posttoday

สัมโมทนียกถา โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

03 สิงหาคม 2560

สมาน สุดโตเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2560 ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักพระราชวัง และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) อัญเชิญสุพรรณบัฏและเครื่องประกอบสมณศักดิ์ไปถวายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ณ พระอุโบสถวัดญาณเวศกวัน อ.สามพราน จ.นครปฐม ในการนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้กล่าวสัมโมทนียกถา เรื่อง บทบาทหน้าที่ของพระสงฆ์ที่มีต่อสังคม ในหลายประเด็น จึงขอถอดเทปมาเสนอท่านผู้อ่าน แต่ต้องแบ่งเป็น 2 ตอน

สมาน สุดโต

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2560 ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักพระราชวัง และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) อัญเชิญสุพรรณบัฏและเครื่องประกอบสมณศักดิ์ไปถวายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ณ พระอุโบสถวัดญาณเวศกวัน อ.สามพราน จ.นครปฐม ในการนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้กล่าวสัมโมทนียกถา เรื่อง บทบาทหน้าที่ของพระสงฆ์ที่มีต่อสังคม ในหลายประเด็น จึงขอถอดเทปมาเสนอท่านผู้อ่าน แต่ต้องแบ่งเป็น 2 ตอน

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2559 ได้กล่าวอนุโมทนาที่ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองอัญเชิญสุพรรณบัฏและเครื่องประกอบสมณศักดิ์มาถวาย รวมทั้งอนุโมทนาญาติโยมพุทธบริษัทของวัดญาณเวศกวันที่มาช่วยในงานนี้ เท่ากับมาคอยต้อนรับผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ทั้งๆ ที่งานนี้จัดเป็นการภายใน ไม่ได้บอกใคร

(ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่สามารถระบุนาม ได้แก่ อำพน กิตติอำพน จากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการ พศ.เป็นต้น)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ กล่าวว่า ในส่วนของภูมิภาค ก็มีผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พูดรวมๆ ว่า ท่านผู้ใหญ่ฝ่ายบ้านเมืองได้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ เสียสละเวลา นำเครื่องประกอบสมณศักดิ์มาถวายในวันนี้ ขออนุโมทนาในน้ำใจของท่าน

ทั้งหมดนี้เป็นไปโดยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า พระองค์ผู้ทรงเอกอัครศาสนูปถัมภก ซึ่งได้ทรงสถาปนาสมณศักดิ์ตั้งแต่วันคล้ายวันบรมราชสมภพในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2559 และเนื่องในกาลนั้น พิธีแสดงมุทิตาจิตเป็นต้นได้สำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้จึงได้บอกเป็นการภายใน ว่า พุทธบริษัททั้งพระสงฆ์ที่วัดนี้ และญาติโยมประชาชน ให้ถือการพิธีวันนี้เป็นเรื่องภายใน และไม่ต้องแจ้งแก่ประชาชน โดยข้อสำคัญแสดงน้ำใจตอบแทนคณะท่านผู้ใหญ่ฝ่ายบ้านเมืองที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อดังที่ว่าแล้ว นำเครื่องประกอบสมณศักดิ์มาถวาย เพราะฉะนั้นการให้ความสำคัญอยู่ที่การต้อนรับท่านผู้ใหญ่ฝ่ายบ้านเมือง

ในการนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้มอบพัดยศ ตราตั้ง แก่พระครูปลัดสัมพิพัฒนศีลา จารย์ พระเมธังกร พระครูธรรมรัต พระครูธรรมรุจิ และพระครูสังฆวิจารณ์ รวมไปถึงพระครูรูปอื่นๆ ที่ได้มอบพัดไปก่อนนี้แล้ว อนุโมทนาทุกท่านที่ได้ปฏิบัติศาสนกิจเพื่อประโยชน์ แก่วัด แก่คณะสงฆ์ แก่พระพุทธศาสนา แก่ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหมด ให้งานศาสนกิจของวัดเพื่อส่วนรวมดำเนินมาด้วยดี

พุทธศาสนาเรียกธรรมจักร

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ กล่าวถึงพิธีในการสถาปนาสมณศักดิ์ จนกระทั่งนำเครื่องประกอบสมณศักดิ์มาถวายในวันนี้ พูดกันในภาษาสำนวนหนึ่งก็บอกว่า เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรกับพุทธจักร เป็นวิธีพูดอย่างหนึ่ง แต่แท้จริงคำว่า พุทธจักร นั้นเป็นคำสมัยใหม่ ประกอบศัพท์ในยุคสมัยเมืองไทยเรานี่เอง หรือจะเรียกว่าศาสนาจักรยิ่งไม่ใช่ เพราะศาสนจักรใช้เป็นคำเรียกในโลกตะวันตกโน้น ที่มีศาสนจักรคู่กันมา (กับอาณาจักร) เป็นเวลานาน

แต่ของเรานั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมจักร มาถึงสมัยนี้อนุวัตรไปตามยุคสมัย ที่ว่าอาณาจักรกับพุทธจักร คือ ฝ่ายบ้านเมืองกับฝ่ายพระสงฆ์นั่นเอง และครั้งนี้เป็นฝ่ายบ้านเมืองแสดงออกถึงการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา

พระคือผู้สละเจ้าเรือน

ญาติโยมหลายท่าน จะนึกว่า ก็พระนี่จะมียศมีศักดิ์อะไรกันอีกล่ะ สำนวนภาษาเรียกว่าเป็นผู้สละโลก เป็นสำนวนที่เกินไปหน่อย เป็นสำนวนที่คลุมเครือ กำกวม ถ้าตรงไปตรงมาเป็นการสละเจ้าเรือน รวมไปถึงกิจการของชาวบ้านและบ้านเมืองต่างๆ นั้น ทางพระสงฆ์ไม่เกี่ยวแล้ว ทำไมจึงมีสมณศักดิ์ เป็นเหตุให้มีพิธีในวันนี้

ในโอกาสนี้ ก็ควรทำความรู้ความเข้าใจ สำหรับความสัมพันธ์บ้านเมืองกับพระสงฆ์ ในประเทศไทยเรารู้กันดีว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิด สนิทสนม เรียกว่า ฝ่ายบ้านเมืองเป็นฝ่ายอุปถัมภ์ ถวายพระนามพระประมุขของชาติว่าเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก

พระสงฆ์นั้นเป็นผู้เสียสละ ออกมาอยู่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องชาวบ้าน ยิ่งเรื่องยศศักดิ์อะไรนี้ไม่เกี่ยว แต่เรื่องไปมากันอย่างไร หากศึกษาจริงก็เป็นเรื่องต้องค้นคว้าในประวัติศาสตร์

หน้าที่พระ

เอาเป็นว่าสำหรับหลักการพระพุทธศาสนานั้น ให้ความสำคัญที่พระสงฆ์เมื่อสละเหย้าเรือนมาแล้ว ก็มีหน้าที่มีกิจที่ต้องทำตามพระวินัย มีระเบียบแบบแผน กฎเกณฑ์กติกาเรียกว่าสิกขาบท มากมายกำกับไว้ โดยมุ่งไม่ให้พระสงฆ์ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องชาวบ้าน

แต่ว่าในทางพระพุทธศาสนานั้น การสละเรื่องที่เกี่ยวกับบ้านเมืองนั้น ไม่เหมือนกับลัทธิฤๅษี ชีไพร พวกนั้นแยกตัวออกไปเลย เพราะต้องการหลีกหนีสังคมออกไปในป่าลึกๆ ให้พ้นหูตาชาวบ้าน กินเผือกกินมัน กินผลไม้หล่น (จากต้น) เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาชาวบ้าน แต่นานๆ เป็นปี เป็นเดือนจึงจะเข้าบ้านเสียที มาเพื่อะไร มาเพื่อหาเกลือ เพราะในป่าห่างไกลไม่มีเกลือที่จะฉัน จึงมาหาเอาไปฉัน ชีวิตอย่างนั้นเป็นชีวิตแบบลัทธิฤๅษีชีไพร

สำหรับพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าห้ามเลย ไม่ให้อยู่อย่างฤๅษีชีไพร เริ่มต้นอาศัยปัจจัย 4 แต่จะไปกินเผือก กินมัน กินผลไม้หล่น (จากต้น) เองไม่ได้ทั้งนั้น แต่ให้บิณฑบาตเพื่อหาอาหาร ทุกวันต้องอาศัยชาวบ้าน ก็เป็นเหตุให้พระสงฆ์ต้องพบชาวบ้านอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ทุกวัน

นี่คือความเปลี่ยนแปลง พระพุทธศาสนา จึงต่างจากลัทธิฤๅษีชีไพร

พระต่างจากฤๅษีชีไพร

คนสมัยใหม่ไม่รู้ นึกว่าพระพุทธศาสนาก็คล้ายๆ กับลัทธิฤๅษีชีไพร เป็นคนละทาง ไกลกันลิบลับ (พระสงฆ์) ต้องอยู่กันเป็นหมู่มิใช่เฉพาะความสัมพันธ์กับญาติโยม พระสงฆ์เองก็เป็นชุมชนที่เรียกว่า สังฆะ มีระบบ ระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกา เป็นระบบจัดตั้งที่มีจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน ที่พระพุทธเจ้าประกาศไปแล้ว แต่ว่าที่สำคัญ คือ วินัย อย่างน้อยทุก 15 วัน พระสงฆ์ต้องมาประชุมพร้อมกันครั้งหนึ่ง (เพื่อฟังสวดพระปาฏิโมกข์) ไม่ว่ารูปไหนจะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม มีกิจส่วนรวมก็ต้องมาทำด้วยกัน แต่ทุกรูปต้องรับผิดชอบส่วนตัวในการพัฒนาฝึกฝนพัฒนาชีวิตของตน คือ การศึกษา ที่เรียกว่า ไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา

เพราะฉะนั้นเรื่องของพระสงฆ์มีความสำคัญ ในปัจจุบันความสำคัญทางสังคมต้องมีตลอดเวลา ทั้งในชุมชนตนเองที่เรียกว่าสังฆะ และสังคมภายนอกของคฤหัสถ์ โดยหลักการคือต้องอาศัยปัจจัย 4 ที่ชาวบ้านให้ เพื่อการดำรงชีวิต

เมื่อชาวบ้านให้เราเรียกกันกลางๆ ว่า อามิสทาน (พระสงฆ์) อาศัยอามิสทานจากญาติโยม แล้วพระสงฆ์มีหน้าที่ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ต้องให้ธรรม เรียกว่า ธรรมทาน ต้องสั่งสอนแนะนำให้ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้ชาวบ้านมีชีวิตที่ดีงาม พัฒนาตนเองอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข อย่างที่เราเรียกกันว่าให้มีศีลธรรม

อันนี้เป็นความสำคัญที่เราต้องเข้าใจ รวมความ คือว่ามีความสัมพันธ์กับชาวโลก หรือคฤหัสถ์ โดยอาศัยอามิสทาน คือ ปัจจัย 4 วัตถุสิ่งของเพื่อดำรงชีวิต จากชาวบ้าน แต่พร้อมกันนั้นก็ต้องให้ความรู้ การศึกษา ให้สติปัญญา และการมีชีวิตอยู่ร่วมกันในทางสังคมอะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องที่พระสงฆ์ให้ธรรม

อย่างไรเรียกว่าโปรดสัตว์

แม้กระทั่งพระสงฆ์ออกบิณฑบาตตอนเช้า ที่พระพุทธเจ้าทรงทำไว้ เวลาบิณฑบาตตอนเช้าเรียกว่า โปรดสัตว์ เพราะพระพุทธเจ้ามิได้ไปบิณฑบาตเฉยๆ การบิณฑบาตนั้นเป็นเพียงส่วนพ่วง หรือผลพลอยได้ พระองค์ต้องเล็งญาณ ทรงพิจารณาก่อนแล้วว่า วันนี้จะไปไหน มีใครที่ควรไปพบ ควรไปแนะนำสั่งสอน จึงเสด็จออกไป เวลาไปบิณฑบาตคือเวลาไปเทศน์ สั่งสอน บางครั้งต้องการพบเด็กคนเดียว พระองค์เดินทางไปไกลลิบลับ หรือไปต่างเมือง เพื่อพบคนคนเดียว เพื่อจะแนะนำสั่งสอนให้เขาพ้นจากปัญหา หรือแก้ปัญหาให้เขา นี่คือที่เรียกว่า โปรดสัตว์ มิใช่อยู่ๆ ไปรับอาหารเขาแล้วเรียกว่า โปรดสัตว์

การที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศน์ไปโปรด คือ การไปช่วยเขา ให้เขามีชีวิตที่ดีงาม พระสูตรหลายพระสูตรเกิดจากการที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปพบผู้คนต่างๆ มากมาย ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ชั้นสูงชั้นต่ำแล้วเทศนาสั่งสอน ในตอนเช้า นี่คือชีวิตของพระสงฆ์ต้องให้ธรรม อันนี้เป็นหลักธรรมดา

ห้ามคลุกคลีกับคฤหัสถ์

แต่ในเรื่องความสัมพันธ์อย่างอื่นที่พระวินัยให้พระสงฆ์ไปเกี่ยวข้อง เอาที่เห็นชัดๆ ก่อน เช่นที่พระภิกษุไปดูเสนา หรือกระบวนทัพที่เขายกไปเพื่อจะรบกัน แค่ไปดูเท่านั้นก็เป็นความผิด หรือเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เว้นแต่มีเหตุ เช่น มีญาติพี่น้องเป็นทหารอยู่ในนั้นเจ็บป่วยต้องไปช่วยเขา ก็อนุญาตได้ไม่เกิน 3 คืน ระหว่าง 3 คืนนั้นจะไปดูเขาจัดกระบวนทัพ จะไปดูเขาตรวจพลอะไรไม่ได้ทั้งนั้น มีความผิด นี่คือตัวอย่างไม่ให้ไปยุ่งเรื่องชาวบ้านชาวเมือง

หรือลึกเข้าไปอีก ท่านมีหลักพระวินัยมาให้ พระสงฆ์ห้ามคลุกคลีกับคฤหัสถ์ การคลุกคลีกับคฤหัสถ์ เขาเฮก็เฮด้วย เขาฮาก็ฮาด้วย เขาโฮก็โฮด้วย เรียกว่า สนันที สโสกี เขามีเรื่องอะไรก็เอาตัวเข้าไปวุ่นวายกิจการเรื่องราวของเขานั้น อย่างนี้สังฆะอาจยกเรื่องพิจารณาแล้วนำเข้าสู่ที่ประชุมว่าภิกษุรูปนี้มีพฤติกรรมคลุกคลีกับคฤหัสถ์ไม่สมควร สามารถลงโทษได้หลายอย่าง เป็นกรรมทางวินัย เช่นลงโทษปัพพาชนียกรรม คือขับไล่จากวัด หรือ นิสยกรรม ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ถอดยศ หมายความว่าให้หมดสถานะ ไม่ให้ภิกษุรูปเล็ก รูปน้อยๆ เคารพอะไรต่างๆ นี้ เรียกว่า ลงโทษได้เยอะเลยในกรณีภิกษุคลุกคลีกับคฤหัสถ์

หรือง่ายๆ ไปประจบคฤหัสถ์ สังฆะก็ยกเรื่องขึ้นมาได้ ถ้าไม่ยอมละ จะถูกปรับอาบัติสถานหนัก คือ สังฆาทิเสส หรือในทางตรงข้ามไม่ประจบคฤหัสถ์ ไปด่าว่าคฤหัสถ์ที่เขาเป็นคนดีมีศรัทธา สังฆะก็ยกเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมเห็นว่าทำไม่ถูก ต้องลงมติ เรียกว่า ปฏิสารณียกรรม แปลว่า ให้ไปขอขมาคฤหัสถ์นั้น อย่างนี้เป็นต้น ให้มีความสัมพันธ์ที่ดี แต่ไม่ให้ไปยุ่ง

ถ้าพระประพฤติไม่ดีอย่างสมัยก่อน ที่มีภิกษุณีสงฆ์ประชุมกันลงมติว่า ภิกษุรูปนี้ไม่ต้องไหว้ ที่ประชุมลงมติดังนี้ ก็เป็นอันว่าภิกษุณีไม่ต้องไหว้ภิกษุรูปนั้น

ชีวิตของสังฆะ หรือพระสงฆ์ มีหน้าที่ต่อญาติโยม ในการที่จะให้ธรรมสั่งสอนแนะนำ ที่ว่าเขาเฮก็เฮด้วย เขาฮาก็ฮาด้วย เขาโฮก็โฮด้วยนี้ แทนที่จะทำอย่างนั้น ก็ให้ทำดังที่กล่าวว่า ท่านทั้งหลายจะมัวสนุกสนาน ร่าเริงบันเทิงไปมัวเมา สนุกสนานไม่เอาการเอางาน หรือว่ามัวแต่ร้องไห้เศร้าโศก ตกอยู่ในความประมาทไม่ได้ ควรตั้งสติมาพิจารณาว่า พวกเรามีปัญหาอะไร ใช้ปัญญาช่วยแก้ปัญหานั้น ทำชุมชนเราให้ดี มีอะไรที่จะต้องทำ เช่น การงานที่ต้องขยันหมั่นเพียร ประกอบอาชีพให้ดี นี่คือให้ธรรม หน้าที่ของพระคืออย่างนี้ มิใช่ยุ่งเกี่ยวกับญาติโยมตามที่กล่าวข้างต้น

ในแง่นี้ดูเหมือนว่าแยกสงฆ์จากคฤหัสถ์ แต่เป็นการแยกที่มุ่งเพื่อความดีงาม พระสงฆ์ก็จะได้ความสุข และพัฒนาตน และพร้อมกันนั้นก็นำเอาธรรมไปช่วยเหลือไปสั่งสอนแนะนำญาติโยม

นี้เป็นหลักการที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้แต่ครั้งพุทธกาล ท่านวางเป็นวินัยไว้ พระสงฆ์ก็ปฏิบัติอย่างนี้ตลอดมา ท่านจึงระวังในเรื่องความสัมพันธ์กับบ้านเมือง ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ไปยุ่มย่ามกัน

มหาช่วย พัทลุง

เมื่อนึกถึงเหตุการณ์บ้านเมืองบางทีก็ต้องเห็นใจ ขอยกตัวอย่างที่ จ.พัทลุง มีกรณีหนึ่ง หลายท่านอาจเคยได้ยินในสมัยกรุงธน เริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดินพระเจ้าตากสิน และรัชกาลที่ 1 ทั้งสองรัชกาลเพิ่งจะผ่านจากยุคเก่าๆ อยุธยาถูกพม่าเผาหมดสิ้น ไทยต้องตั้งเมืองกันใหม่ แต่พม่าก็ไม่ลดละ ยกทัพมาตีไทยให้ตั้งตัวไม่ติด แต่เราตั้งบ้านเมืองใหม่ก็ไม่มีกำลัง พม่าตีแล้วตีอีก แต่ทางไทยก็สามารถต้านทานตีทัพพม่าแตกกลับไป บางทียกมาเก้าทัพกะว่าเมืองไทยมีกำลังนิดเดียวเพราะกำลังตั้งใหม่ๆ จะเอากำลังที่ไหนมารบทั้งเก้าทัพ ที่มาเก้าทางทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ นี้เป็นตัวอย่าง ครั้งหนึ่งพม่ายกทัพเข้ามาทางใต้ ทางพัทลุง ที่ จ.พัทลุง มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อพระมหาช่วย ท่านเป็นที่เคารพนับถือคือสอนธรรมนั่นแหละ ตามหน้าที่ของพระ ตอนนี้บ้านเมืองเดือดร้อน ทัพพม่าเข้ามาแล้ว ท่านก็ห่วงประชาชน เออแล้วทำอย่างไงนี้ ชาวบ้านประชาชนจะเดือดร้อนถูกพม่าฆ่าฟันทิ้ง ท่านเป็นผู้ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ ท่านก็เลยตั้งตัวเป็นผู้นำทัพเลย รวมกำลังชาวบ้าน ซึ่งศรัทธาอยู่แล้วจึงช่วยกัน รวมกำลังตั้งเป็นกองทัพชาวบ้าน หรือกองทัพประชาชน

พระมหาช่วยก็เท่ากับเป็นแม่ทัพ ยกทัพประชาชนไปยันพม่าไว้สู้เขาได้แต่คงสู้ไม่ไหว แต่ไปถ่วงเวลาไว้ ฝ่ายเมืองหลวงทราบเรื่องก็ส่งกำลังทัพลงไป ก็ไปตีพม่าแตกกลับไป เป็นอันว่าท่านมหาช่วย อย่างน้อยก็ช่วยเมืองพัทลุงไว้

พอเรื่องเสร็จไปแล้ว ท่านมหาช่วยก็มาคิดว่า การที่เราไปเป็นผู้นำทัพไปรบทัพจับศึกนี้ ไม่ถูกต้องกับพระวินัยของพระ ถ้าอยู่เป็นพระต่อไปจะทำให้พระศาสนามัวหมอง เพราะฉะนั้นขอลาสิกขา

นี้ประวัติพระมหาช่วย สมชื่อว่าช่วย คือ ช่วยทั้งรักษาบ้านเมือง คือ ช่วยรักษาพัทลุงไว้ และช่วยรักษาพระศาสนา คือ ลาสิกขา ไม่ยอมทำให้พระศาสนามัวหมอง เพราะวินัยนั้นไม่ให้พระสงฆ์เข้าไปยุ่ง

พระมหาช่วยนั้นเป็นบุคคลที่น่าสรรเสริญ ควรยกไว้เป็นตัวอย่างในประวัติศาสตร์ของเรา เมื่อท่านลาสิกขาไปแล้ว ทางเมืองหลวงกรุงเทพทราบเรื่อง เห็นคุณความดีของมหาช่วย ก็เลยตั้งให้เป็นพระยา เจ้าเมืองพัทลุง ชื่อพระยาทุกขราช แต่อาตมาว่าน่าจะเขียนบันทึกผิด น่าจะเป็นพระยาช่วยทุกขราช

ประเพณีเมืองไทยระวังกันมาก ระหว่าง ความสัมพันธ์พระสงฆ์กับญาติโยม พระสงฆ์กับบ้านเมือง จะไม่ไปยุ่งกัน อาจมีกรณีแปลกปลอมบ้างในประวัติศาสตร์ไทย 2-3 ราย แต่ก็ถูกซัดออกไป ธรรมวินัยเหมือนน้ำทะเล จะซัดศพออกไปไว้ชายฝั่ง หลักธรรมวินัยนั้นจะช่วยซัดคนทำไม่ถูกต้องออกไป นี่คือประเพณีพระพุทธศาสนาของเรา ซึ่งเราควรศึกษาไว้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับชาวบ้านทั่วไป โดยเฉพาะบ้านเมือง (จบตอนที่ 1) n