'โครงการดอยตุง' ชุบชีวิตชาวเขา
ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์ แม้บรรดาชาวเขาที่หลบหนีความขัดแย้งในประเทศบ้านเกิดมาอาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย ต้องเผชิญความยากลำบากนานัปการ ทว่าคนกลุ่มนี้กลับยังมีช่องทางทำกินผ่านการผลิตสินค้าพื้นเมือง ซึ่งสินค้าแฮนด์เมดเหล่านี้ไม่ได้วางขายแค่ในไทยเท่านั้น แต่ยังส่งออกไปทั่วโลกด้วยเช่นกัน
ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์
แม้บรรดาชาวเขาที่หลบหนีความขัดแย้งในประเทศบ้านเกิดมาอาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย ต้องเผชิญความยากลำบากนานัปการ ทว่าคนกลุ่มนี้กลับยังมีช่องทางทำกินผ่านการผลิตสินค้าพื้นเมือง ซึ่งสินค้าแฮนด์เมดเหล่านี้ไม่ได้วางขายแค่ในไทยเท่านั้น แต่ยังส่งออกไปทั่วโลกด้วยเช่นกัน
สถานการณ์ดังกล่าวคงจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจาก "โครงการพัฒนาดอยตุง" ซึ่งก่อตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า เมื่อปี 1988 โดยโครงการนี้ถือเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อสังคมที่เก่าแก่ที่สุดในสังคมไทย เพื่อช่วยเหลือชาวเขาพลัดถิ่นหรือไร้ที่อยู่โดยเฉพาะ
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า กระดาษเปลือกไม้ ซึ่งเป็นสินค้าทำมือของ คำ คำปูน วัย 60 ปี และผ้าทอพื้นเมืองของ นิตยา โสภณประกอบกิจ วัย 32 ปี สองชาวเขาที่ทำงานในโครงการพัฒนาดอยตุง วางจำหน่ายไปยังร้านอิเกียทั่ว 6 ประเทศยุโรปในขณะนี้ โดยสินค้าดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลกชั่นล่าสุดครั้งที่ 6 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างทางโครงการกับอิเกีย ซึ่งมีสินค้าจำหน่ายกว่า 2 แสนรายการ สร้างสรรค์ขึ้นโดยศิลปินประมาณ 300 ราย ครอบคลุมทั้งสิ่งทอ เครื่องปั้นดินเผา และกระดาษทำมือ
นิตยา เปิดเผยว่า ชีวิตก่อนหน้านี้ค่อนข้างยากลำบาก เพราะต้องอพยพย้ายที่อยู่หลายครั้ง และหาเลี้ยงชีพจากการทำเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว แต่เมื่ออพยพมาไทยและเข้าโครงการเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา นิตยาได้เรียนรู้วิธีทอผ้า รวมถึงสามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ด้วย ด้าน คำ เล่าว่า หนีสถานการณ์รุนแรงและความยากจนในรัฐฉานของเมียนมามายังไทย และโครงการดอยตุงทำให้คำมีอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวมาแล้วถึง 14 ปี
ด้าน คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา อดีตผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาดอยตุง เปิดเผยกับรอยเตอร์ส ว่า การเป็นพันธมิตรกับอิเกีย ช่วยให้โครงการดอยตุงมีกลยุทธ์การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แม้ความร่วมมือระหว่างโครงการดอยตุงและอิเกีย นับว่าเป็นความร่วมมือเฉพาะ แต่ถือเป็นการเปิดทางให้ธุรกิจต่างๆ ในไทยหันมาเพิ่มโครงการพัฒนาสังคมมากยิ่งขึ้่น เช่น ร้านกาแฟ อาข่า อาม่า ใน จ.เชียงใหม่ ที่ช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรท้องถิ่น
นอกจากนี้ โครงการเพื่อสังคมยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน จากการก่อตั้งสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (ทีเอสอีโอ) ในปี 2010 n