เปิดตัว "ลอคค์บอกซ์" รับไลฟ์สไตล์คนเมือง
ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของบริการที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกในการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน
โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
การใช้ชีวิตในเมืองอันแสนวุ่นวาย การจราจรติดขัดคือปัญหาใหญ่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้มีระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินมาตอบโจทย์แล้ว แต่ก็ยังตอบโจทย์ไม่ทั้งหมดสำหรับคนที่มีสัมภาระมากจนไม่อาจพกพาสัมภาระแทรกตัวสู่สถานีรถไฟฟ้าในช่วงเวลาเร่งด่วนได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีคนรุ่นใหม่สร้างธุรกิจตู้ล็อกเกอร์รับฝากสัมภาระลักษณะเดียวกับที่มีในต่างประเทศแต่ไม่เคยมีในไทย เพื่อตอบโจทย์นี้
อิทธิชัย พูลวรลักษณ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ลอคค์ บอกซ์ (lockbox) ผู้ให้บริการ “ลอคค์ บอกซ์” ตู้ล็อกเกอร์รับฝากสัมภาระในระบบการขนส่งมวลชนรายแรกของไทย เปิดเผยว่า ได้เริ่มทดลองธุรกิจนี้ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2559 เพื่อศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้บริการ ศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ หลังศึกษา 1 ปี ก็เตรียมเปิดตัวธุรกิจอย่างเป็นทางการใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า
ทั้งนี้ ช่วงศึกษาเริ่มทดลองที่สถานีแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ มักกะสันเป็นที่แรกพบว่าผู้ใช้บริการ 80% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนคนไทยจะเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวกับสายการบิน จากนั้นจึงทดลองเปิดจุดต่อไปที่จตุจักรพลาซ่า พบว่าส่วนใหญ่ผู้ใช้บริการเป็นคนที่มาช็อปปิ้งและทดลองจุดที่ 3 บนสกายวอล์กรอยต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดงและ สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม ผู้ใช้บริการ 80% เป็นคนไทย ส่วนใหญ่ใช้มากหลังเวลา 17.00 น. เพราะนิยมมาฝากของก่อนไปออกกำลังกายที่สวนลุมพินี
เมื่อทดลองจนแน่ใจ จึงวางแผนว่าระยะแรกจะเปิดให้บริการลอคค์ บอกซ์ 20 จุด ใน 14 สถานีรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดิน สาเหตุที่เริ่มจากสถานีรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินก่อนเพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดภาพจำเกี่ยวกับบริการลักษณะนี้ ส่วนอนาคตก็อาจขยายการให้บริการเข้าสู่ช็อปปิ้ง มอลล์ต่อไป ปัจจุบันได้ติดตั้งลอคค์ บอกซ์ ไปแล้วกว่า 10 สถานี น่าจะเสร็จครบ 20 จุด ใน 14 สถานี ภายใน 2 สัปดาห์หน้าช่วงที่เปิดตัวธุรกิจพอดี
อิทธิชัย พูลวรลักษณ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ลอคค์ บอกซ์
อิทธิชัย กล่าวว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยี่ยมเยือนมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกมากกว่าลอนดอน ปารีส หรือโตเกียวด้วยซ้ำ จึงถือเป็นเมืองที่มีปริมาณความต้องการใช้ล็อกเกอร์ฝากสัมภาระสูง แต่หากให้มองความยั่งยืนของธุรกิจนี้คงไม่ได้พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเดียว ตัวอย่างที่ชัดคือในญี่ปุ่น ผู้ใช้ล็อกเกอร์ตามระบบขนส่งมวลชนไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่คนในท้องถิ่นก็ใช้ เพราะคนขับรถน้อยลงเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามากขึ้น บริการล็อกเกอร์จึงตอบโจทย์ทำให้คนที่มีสัมภาระมากและต้องเดินทางไปหลายที่มีทางเลือกฝากสัมภาระไว้ก่อน ซึ่งแนวโน้มพฤติกรรมคนไทยก็เริ่มไปในทิศทางนั้นจึงตัดสินใจทำ
อิทธิชัย กล่าวอีกว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทเป็นเจ้าแรกที่เปิดตู้ล็อกเกอร์ตามระบบขนส่งมวลชนได้ คือแนวทางดูแลรักษาความปลอดภัย ซึ่งมีระบบดูแล 3 ชั้น ได้แก่ 1.การติดตั้งกล้องซีซีทีวีของล็อกเกอร์เองเพื่อจับภาพการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ข้อมูลจะถูกเก็บไว้ 3 เดือน 2.จะมีการเก็บภาพผู้ใช้งานทุกครั้งที่ใช้งานตู้ และ 3.จะมีเจ้าหน้าที่คอยเดินตรวจความปลอดภัยตามจุดติดตั้งตู้ล็อกเกอร์ทุกๆ 15-30 นาที ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับค่าบริการจะขึ้นอยู่กับขนาดล็อกเกอร์ที่ใช้ โดยมีอัตราต่อชั่วโมงและแบบเหมารายวัน ซึ่งดูรายละเอียดได้ที่ www.lockbox-th.com
ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของบริการที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกในการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน โดยไม่ต้องมานั่งกังวลกับสัมภาระที่มีล้นมือ