posttoday

ความเสี่ยงที่แท้ของ AI

11 ตุลาคม 2560

ดร.อภิวดี ปิยธรรมรงค์ในขณะที่กรุงเทพมหานครเจอน้ำท่วมเข้าระลอกเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และผู้คนสาละวนกับการเดินทางที่ยากลำบาก ผู้เขียนนึกถึงทั้งความกลัวและความตื่นตาตื่นใจที่ผู้คนมีต่อ AI (Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์) ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ไพล่คิดต่อไปว่าจะมีใครบ้างหนอที่จะคิดถึงการใช้งาน AI ในช่วงเวลายากลำบากแบบนี้ คิดอย่างไรบ้าง หรือลงมือทำอะไรกันบ้าง

ดร.อภิวดี ปิยธรรมรงค์

ในขณะที่กรุงเทพมหานครเจอน้ำท่วมเข้าระลอกเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และผู้คนสาละวนกับการเดินทางที่ยากลำบาก ผู้เขียนนึกถึงทั้งความกลัวและความตื่นตาตื่นใจที่ผู้คนมีต่อ AI (Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์) ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ไพล่คิดต่อไปว่าจะมีใครบ้างหนอที่จะคิดถึงการใช้งาน AI ในช่วงเวลายากลำบากแบบนี้ คิดอย่างไรบ้าง หรือลงมือทำอะไรกันบ้าง

AI ถือได้ว่าเป็น Buzzword อีกหนึ่งคำของยุคนี้ เป็นคำที่หลายคนคิดว่ารู้จัก เข้าใจ แต่ไม่มีใครสามารถให้คำนิยามได้ ในความหมายตาม Wikipedia บอกไว้ว่า AI เป็น Intelligent behavior by machine หรือความฉลาดเทียมที่สร้างขึ้นให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต ขณะที่เราอาจจะคุ้นเคยกับภาพลักษณ์ของ Humanoid น้อยแสนน่ารัก David ที่มีทั้งอารมณ์และความฉลาดคล้ายมนุษย์จนเราแทบแยกไม่ออกว่าเด็กคนนี้ไม่ใช่มนุษย์ จากภาพยนตร์เรื่อง AI Artificial Intelligence จนทำให้หลายๆ คนคาดหวังว่าสักวันหนึ่งเราจะมีเพื่อน มีแม่บ้านที่เป็น Humanoid สามารถเข้าใจมนุษย์ เป็น อยู่ คือ เหมือนมนุษย์ ฉลาดอย่างมนุษย์ และนั่นอาจทำให้เรารู้สึกหวาดหวั่นว่าพื้นที่เดิมของพวกเราจะถูกแย่งชิงไปโดยเครื่องจักรที่อาจฉลาดเหนือเราได้ในอนาคต

แต่การเป็น อยู่ คือ อย่างมนุษย์นั้นดีจริงหรือ? เราฉลาดจนเราอยากให้เครื่องจักร "คิด" แบบเราจริงหรือ? และหากเครื่องจักรถูกสอนให้คิดเหมือนเรา เครื่องจักรจะสามารถพัฒนาตัวเองให้ฉลาดกว่าเรา มีความถูกต้องเป็นเหตุเป็นผล และมีความสม่ำเสมอจริงหรือไม่?

แม้ว่าวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมในการพัฒนา Humanoid และหุ่นยนต์ (Robot) จะก้าวหน้ามาตามลำดับ หากเราย้อนกลับไปดูข้อมูลกันอย่างจริงจัง จะพบว่าการศึกษา วิจัย และใช้งาน Neural Networks, Machine Learning ร่วมกับ Physics และ Mathematics ในการคิดคำนวณของเครื่องจักรเพื่อสร้างโมเดลอัจฉริยะที่จะสามารถให้คำตอบที่ถูกต้องหรือดีกว่า เพียงเราโยนข้อมูลชุดใหม่ๆ เข้าไปในโมเดลที่ถูกสร้างขึ้นแล้วนี้ ยังมีเปอร์เซ็นต์ความถูกต้องของผลลัพธ์ที่ขึ้นกับหลายปัจจัย เรียกได้ว่าเรายังต้องเลือกที่จะตัดเย็บขอบเขตความสมบูรณ์แบบด้วยการกำหนดข้อจำกัดต่างๆ ที่อาจลดทอนสภาพแวดล้อมจริงอย่างมาก ก่อนที่จะลงมือทดลองวัดผลความสำเร็จของโมเดล พูดง่ายๆ ว่าความถูกต้องของผลลัพธ์มีเงื่อนไขเสมอ โดยยังไม่ต้องพูดถึงตัวเลขเปอร์เซ็นต์ความถูกต้องของผลลัพธ์ เราก็พอเห็นแล้วว่าวิทยาการด้านนี้ยังต้องการการสนับสนุนเพื่อพัฒนาให้สามารถทำงานได้อย่างไร้ข้อจำกัด หรือมีขอบเขตเงื่อนไขที่น้อยที่สุด

แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ยังคงหาทางพัฒนางานวิจัยของตนให้มีประสิทธิภาพและความถูกต้องที่น่าเชื่อถือมากกว่าปัจจุบันอย่างใจจดใจจ่อ และยังไม่พอใจในผลงานของตัวเองเท่าไรนัก ความรับรู้ของสังคมส่วนหนึ่งกลับรู้สึกหวาดหวั่นไปกับเทคโนโลยีนี้ และบางส่วนก็กล่าวอ้างถึงความล้ำหน้าด้วยการใช้เทคโนโลยีนี้แล้วเช่นกัน ดังนั้นความเสี่ยงที่แท้จริงของ AI อาจไม่ใช่เรื่องของเครื่องจักรที่จะฉลาดกว่ามนุษย์ และมาแทนที่มนุษย์ แต่เป็นที่ความเข้าใจในเทคโนโลยี การตั้งคำถามที่มีขอบเขตชัดเจนมากเพียงพอ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่มนุษย์ทำไม่ได้ ไม่ต้องการทำ หรือทำได้ไม่ดี ให้มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือในระดับที่สูงและยอมรับได้

ใครจะอยากใช้รถยนต์ไร้คนขับที่มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุหนึ่งครั้งจากร้อยครั้งของการใช้งาน...จริงไหม? n