมือง ไม่กระทบความมั่นคง
พรรคประชาชน ยัน! ประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมือง ไม่กระทบความมั่นคง หลัง สภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ เสียงข้างมากตัดนิยาม “ชนเผ่าพื้นเมือง”
8 ม.ค. 2568 พรรคประชาชน รายงาน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว และกรรมาธิการได้ขอถอนร่างไปปรับปรุงใหม่ ก่อนที่จะนำมาสู่การพิจารณาอีกครั้งในวันนี้ ซึ่งในการพิจารณาวันนี้ประเด็นที่ยังคงมีการถกเถียงกันก็ยังคงเป็นเรื่องควรมีการนิยาม “ชนเผ่าพื้นเมือง” อยู่ในมาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ. หรือไม่
โดยในส่วนของ ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนความเห็น ระบุว่าประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมืองอยู่จริงและยังมีตัวตนอยู่ในพื้นที่ต่างๆ นิยามคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองที่มีอยู่จริงในประเทศไทยเป็นเรื่องที่กำหนดและเขียนขึ้นมาได้ ซึ่งไม่ว่าจะในระดับประเทศไทยหรือสากลก็ไม่ได้มีนิยามและนัยที่แตกต่างอย่างสำคัญแต่อย่างใด การเรียกร้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยไม่เหมือนในประเทศอื่น และยังมีการถกเถียงกันได้ในทางวิชาการ ถ้ายอมรับว่าชนเผ่าพื้นเมืองมีอยู่จริงในประเทศไทยแล้วทำไมถึงใส่คำนี้ลงไปในกฎหมายไม่ได้
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าอนุสัญญาในระดับระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิแรงงาน ILO 169 หรือปฏิญญาสากลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง อนุสัญญาว่าด้วยเด็ก อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ล้วนแต่มีคำหรือนิยามที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของชนเผ่าพื้นเมือง
เช่น ในปฏิญญาสากลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ที่คณะผู้แทนไทยให้การรับรองตัวบทและเห็นด้วยกับจุดมุ่งหมายของปฏิญญาดังกล่าว ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 143 ประเทศ แล้วมีเหตุผลใดถึงไม่สามารถบรรจุคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองเข้าไปได้ และประเทศไทยก็ยอมรับและตีความว่าปฏิญญาดังกล่าวไม่ได้สร้างสิทธิพิเศษหรือผลประโยชน์อื่นใดเป็นพิเศษนอกเหนือจากที่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายใน
ณัฐวุฒิกล่าวต่อไปว่าการดำรงอยู่ของคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานที่ต่ำที่สุดของชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการเข้าถึงที่ดิน การดำรงชีวิต การระบุตัวตนหรือการตัดสินใจด้วยตนเองว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมือง การได้รับสัญชาติ หรือการร้องเรียนหรือแก้ไขปัญหาเป็นการเฉพาะ
นอกจากนี้ สภาแห่งนี้มีนิติวิธีที่บอกว่าเมื่อมีการรับหลักการกฎหมายเหล่านั้นมาแล้ว จะต้องไม่ให้หลักการของกฎหมายเหล่านั้นตกไปในการพิจารณาในวาระที่ 2-3 ทุกคนที่ลงคะแนนให้กฎหมายฉบับนี้ในวันแรกต้องย้อนกลับไปทบทวนตัวเองว่าในวันนั้นท่านรับหลักการเรื่องใด วันนั้นเรารับหลักการมา 5 ร่างด้วยกัน ซึ่ง 3 ใน 5 ร่างมีการระบุถึงชนเผ่าพื้นเมือง ท่านจะตอบตัวเองได้อย่างไรว่าวันนั้นท่านรับหลักการที่มีคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง แล้วมาถึงวันนี้จะไม่มีคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองได้อย่างไร
ณัฐวุฒิยังกล่าวต่อไปว่าแม้จะมีข้อโต้แย้งว่าชนเผ่าพื้นเมืองถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชาติพันธุ์อยู่แล้ว แต่การมีคำนี้เป็นสิ่งที่ดีกว่า เป็นการเฉพาะเจาะจง ไม่ต้องนำไปสู่การตีความของผู้บังคับใช้กฎหมายในอนาคต และทำให้ผู้แทนราษฎรสามารถตอบชนเผ่าพื้นเมือง ประชาชน และประชาคมระหว่างประเทศได้
ในส่วนของ มานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่าในประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมืองอยู่จริง ตนเป็นชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ มีวิถีชีวิต ตัวตน และเครือข่ายความเป็นวัฒนธรรม ซึ่งองค์กรสหประชาชาติเองก็ให้การรับรองด้วย ตนขอให้คนที่เห็นแย้งได้ไปอ่านปฏิญญาสากลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ข้อ 46 ชัดเจน ว่าไม่สามารถที่จะนำไปสู่การแบ่งแยกตนเองได้ การพูดในสภาต้องพูดบนพื้นฐานข้อเท็จจริง
นี่คือการก้าวเดินต่อไปเพื่อบอกว่ากลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยต้องมีพื้นที่ในเวทีระดับโลก ชาวลั้วะที่อยู่มาก่อนพญาเม็งรายจะสร้างเมือง ไม่ใช่ชนเผ่าพื้นเมืองได้อย่างไร ชาวมานิที่อยู่มาหลายพันปีบนเทือกเขาบรรทัดถ้าไม่ใช่ชนเผ่าพื้นเมืองแล้วคืออะไร
มานพกล่าวต่อไปว่าในฐานะที่ตนเป็น สส. ที่เป็นตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ ยืนยันว่าประเทศไทยประกอบสร้างด้วยผู้คนหลากหลายกลุ่มก่อนจะมีรัฐชาติและการปฏิรูปแบบสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 นี่คือข้อเท็จจริงที่ว่าสังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีรากลึกมากที่มาจากหลากหลายวัฒนธรรม ประเทศไทยได้ไปลงนามปฏิญญาสากลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือขาหนึ่งเราไปลงนามเรื่องนี้ แต่อีกขาหนึ่งเรากำลังจะบอกว่าไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง นี่เป็นความย้อนแย้งกัน ตนเข้าใจความจำเป็นในอดีตเรื่องของความมั่นคง แต่จะเกิดความเสียหายมากกว่าหากไม่มีคำว่าชนเผ่าพื้นเมือง และในปัจจุบันการมีคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคงอีกต่อไปแล้ว
อย่างไรก็ตามในการลงมติ เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขของกรรมาธิการเสียงข้างมาก ส่งผลให้เป็นการนำคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ออกจากร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว