BCP เปิดแผน 1+1 ได้มากกว่า 2
ประลองยุทธ ผงงอย วิศิษฐ์ แถมเงินธุรกรรมที่เกิดขึ้นของ 2 บริษัทใหญ่ด้านพลังงาน คือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) กับบริษัท น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ที่ประกาศควบรวมบริษัทลูก คือ บริษัท บีบีพี โฮลดิ้ง (BBH) กับ บริษัท เคเอสแอลจีไอ (KSLGI) เพื่อเป็นพันธมิตรทางธุรกิจสำหรับธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ
ประลองยุทธ ผงงอย วิศิษฐ์ แถมเงิน
ธุรกรรมที่เกิดขึ้นของ 2 บริษัทใหญ่ด้านพลังงาน คือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) กับบริษัท น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ที่ประกาศควบรวมบริษัทลูก คือ บริษัท บีบีพี โฮลดิ้ง (BBH) กับ บริษัท เคเอสแอลจีไอ (KSLGI) เพื่อเป็นพันธมิตรทางธุรกิจสำหรับธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ
"ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช" กรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP ให้สัมภาษณ์ โพสต์ทูเดย์ ว่า ที่มาของการเกิดธุรกรรมควบรวมบริษัทลูกระหว่าง 2 บริษัท เริ่มมีการเจรจากับกลุ่ม KSL ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 เพราะเห็นโอกาสที่สร้างประโยชน์ร่วมของธุรกิจทำให้มีความสมบูรณ์มีวัตถุดิบที่ครบถ้วนหลากหลายในการผลิตใช้ผลิตเอทานอล ด้วยนโยบายของบริษัทที่ต้องการขยายการลงทุนในธุรกิจสีเขียวเพิ่มขึ้นในประเทศไทย เพราะเดิมบริษัทมีวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเอทานอลคือมันสำปะหลังกับปาล์ม ส่วน KSL มีกากน้ำตาลเข้ามาช่วยในการเติมเต็ม สามารถเลือกวัตถุดิบมาผลิตเอทานอลได้ตามวงจรของราคา ทำให้ต้นทุนการผลิตได้เปรียบ
บริษัทต้องการใช้เอทานอลเพื่อนำไปผสมผลิตน้ำมันที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน ปัจจุบันบริษัทโรงงานเอทานอล 2 แห่งตั้งอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ถือหุ้นสัดส่วน 85% มีกำลังผลิต 1.5 แสนลิตร/วัน กับ จ.อุบลราชธานี ถือหุ้น 21% มีกำลังผลิต 4 แสนลิตร/วัน รวมกำลังผลิตเป็น 5.5 แสนลิตร/วัน ซึ่งใช้วัตถุดิบจากมันสำปะหลังทั้งหมด ดังนั้น อดีตที่ผ่านมาภาพรวมการผลิตเอทานอลของไทยถูกผลิตมาจาก กากน้ำตาล มันสำปะหลัง หรือปาล์ม ซึ่งจะมีวงจรของราคาของตัวเองที่ต่างกัน ทำให้ต้นทุนในการผลิตจึงแตกต่างกันด้วย ซึ่งบริษัทมีวัตถุดิบจากมันสำปะหลังกับปาล์ม
ขณะที่ก่อนหน้านี้ในฝั่งการผลิต เอทานอลจะมีสูงกว่าความต้องการของตลาดการบริโภค แต่น้ำมันกลุ่ม E20 ได้รับการตอบรับที่ดีและเร็ว ทำให้ตลาดรวมของ เอทานอลมีความสมดุลมากขึ้น เพื่อใช้เอทานอลรองรับธุรกิจของบริษัทจะมีการใช้เอทานอลเป็นส่วนผสม 1 ล้านลิตร/วัน และใช้เชื้อเพลิงที่ได้จากชีวมวล (Biofuel) อีก 4.5-5 แสนลิตร/วัน ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีโรงผลิตไบโอดีเซลบริสุทธิ์ (B100) ตั้งอยู่ อ.บางปะอิน กำลังผลิต 9.1 ลิตร/วัน ซึ่งบริษัทต้องจัดหาซื้อเอทานอลจากข้างนอกเข้ามาใช้เพิ่มด้วยเพราะผลิตภายในไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ การควบรวมกิจการของ 2 บริษัทย่อยจะทำให้บริษัทสามารถซื้อ เอทานอลได้เพิ่มขึ้นหลังการควบรวมจากบริษัทย่อยใหม่ หลังการควบรวมจากการใช้กากน้ำตาลจากของ KSL มาเป็นวัตถุดิบ ส่งผลให้บริษัทมีวัตถุดิบที่ครบวงจรจากเดิมที่มีมันสำปะหลังกับปาล์ม ส่วนเดิมจะต้องใช้เงินซื้อเอทานอลจากบริษัทข้างนอกเปลี่ยนใช้เงินซื้อเอทานอลที่บริษัทลูกแห่งใหม่จะสร้างกระแสเงินสดส่วนเกินเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท/ปี นำไปต่อยอดเพิ่มมูลค่าธุรกิจให้เติบโตขึ้นได้ด้วย
ทั้งนี้ ได้มีการหารือกับ KSL ว่ามีแผนจะสร้างประโยชย์ร่วมต่อยอดธุรกิจจากกระแสเงินสดส่วนเกินที่มีของบริษัทย่อย ภายใต้ชื่อใหม่ คือ บริษัท บีบีจีไอ (BBGI) ไปต่อยอดลงทุนธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง และมีตลาดเฉพาะที่ทำผลิตภัณฑ์หลากหลายด้วยการวิจัยและพัฒนา อาทิ ฉนวนกันความร้อนแบบพิเศษ (PCM) การวิจัยลงทุนน้ำตาล ออร์แกนิกเพื่อให้สามารถรับประทานได้โดยไม่เป็นโรคเบาหวาน อีกทั้งภายหลังรวมกันจะมีกำลังผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพสูงสุดของประเทศที่ 1.9 ล้านลิตร/วัน และมีแผนใน 1-2 ปี จะขยายกำลังผลิตไปเป็น 2.2 ล้านลิตร/วัน
นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างขนาดของธุรกิจให้มีขนาดใหญ่หลากหลายและครบวงจรมากขึ้นตามแผนงานที่จะนำ BBGI ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปี 2561 เตรียมขั้นตอนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชน (ไอพีโอ) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในช่วงไตรมาส 3 ปีหน้า ถือเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพครบวงจรรายแรกใน SETพร้อมทั้งยังสอดคล้อง นโยบายรัฐที่สนับสนุนใน 4 กลุ่มด้วย
"ทั้งบริษัทกับ KSL มีเคมีตรงกันเห็นร่วมกันด้วยว่าหนึ่งบวกหนึ่งต้องได้มากกว่าสองก่อนหน้านี้บริษัทย่อยของ BCP ทำกำไรก่อนหักดอกเบี้ยภาษีและค่าเสื่อม (อีบิตดา) ได้ 400-500 ล้านบาท/ปี ลูกของ KSL ทำอีบิตดาได้ 300-400 ล้านบาท/ปี แต่เมื่อควบเป็น BBGI ตั้งเป้าภายใน 3 ปี เพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท จะเห็นการเติบโตที่ชัดเจน จะเห็นว่าหนึ่งบวกหนึ่งทำได้มากกว่าสองไปเยอะ"
ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ต้องการเพิ่มสัดส่วนอีบิตดาจากธุรกิจอื่นให้มากขึ้น จากวันที่รับตำแหน่งปี 2558 บริษัทมีสัดส่วนอีบิตดาจากโรงกลั่น 65% ธุรกิจการตลาด 20% และที่เหลือเป็นธุรกิจไฟฟ้า 15% ปัจจุบันอีบิตดาสมดุลขึ้น โรงกลั่นมีสัดส่วนอีบิตดาลดเหลือ 50% ธุรกิจการตลาดมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 25% และไฟฟ้าเพิ่มเป็น 25%
ขณะที่แผนกลยุทธ์ที่กำหนดออกมาล่าสุดกำหนดให้ว่าใน 3-4 ปีข้างหน้า หรือในปี 2563 ตั้งเป้าหมายอีบิตดาไว้ที่ 2.2-2.3 หมื่นล้านบาท โดยกำหนดสัดส่วนให้อีบิตดาของโรงกลั่นลดลงเหลือ 30% แต่กำไรของธุรกิจโรงกลั่นยังเติบโตต่อเนื่อง แต่ในธุรกิจอื่นทั้งกลุ่มไฟฟ้าจะเติบโตในอัตราที่สูงกว่าสัดส่วนจะเพิ่มเป็น 30% อีบิตดาจาก BBGI จะขึ้นเป็น 15% จากเดิมที่ไม่ถึง 5% และธุรกิจการตลาดอยู่ที่ประมาณ 25% ส่งผลดีให้อีบิตดารวมของบริษัทมีความมั่นคงขึ้น ลดการพึ่งพิงจากธุรกิจโรงกลั่นที่มีความผันผวนตามราคาน้ำมัน