posttoday

สภาอุตฯ แนะรัฐ ตั้ง วอร์รูม รับนโยบายทรัมป์ หวั่นกระทบ SME

19 ธันวาคม 2567

คาดดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม 3 เดือนหน้าปรับตัวลดลง นโยบายการค้าของสหรัฐฯกระทบภาคส่งออก แนะรัฐ ตั้ง วอร์รูม หนุน SME ส่งออก

KEY

POINTS

  • คาดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ3เดือนหน้าลดลง
  • แนะรัฐ ตั้ง วอร์รูม หนุน SME ส่งออก
  • สสว.ชี้ตลาดส่งออกสหรัฐฯ-จีน เติบโตสูง

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดการณ์ ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.7 ปรับตัวลดลงจาก 98.4 ในเดือนต.ค. 2567 โดยปัจจัยที่ผู้ประกอบยังคงห่วงกังวล คือ ความเสี่ยงเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และทำให้สินค้าจีนทะลักเข้าสู่ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะ SME นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ต่อวัน ความไม่แน่นอนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ในพื้นที่ต่างๆ อาจส่งผลให้ราคาพลังงานในตลาดโลกผันผวนและกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลก 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการแจกเงิน 10,000 บาทเฟส 2 มาตรการเงินช่วยเหลือเกษตกร มาตรการแก้หนี้ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วง High Season คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปี 2568 มาตรการตรึงราคาพลังงานของภาครัฐ ทั้งราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. –31 มี.ค.2568 รวมถึงปรับลดค่าไฟฟ้า 4.15 บาท ต่อหน่วย งวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2568 

ทั้งนี้ ส.อ.ท. แนะภาครัฐ จัดตั้ง War room เพื่อเตรียมแนวทางรับมือกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทย รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการขยายตลาดในสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังเสนอให้ภาครัฐใช้กลไกการปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน (PAY BY SKILL) เพื่อเพิ่มรายได้ควบคู่กับการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ,เสนอให้ภาครัฐส่งเสริมหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของลูกหนี้ดีขึ้น

รวมถึงเสนอให้ภาครัฐปรับปรุงกลยุทธ์ในการเจาะตลาดต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้กลไกทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศเพื่อขยายโอกาสทางการค้า รวมถึงปรับเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการส่งออก เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ตลอดจนกำหนดตัวชี้วัดของโครงการโดยเน้นประสิทธิภาพในการเจาะตลาด

SME ส่งออกสหรัฐฯ-จีน สูง

ด้านนางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รักษาการ ผอ.สสว. กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศ 10 เดือนแรก  SME ไทยสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 1.15 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 ของรายได้จากการส่งออกรวม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 18.6 โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้ ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูง 

ขณะที่การนำเข้าของ SME ไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 โดยเกือบร้อยละ 50 เป็นการนำเข้าสินค้าจากจีน โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางสำหรับใช้ในการผลิตทั้งเพื่อใช้ในประเทศและเพื่อส่งออก เนื่องจากสินค้าจีนมีราคาถูกกว่าและช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการไทยได้

นางสาวปณิตา กล่าวว่า ปัจจุบัน SME ไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจ SME มีจำนวนทั้งสิ้น 3.2 ล้านราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดย่อมที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงในอัตราร้อยละ 8.2 และ 5.4 ตามลำดับ 

ด้านการจ้างงาน SME ได้สร้างงานกว่า 12.93 ล้านตำแหน่ง คิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของการจ้างงานทั้งประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจในภาคการบริการและภาคการค้าที่ SME มีบทบาทอย่างมากทั้งในด้านจำนวนธุรกิจและการจ้างงาน

อย่างไรก็ตาม SME ได้สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยสะสมตั้งแต่ไตรมาส 1 - ไตรมาส 3 ปี 2567 มากกว่า 4.81 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35 ของ GDP ประเทศ ขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 โดยภาคการค้า การผลิต และการบริการ ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง 

การบริโภคจากนักท่องเที่ยวและการส่งออกที่เติบโตขึ้นช่วยเสริมแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจSMEเติบโตแม้จะมีปัจจัยเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติหลายครั้งที่กระทบภาคเกษตร