posttoday

สะสางนิสัยเสีย

18 ธันวาคม 2560

เรื่อง ราตรีแต่งบางคนกลัวสเตทเมนต์ที่ตัวเลขนิ่งหรือดิ่งลงทุกปี แต่ในช่วงปลายปีก็ควรมาชำระสะสางนิสัย (เสีย) เรื่องการใช้จ่ายเงินของตัวเองดูบ้าง เพื่อรู้ได้รู้ว่าเงินหายไปไหนก้อนใหญ่ที่สุด? แค่ย้อนหลังไปเพียง 2-3 เดือน ก็จะรู้นิสัยทางการใช้จ่ายเงินทองของตัวเองได้ชัดเจน แล้วควรถึงเวลาตั้งปณิธานการงานกันใหม่อีกครั้ง

เรื่อง ราตรีแต่ง

บางคนกลัวสเตทเมนต์ที่ตัวเลขนิ่งหรือดิ่งลงทุกปี แต่ในช่วงปลายปีก็ควรมาชำระสะสางนิสัย (เสีย) เรื่องการใช้จ่ายเงินของตัวเองดูบ้าง เพื่อรู้ได้รู้ว่าเงินหายไปไหนก้อนใหญ่ที่สุด? แค่ย้อนหลังไปเพียง 2-3 เดือน ก็จะรู้นิสัยทางการใช้จ่ายเงินทองของตัวเองได้ชัดเจน แล้วควรถึงเวลาตั้งปณิธานการงานกันใหม่อีกครั้ง

การตั้งปณิธานหรือมุ่งสู่เป้าหมายใหม่ในช่วงปีใหม่ ควรมีโฟกัสว่าต้องทำอะไรให้ชัดเจนและต้องเป็นสิ่งที่ ทำได้จริง

หยุดใช้เงินฟุ่มเฟือย

ไม่ว่าใครก็ต้องมีปัญหาในเรื่องนี้กันทั้งนั้นอย่าซีเรียสให้มากนัก ลองมากลับตัวกลับใจกันใหม่ใช้ช่วงต้นปีเหมาะควรที่สุด เพียงหยุดใช้เงินฟุ่มเฟือย คุณอาจประหลาดใจที่มีเงินก้อนเก็บใหญ่ได้แล้ว บางทีอาจด้วยความสบายจนเคยชิน เราก็สงสัยว่าเงินหายไปไหน (หมดนะ?!!) มันอาจจะเป็นเพราะกาแฟวันละ 1 แก้ว (เกือบ 100 บาทแล้ว หรือแบรนด์ดังก็เกือบ 200 บาท) เสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่บางครั้งราคาก็ไม่เท่าไร ขนม ฯลฯ แต่ก็อาจถึงหลัก 300-400 บาท แค่ไปเดินเล่นตลาดนัดข้างออฟฟิศ

เมื่อรวมกันแล้ว 1 ปีที่ผ่านไปก็เป็นเงินไม่น้อย ปีหน้าเอาใหม่เก็บเงินให้เยอะๆ เดินออกจากกรอบความเคยชิน ซึ่งกลายเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้จ่ายอย่างเพลิดเพลิน ปีนี้ตั้งปณิธานรักเงินให้มากขึ้น

ตั้งเป้าหมายวิธีประหยัดเงิน

เมื่อได้ถ่องแท้กับนิสัยการใช้จ่ายของตัวเองแล้วอาจจะนึกไม่ถึงเลยว่าทำไมเราช่างจับจ่ายใช้สอยง่ายดายอะไรเช่นนี้หนอ อย่าเอาแต่เศร้าใจ เราเปลี่ยนได้ เคล็ดวิธีการดัดนิสัยเสียๆ ปีใหม่สร้างนิสัยใหม่ ลองสุดโต่งกับตัวเองดูบ้าง โดยตั้งเป้าหมายใช้จ่ายเพียงวันละ 200 บาท เฉพาะค่ากินประจำวัน ไม่รวมค่าเดินทาง และอื่นๆ โดยมีการจดบันทึกรายรับรายจ่ายทุกวัน และใช้แอพพลิเคชั่นบนมือถือจะเห็นผลลัพธ์ง่ายที่สุด

ถามว่าฟังดูแล้วเป็นไปได้ไหม? "ใช้จ่ายวันละ 200 บาท" บอกเลยว่าเป็นไปได้ ปีใหม่นี้ทำดูเลย

ไม่ควรโหดร้ายกับตัวเองเกินไปกับการใช้จ่ายขั้นต่ำสุด แต่ถ้ามีการแบ่งงบสำหรับกินอาหารมื้อใหญ่ไว้มื้อละ 500 บาท อาจจะให้ไว้อาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพื่อไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง เพราะชีวิตมีให้ใช้อย่างแฮปปี้

เก็บก่อนใช้ตั้งเป้า 40% ของรายได้

มีคำถาม...? เราควรออมเงินไปลงทุนกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้? การบรรลุเป้าหมายทางการเงินเร็ว ก็ต้องเก็บทุกครั้งที่ได้มา ออมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ออมให้เร็วที่สุดตั้งแต่อายุยังน้อย ท่องไว้ว่า "ออมก่อนรวยกว่า และออมมากกว่ารวยมากกว่า" แต่ปัญหาก็คือเรื่องค่าใช้จ่ายต่อให้ค่าใช้จ่ายเยอะขนาดไหน ขั้นต่ำสุดเราก็ควรออมเงินไม่ต่ำกว่า 10% ของรายได้ เพราะต่อให้มีภาระแค่ไหน ก็ควรมีส่วนหนึ่งสำหรับเพื่อออมให้กับอนาคตของตัวเราเอง

ถ้าไม่มีเงินออมเลยก็ควรจะตั้งคำถามได้แล้ว ทำงานหารายได้ไปจ่ายภาษี จ่ายร้านอาหาร จ่ายค่าช็อปปิ้งเสื้อผ้ากระเป๋ารองเท้าให้บัตรเครดิต ฯลฯ แต่จะไม่จ่ายให้อนาคตตัวเองเลยหรือ?

วางแผน 10 ปี อนาคตอยากทำอะไร?

กฎการตั้งเป้าหมายที่มั่นคง เป้าหมายนั้นต้องใหญ่ท้าทายและบรรลุได้ต้องชัดเจน ต้องวัดผลได้ แต่ให้วางเป้าหมายเป็นขั้นบันได ซอยเป้าหมายจากเล็กไปใหญ่

ให้ซอยเป้าหมายจากเล็กไปใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น เพิ่มจำนวนเงินเก็บให้มากขึ้น โดยเริ่มเก็บเงินให้มากกว่า 30% ต่อเดือนก่อน เพิ่มรายได้ให้ตัวเองปีละ 15% และเริ่มให้เงินทำงานแทน โดยลงทุนเพื่อผลตอบแทน 7% ต่อปี เป็นวิธีที่จะช่วยให้เรามีเงิน 10 ล้านบาท ก่อนอายุ 40 ปี อย่างเป็นไปได้ เลือกการลงทุนอื่น เช่น ซื้อหุ้นเพิ่ม คอนโดมิเนียม ที่ดิน ทองคำ พันธบัตร หุ้นกู้ เงินฝาก สหกรณ์ออมทรัพย์ สลากออมสิน

ทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่เก็บเงินไว้ในบัญชีเงินฝากซึ่งได้ดอกเบี้ยค่อนข้างน้อยมากๆ โดยเฉพาะเงินฝาก ออมทรัพย์ได้ดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี รู้หรือไม่ว่าการลงทุนแบบไม่เสี่ยงนั้นถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง และต้องรู้ว่าการลงทุนไม่ใช่การฝากเงิน

มือใหม่ลงทุนแนะความเสี่ยงกองทุนระดับปานกลาง เช่น กองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งแม้ว่าจะดูเหมือนมีความเสี่ยงที่ต่ำแต่พันธบัตรมีช่วงอายุหลากหลาย และกองทุนสามารถเลือกลงทุนในพันธบัตร หรือตราสารที่มีอายุมากกว่า 1 ปีได้ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นเรื่องของ Maturity Risk หรือการครบกำหนดอายุของตราสาร

กองทุนลงทุนในตราสารหนี้ก็เป็นอีกตัวเลือกโดยที่ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นตราสารหนี้แบบไหน ลงทุนได้ในหุ้นกู้รัฐวิสาหกิจและหุ้นกู้เอกชน ซึ่งความเสี่ยง Credit Rating หรือการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่าคิดไปเฉพาะเป้าหมายใหญ่ 10 ล้านบาท ผ่านไป 1 เดือน ถ้าทำไปได้ไม่มากนักจะทำให้ใจขาดความเชื่อมั่นที่จะทำ ทำให้มีโอกาสเลิกทำไปได้ n