posttoday

One Belt One Road เส้นทางใหม่เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

18 ตุลาคม 2560

ปิยะณัฐ อรัญเกษมสุข ผู้อ่านบางท่านคงเคยได้ยินข่าวต่างประเทศเรื่อง One Belt One Road หรือ "หนึ่งเข็มขัดหนึ่งเส้นทาง" ที่เป็นนโยบายของประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน จริงๆ แล้วความหมายของนโยบายนี้ลึกซึ้งมาก คำว่า "หนึ่งเข็มขัด" หมายถึงความตั้งใจที่จะร้อยและเชื่อมต่อประเทศต่างๆ เข้าด้วยกันเสมือนเข็มขัดเส้นหนึ่งที่ร้อยเข้ากับหูกางเกงจนสามารถวนได้รอบ คำว่า "หนึ่งเส้นทาง" นั้นหมายถึงความตั้งใจที่จะสร้างเส้นทางหรือโครงสร้างที่สามารถเชื่อมประเทศต่างๆ เข้าด้วยกันแบบเป็นรูปธรรม

ปิยะณัฐ อรัญเกษมสุข

ผู้อ่านบางท่านคงเคยได้ยินข่าวต่างประเทศเรื่อง One Belt One Road หรือ "หนึ่งเข็มขัดหนึ่งเส้นทาง" ที่เป็นนโยบายของประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน จริงๆ แล้วความหมายของนโยบายนี้ลึกซึ้งมาก คำว่า "หนึ่งเข็มขัด" หมายถึงความตั้งใจที่จะร้อยและเชื่อมต่อประเทศต่างๆ เข้าด้วยกันเสมือนเข็มขัดเส้นหนึ่งที่ร้อยเข้ากับหูกางเกงจนสามารถวนได้รอบ คำว่า "หนึ่งเส้นทาง" นั้นหมายถึงความตั้งใจที่จะสร้างเส้นทางหรือโครงสร้างที่สามารถเชื่อมประเทศต่างๆ เข้าด้วยกันแบบเป็นรูปธรรม

ถ้าเราย้อนกลับไปดูเมื่อ 2,000 ปีที่แล้วสมัยราชวงศ์ฮั่น ประเทศจีนคือ ผู้ที่สร้างเส้นทางเพื่อเชื่อมต่อเอเชียกลางและกลุ่มประเทศอาหรับ และได้ใช้เส้นทางดังกล่าวเพื่อส่งออกผ้าไหม ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของจีนในขณะนั้น ทำให้เส้นทางนี้ได้ชื่อว่า "เส้นทางสายไหม" ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศจีนและภูมิภาคโดยรอบมานับร้อยๆ ปี

ในปี 2013 ประธานาธิบดีจีนได้เสนอการสร้างและพัฒนาเส้นทางสายไหมเส้นใหม่ที่ใช้เชื่อมต่อประเทศต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งทางถนน รถไฟ ทะเล และรวมถึงท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสาธารณูปโภคอื่นๆ นโยบายนี้ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาจีนเมื่อปี 2015 โดยแบ่งเส้นทางเป็น 2 สายหลัก คือ "Silk Road Economic Belt" หรือเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมทางบกที่เชื่อมต่อประเทศจีนและยุโรปผ่านตะวันออกกลาง และ "Maritime Silk Road" เส้นทางเศรษฐกิจสายไหมทางน้ำที่เชื่อมต่อยุโรปและแอฟริกาผ่านประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และศรีลังกา สาเหตุที่ประเทศจีนอยากสร้างเส้นทางสายไหมเส้นใหม่นี้ยังเป็นที่ถกกัน แต่ในมุมของผู้เขียนมองว่าประเทศจีนเองต้องการยกระดับสินค้าส่งออกของประเทศจากสินค้าธรรมดาที่ไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรมากมาย เป็นสินค้า ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในโครงข่ายเส้นทางสายไหมใหม่นี้จะยินดีที่จะรับสินค้าไฮเทคของจีนมากกว่าประเทศอื่นๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง อุปกรณ์สื่อสาร และสินค้าไฮเทคอื่นๆ

อีกสาเหตุหนึ่งอาจจะมาจากการ ที่จีนเองต้องการผลักดันเงินหยวนของตนให้เป็นเงินสกุลหลักสำหรับโลก การค้า เพราะจีนเองมีความคิดริเริ่มที่จะลดการพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐของอเมริกานานแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำได้เป็นรูปธรรมชัดเจน การสร้าง เส้นทางสายไหมใหม่นี้จะทำให้ธุรกรรมการค้าขายกว่าครึ่งซีกโลกทำผ่านเงินสกุลหยวน และสร้างโอกาสให้เงินหยวนเป็นหนึ่งในเงินสกุลหลักของโลกที่ใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในอนาคต ซึ่งสุดท้ายจะสร้างโอกาสทางการค้า ให้จีนอย่างมหาศาลและลดความสำคัญของเงินสกุลดอลลาร์ลงไปในที่สุด และทำให้เศรษฐกิจโลกสมดุลโดยมีการ คานอำนาจจากฝั่งจีนและฝั่งอเมริกาเป็นหลัก

สำหรับประเทศที่อยู่ในบริเวณเส้นทางสายไหมเส้นใหม่นี้ย่อมได้ประโยชน์ไปเต็มๆ และให้การสนับสนุนจีนในการสร้างโครงการยักษ์ใหญ่นี้แทบทุกประเทศ โดยที่ทางประเทศจีนได้จัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหม หรือ "Silk Road Fund" ขึ้นมาเพื่อสร้างโอกาสให้บริษัทจีนเข้าไปช่วยสร้างถนนและระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ ตลอด เส้นทางใหม่ที่จะเกิดขึ้น และสิ่งเหล่านี้ จะสามารถช่วยพัฒนาประเทศที่ยังต้องการระบบขนส่งหรือระบบสาธารณูปโภคเพื่อขจัดความยากจนของผู้คนในประเทศเหล่านั้น โดยผู้นำจีนยังได้กล่าวไว้อีกว่าประเทศที่เกี่ยวข้องย่อมประสบความเจริญรุ่งเรืองไปตามๆ กัน และคาดว่า หลังจากโครงการนี้เสร็จสิ้นจะมีประมาณการค้าระหว่างประเทศจีนและประเทศที่อยู่ในบริเวณเส้นทางสายไหมเส้นใหม่ถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงระยะเวลา 10 ปี

สำหรับประเทศไทยนั้นอยู่ในเขตเส้นทางสายไหมเส้นใหม่นี้พอดี และถึงแม้ว่าเราจะได้รับเชิญให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ แต่ไม่มีการสร้างเส้นทางดังกล่าวผ่านประเทศไทยเลยทั้งทางบกและทางน้ำ โดยเส้นทางที่ใกล้เคียงประเทศไทยที่สุดคือเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมทางน้ำที่เชื่อมต่อประเทศเวียดนามและประเทศมาเลเซีย ถึงอย่างไรก็ตามประเทศไทยยังถือว่าเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอาเซียนและเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงที่จะใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกและยังได้ประโยชน์จาก "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" เพราะทำให้การค้าของไทยกับกลุ่มประเทศในอาเซียนนั้นไร้ภาษี นำเข้า และประเทศไทยเองสามารถใช้จุดนี้เพื่อส่งออกผ่านประเทศอาเซียน ไปยังเส้นทางสายไหมเส้นใหม่ได้

เห็นได้ว่าประเทศไทยเองยังสามารถมีส่วนร่วมกับโครงการดังกล่าวของจีนได้ ถึงอย่างไรก็ตามภาครัฐเองควรเริ่มสื่อสารกับผู้ประกอบการได้แล้วว่าจะมีการเกี่ยวก้อยเข้าไปยังโครงการนี้อย่างไรในระดับรัฐบาล และจะมีโครงการอะไรออกมาบ้างเพื่อต่อเชื่อมกับเส้นทางสายไหมเส้นใหม่นี้ ส่วน ผู้ประกอบการไทยควรต้องรีบพัฒนา ตัวเองให้สามารถแข่งขันได้เมื่อมีการเปิดใช้เส้นทางสายไหมเส้นใหม่แล้ว เพราะเป็นตลาดของคนกว่าครึ่งโลก และควรใช้ประโยชน์จาก "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ให้มากที่สุด เพราะเมื่อวางแผนกันดีๆ แล้ว ประเทศไทยเองสามารถใช้ความสามารถของตนผสมผสานกับทรัพยากรจากประเทศเพื่อนบ้านในการสร้างสินค้าที่ไม่มีใครสามารถทำได้ดีเท่า เหมือนสุภาษิตว่าไว้ "รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง" n