posttoday

ติดเครื่องแผนเสริมศักยภาพดันน้ำเจ้าพระยา

15 พฤษภาคม 2560

กรมชลฯ คาดเริ่ม 3 แผนงาน เพิ่มศักยภาพระบายน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออกปี 2561

กรมชลฯ คาดเริ่ม 3 แผนงาน เพิ่มศักยภาพระบายน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออกปี 2561

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลประทานอยู่ระหว่างเตรียมทำรายละเอียดโครงการเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันออกลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาทลงมา เพื่อเป็นช่องทางการระบายน้ำและลดปริมาณน้ำที่จะลงแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคาดว่าโครงการบางส่วนจะเริ่มได้ในงบประมาณปี 2561 

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาศักยภาพการระบายน้ำคลองรังสิต คลองพระองค์ไชยานุชิตออกทะเลที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำจาก 300 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เป็น 500-800 ลบ.ม./วินาที  ซึ่งสามารถลดปริมาณน้ำที่จะเข้ากรุงเทพฯ ไม่ให้เกินระดับเฝ้าระวังที่ 3,500 ลบ.ม./วินาที  และบางส่วนจะเป็นการขุดคลองเส้นใหม่จากเขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาท เพื่อตัดยอดน้ำก่อนถึงเขื่อนเจ้าพระยา เชื่อมกับแม่น้ำป่าสักและขุดเชื่อมกับคลองระพีพัฒน์ เป็นเส้นตรงออกทะเลที่คลองด่านสมุทรปราการด้วย

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำเหนือออกสู่ทะเลมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งตามการศึกษาจะต้องดำเนินการ 9 แผนงานด้วยกัน แบ่งออกเป็น ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา 3 แผนงาน ฝั่งตะวันตก 2 แผนงาน และในส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แผนงาน

สำหรับแผนงานลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออก 3 แผนงาน ประกอบด้วย 1.แผนการสร้างคลองระบายน้ำควบคู่กับคลองส่งน้ำชัยนาท-ป่าสัก สามารถระบายน้ำในช่วงน้ำหลากได้ประมาณ 930 ลบ.ม./วินาที 2.การปรับปรุงโครงสร้างระบบชลประทานเดิมที่มีอยู่ที่่ระบายน้ำผ่านทางคลองระพีพัฒน์ และคลองสาขาต่างๆ รวม 23 คลอง ยาว 490 กิโลเมตร เพิ่มศักยภาพการระบายน้ำจากปัจจุบันสูงสุด 210  ลบ.ม./วินาที เป็น 400 ลบ.ม./วินาที และ 3.การก่อสร้างคลองระบายน้ำสายใหม่จากแม่น้ำป่าสักลงสู่ทะเลโดยตรง สามารถระบายน้ำได้สูงสุดประมาณ 600 ลบ.ม./วินาที