WTOไร้พลัง โลกหันจับกลุ่มกันเอง
นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์ ในที่สุดการประชุมการค้านัดล่าสุดขององค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) เมื่อวันที่ 10-13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในอาร์เจนตินา ก็จบลงโดยที่ประเทศสมาชิก 164 ชาติไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ ได้เลย เนื่องจากความไม่ลงรอยกันระหว่างหลายประเทศ ตั้งแต่ประเด็นเรื่องอี-คอมเมิร์ซไปจนถึงการทำประมงผิดกฎหมาย
นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์
ในที่สุดการประชุมการค้านัดล่าสุดขององค์การการค้าโลก (ดับเบิ้ลยูทีโอ) เมื่อวันที่ 10-13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในอาร์เจนตินา ก็จบลงโดยที่ประเทศสมาชิก 164 ชาติไม่สามารถบรรลุข้อตกลงใดๆ ได้เลย เนื่องจากความไม่ลงรอยกันระหว่างหลายประเทศ ตั้งแต่ประเด็นเรื่องอี-คอมเมิร์ซไปจนถึงการทำประมงผิดกฎหมาย
ความชะงักงันดังกล่าวทำให้ดับเบิ้ลยูทีโอล้มเหลวอย่างต่อเนื่องในการผลักดันการทำความตกลงแบบพหุภาคี (Multilateral agreement) ซึ่งต้องได้รับเสียงเห็นพ้องจากทุกประเทศสมาชิก ขณะที่ในการประชุมครั้งนี้กลับมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำความตกลงแบบหลายฝ่าย (Plurilateral agreement) ที่เปิดทางให้สมาชิกบางกลุ่มสามารถแยกไปตกลงความร่วมมือกันเองในบางประเด็น โดยไม่จำเป็นว่าสมาชิกทั้งหมดต้องเข้าร่วมในความตกลงดังกล่าว
สำหรับความตกลงหลายฝ่ายที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดในการประชุมครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นการจับมือกันของสหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น และสหรัฐ ซึ่งเป็น 3 ยักษ์เศรษฐกิจโลก เพื่อกำจัดสภาพการแข่งขันในตลาดที่ไม่เป็นธรรม จากการที่รัฐบาลให้เงินอุดหนุนธุรกิจและพยุงรัฐวิสาหกิจ จนส่งผลให้เกิดกำลังผลิตส่วนเกินขึ้นในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการบีบให้เอกชนถ่ายโอนเทคโนโลยีให้
แม้แถลงการณ์ร่วมไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ทั่วโลกต่างรับรู้กันว่าหมายถึงจีน ซึ่งถูกโจมตีเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอด และการร่วมมือกันของ 3 ฝ่ายถือเป็นจุดเปลี่ยนในการจัดการกับจีน แทนที่แต่ละประเทศจะออกมาตรการของตัวเองออกมา หรือหวังพึ่งกลไกการไกล่เกลี่ยประเด็นพิพาทของดับเบิ้ลยูทีโอ
ก่อนหน้านี้ อียูและสหรัฐต่างผลักดันให้ดับเบิ้ลยูทีโอยังคงไม่ให้สถานะจีนเป็นประเทศเศรษฐกิจแบบตลาด ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ราคาสินค้าปรับตัวตามกลไกตลาดและปริมาณการผลิต หลังจีนเข้าร่วมดับเบิ้ลยูทีโอมาเป็นเวลา 15 ปี โดยเศรษฐกิจที่ไม่ใช่ระบบตลาด ทำให้สหรัฐและอียูยังสามารถตอบโต้จีนทางการค้าได้ เช่น การเรียกเก็บภาษีและใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดได้อย่างรวดเร็วกับสินค้าจีน โดยไม่ขัดกับกฎของดับเบิ้ลยูทีโอ
ขณะที่เมื่อไม่นานนี้ สหรัฐเปิดฉากจัดการกับจีนทางการค้ามาแล้วหลายระลอกในปี 2017 ไม่ว่าจะเป็นการตั้งภาษีตอบโต้การอุดหนุนกับสินค้าอะลูมิเนียมฟอยล์จากจีนที่ระดับ 16.56-80.97% เมื่อเดือน ส.ค. เนื่องจากพบว่ารัฐบาลจีนให้เงินอุดหนุนสินค้าดังกล่าว ตามด้วยการตั้งภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกับสินค้าประเภทนี้อีกครั้งที่ 96.81-162.24% เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากสหรัฐพบว่า เหล็กจีนที่ราคาถูกมากและทะลักเข้ามาในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตสหรัฐไม่สามารถแข่งขันได้ โดยเมื่อปี 2016 จีนส่งออกอะลูมิเนียมฟอยล์มายังสหรัฐเป็นมูลค่า 389 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.2 หมื่นล้านบาท)
ส่วนอียูมีมติตั้งกำแพงภาษีการนำเข้าสินค้าประเภทเหล็กกล้าไร้สนิมจากผู้ค้าในจีนที่ 17.2-28.5% เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเผชิญสถานการณ์เดียวกับสหรัฐ และยังประกาศเพิ่มการตรวจสอบจีนเป็นพิเศษเพื่อสกัดสินค้าราคาถูกจากจีนทะลักเข้าสู่ตลาดอียู
ด้านญี่ปุ่นนั้น แม้จะไม่ได้ดำเนินมาตรการที่ชัดเจนเท่าสหรัฐและอียู แต่ให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกับทั้งสองฝ่ายจัดการกับนโยบายการค้าที่บิดเบือนตลาดของจีน หลังเพิ่งบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับอียูไปเมื่อไม่นานนี้
นอกจากความร่วมมือของ 3 เศรษฐกิจใหญ่แล้ว ความก้าวหน้าเรื่องการวางข้อตกลงด้านอี-คอมเมิร์ซก็มีความคืบหน้าเช่นกัน โดยสมาชิกดับเบิ้ลยูทีโอ 70 ประเทศ ที่รวมถึงสหรัฐ อียู ญี่ปุ่น ต่างเห็นพ้องเจรจา กฎเกณฑ์ด้านอี-คอมเมิร์ซ
ทั้งนี้ ความพยายามวางกฎเกณฑ์เรื่องอี-คอมเมิร์ซไมใช่เรื่องใหม่สำหรับดับเบิ้ลยูทีโอ โดยทางหน่วยงานมีการออกแผนปฏิบัติการด้านอี-คอมเมิร์ซโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1998 แต่ไม่สามารถผลักการสร้างกฎเกณฑ์ใดที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากไม่ได้รับเสียงเห็นพ้องจากหลายประเทศ เช่น อินเดีย
หนังสือพิมพ์เดอะ ฮินดู ของอินเดีย รายงานว่า อินเดียไม่เห็นด้วยกับการพยายามวางหลักเกณฑ์เรื่องอี-คอมเมิร์ซของดับเบิ้ลยูทีโอ เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมากต้องการให้มีการเก็บภาษีสินค้าและบริการอิเล็กทรอนิกส์ เปลี่ยนแปลงจากแผนปฏิบัติการเมื่อปี 1998 ที่ระบุไม่ให้มีการเก็บภาษีสินค้าดังกล่าว ซึ่งทางอินเดียมองว่าจะกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนา และอาจสกัดการขยายตัวของอี-คอมเมิร์ซในประเทศดังกล่าว
รายงานยังเสริมว่าสำหรับจีน ซึ่งเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ด้านอี-คอมเมิร์ซ แม้จะระบุว่าพร้อมเปิดกว้างในการเจรจาวางหลักเกณฑ์ประเด็นดังกล่าว แต่ย้ำกว่าการเจรจาควรมุ่งไปที่การส่งเสริมและเพิ่มความสะดวกในการทำการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนมากกว่า
แม้ในความพยายามเรื่องอี-คอมเมิร์ซรอบใหม่ยังคงไม่ได้รับเสียงเห็นพ้องจากหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่การผลักดันให้ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นความตกลงหลายฝ่าย แทนที่จะเป็นความตกลงแบบพหุภาคี ส่งผลให้ชาติสมาชิกดับเบิ้ลยูทีโอจะกลับมาถกประเด็นอี-คอมเมิร์ซอีกครั้งในไตรมาสแรกปี 2018 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การประชุมที่เมืองโดฮาปี 2001
ด้วยเหตุนี้ การผลักดันให้เกิดความตกลงหลายฝ่ายจึงอาจเป็นการผ่าทางตันในการเจรจาการค้าต่างๆ และอาจนำไปสู่การปรับปรุงกฎเกณฑ์เก่าๆ ให้เอื้อต่อประเทศสมาชิกมากยิ่งขึ้น แต่ข้อตกลงประเภทนี้ก็เป็นเพียงทางออกระยะสั้นเท่านั้น และยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นการจุดชนวนความไม่ลงรอยทางการค้าอื่นๆ ขึ้นมาอีกหรือไม่ในอนาคต n