สรุปเส้นทางความสำเร็จ Alibaba ครองตลาดอี-คอมเมิร์ซ (จบ)

25 ตุลาคม 2560

Think Different-คิดให้ต่าง

Think Different-คิดให้ต่าง

เมื่อครั้งที่ได้ไปฟังสัมมนา และได้เห็นความสำเร็จของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในอเมริกา Jack Ma จึงมีความคิดที่จะสร้างธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศจีน แต่ต้องปรับรูปแบบให้เข้ากับโครงสร้างธุรกิจในจีน เนื่องจากอี-คอมเมิร์ซในอเมริกาเป็นการทำธุรกิจสำหรับบริษัทใหญ่ๆ ในขณะที่โครงสร้างธุรกิจในประเทศจีนส่วนมากจะเป็นผู้ผลิตรายเล็กๆ เท่านั้น หรืออาจเรียกได้ว่าระดับรากหญ้าด้วยซ้ำ ด้วยแนวคิดนี้เอง Alibaba จึงเน้นทุกวิถีทางที่จะสนับสนุน "รากหญ้า" ขึ้นเป็น "ผู้ประกอบการ" ให้ได้ เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจในจีน

อีกหนึ่งตัวอย่างความคิดต่างที่น่าสนใจ คือ โมเดลธุรกิจ ในขณะที่อี-คอมเมิร์ซอย่าง eBay วางตัวเองเป็นพ่อค้าคนกลาง และสร้างรายได้จากการเก็บค่าสมาชิกและค่าคอมมิชชั่น แต่ Alibaba กลับตั้ง Taobao ให้เป็น Free Market ที่ผู้ซื้อ ผู้ขายติดต่อกันได้โดยตรง ไม่มีการเก็บค่าสมาชิกหรือค่าลงสินค้า เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเป็นผู้ประกอบการได้

นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์สนับสนุนการขายอย่าง Instant Messaging ซึ่งโมเดลธุรกิจที่เหมือนจะไม่สร้างรายได้แบบนี้ ช่างท้าทายความเชื่อเดิมๆ ในการทำธุรกิจแบบตะวันตกอย่างมาก โดยรายได้ของ Taobao มาจากการให้บริการด้านการทำการตลาด เช่น การทำโฆษณา Keyword Bidding และการสนับสนุนด้านเทคนิคต่างๆ เช่น ให้บริการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าจาก Big Data

o Ecosystem - สร้างระบบนิเวศ

จาก Mission ของบริษัทที่ว่า "To make it easy to do business anywhere" สะท้อนสู่การสร้างระบบนิเวศของ Alibaba นับตั้งแต่การสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจออนไลน์สำหรับลูกค้าชาวจีนอย่าง Taobao, Tmall สำหรับการซื้อขายสินค้าแบรนด์เนม การซื้อขายแบบค้าส่งบน 1688.com ร้านค้าขายปลีก AliExpress สำหรับลูกค้าต่างชาติ ไปจนถึงธุรกิจ B2B บน Alibaba.com

Alibaba ยังสร้างระบบสำหรับการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลบน Alibaba Cloud เพื่อศึกษาพฤติกรรมลูกค้า และใช้ในการสร้างตรรกะในการแนะนำสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ในส่วนของระบบปฏิบัติการของ Alibaba ใช้เทคโนโลยีเพื่อเติมในส่วนที่ขาด เช่น เพื่อแก้ปัญหาความน่าเชื่อถือด้านการชำระเงินจึงสร้างระบบ Alipay ขึ้นเพื่อเป็นผู้รับประกันการทำธุรกรรม ในด้านระบบขนส่ง ก็ได้ร่วมมือกับ China Smart Logistic (Cainiao) เพื่อสร้างระบบที่ครอบคลุมการจัดส่งทั่วประเทศ

Alibaba ยังสนับสนุนตัวผู้ประกอบการ ด้วยการจัดตั้ง Taobao University (Tao-U) จัดอบรมการทำธุรกิจให้ตั้งแต่พื้นฐานการใช้งานระบบ ไปจนถึงการพาไปเยี่ยมชมธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในอี-คอมเมิร์ซ ให้บริการการทำการตลาดด้วย Alimama หรือแม้แต่การออกเงินให้กู้ ผ่าน Ali Finance เพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจรายย่อย

ด้วยการเตรียมรับมือกับอนาคต การวางระบบและการให้บริการครบวงจรขนาดนี้ ผมไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม Alibaba จึงกล้าประกาศเป้าหมายว่าบริษัทจะคงอยู่ได้มากกว่า 102 ปี ผมหวังจะเห็นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในไทยมีความมุ่งมั่น และเป้าหมายที่ยั่งยืนแบบนี้ ซึ่งไพรซ์ซ่าเองก็ปรารถนาที่จะช่วยส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันระบบนิเวศอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยให้มีความเป็นธรรมและโปร่งใส เพื่อให้ อี-คอมเมิร์ซเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจระดับประเทศในอนาคตครับ n

Thailand Web Stat