posttoday

รัฐบาลผสมของญี่ปุ่นสูญเสียเสียงข้างมาก สะเทือนนโยบายเศรษฐกิจและการคลัง

28 ตุลาคม 2567

รัฐบาลผสมของญี่ปุ่นสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภาในการเลือกตั้งระดับชาติเมื่อวันอาทิตย์ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลชุดต่อไป และแนวโน้มของเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก

สถานีโทรทัศน์สาธารณะ NHK รายงานว่า จากที่นั่งทั้งหมด 465 ที่นั่งในสภา พรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย (LDP) ของนายกรัฐมนตรีชิเกรุ อิชิบะ ซึ่งปกครองญี่ปุ่นมาเกือบตลอดประวัติศาสตร์หลังสงคราม และโคเมโตะ พรรคหุ้นส่วนพันธมิตรมีแนวโน้มได้ที่นั่งเพียง 209 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 

 

นั่นลดลงจาก 279 ที่นั่งที่พวกเขามีก่อนหน้านี้ และถือเป็นผลการเลือกตั้งที่เลวร้ายที่สุดของพันธมิตรพรรคร่วมรัฐบาล นับตั้งแต่สูญเสียอำนาจช่วงสั้นๆ ในปี 2552

 

“การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเรื่องยากสำหรับเรา” ชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์โตเกียวด้วยสีหน้าโศกเศร้า

 

ขณะที่ เคอิอิจิ อิชิอิ หัวหน้าพรรคโคเมโตะ พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งเข้ามาเป็นผู้นำคนใหม่ของพรรคเมื่อเดือนที่แล้ว พ่ายแพ้ในเขตของเขา

 

พรรคที่คว้าชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดในการเลือกตั้งรอบนี้ คือ พรรคประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญแห่งญี่ปุ่น (CDPJ) ที่เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งคว้าที่นั่งได้ 143 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจาก 98 ที่นั่งก่อนหน้านี้ เนื่องจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงโทษพรรคของอิชิบะจากเรื่องอื้อฉาวเรื่องเงินทุนและภาวะเงินเฟ้อ

รัฐบาลผสมของญี่ปุ่นสูญเสียเสียงข้างมาก  สะเทือนนโยบายเศรษฐกิจและการคลัง

 

ผลการเลือกตั้งอาจบังคับให้หลายฝ่ายต้องเข้าสู่ข้อตกลงแบ่งปันอำนาจปกครองใหม่ ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางการเมือง ในขณะที่ประเทศเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ความมั่นคงที่ตึงเครียดในเอเชียตะวันออก

 

“นี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นจุดเริ่มต้น” โยชิฮิโกะ โนดะ ผู้นำพรรค CDPJ กล่าวในงานแถลงข่าว พร้อมเสริมว่าพรรคของเขาจะทำงานร่วมกับพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

 

อิชิบะกล่าวว่าเขาจะรอจนกว่าจะถึงผลลัพธ์สุดท้าย ซึ่งน่าจะครบกำหนดในช่วงเช้าของวันจันทร์ ก่อนที่จะพิจารณาถึงแนวร่วมที่เป็นไปได้หรือข้อตกลงการแบ่งปันอำนาจอื่นๆ

 

นายกรัฐมนตรีอิชิบะ ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งทันทีหลังจากได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคเมื่อเดือนที่แล้ว โดยหวังว่าจะได้รับมอบอำนาจจากสังคมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ ฟูมิโอะ คิชิดะ ผู้นำคนก่อนลาออกหลังจากการสนับสนุนลดลงเนื่องจากความโกรธเคืองต่อค่าครองชีพที่ตกต่ำ และเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการบริจาคเงินให้กับสมาชิกสภานิติบัญญัติ

 

การเลือกตั้งยังเกิดขึ้น 9 วันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของญี่ปุ่น 

รัฐบาลผสมของญี่ปุ่นสูญเสียเสียงข้างมาก  สะเทือนนโยบายเศรษฐกิจและการคลัง

 

จากผลการเลือกตั้ง คาดว่าจะทำให้ หุ้นญี่ปุ่น  และเงินเยนจะลดลง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุยืนยาวก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนต้องประเมินความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น

 

“การลงโทษของผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อกลุ่มผู้ปกครองนั้นรุนแรงกว่าที่คาดไว้” ไซสุเกะ ซากาอิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากมิซูโฮ รีเสิร์ช แอนด์ เทคโนโลยีส์ กล่าว

“ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความต่อเนื่องของฝ่ายบริหารได้เพิ่มขึ้น และตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่จะตอบสนองในวันพรุ่งนี้ด้วยการขายออก โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ”

 

พรรค LDP ครองเสียงข้างมากมาโดยตลอดนับตั้งแต่กลับมาสู่อำนาจในปี 2555 หลังการปกครองของฝ่ายค้านช่วงสั้นๆ เมื่อพรรคร่วมรัฐบาล 7 พรรคได้จัดตั้งรัฐบาลที่กินเวลาไม่ถึงหนึ่งปี

 

พรรคเล็กๆ เช่น พรรคประชาธิปัตย์เพื่อประชาชน (DPP) หรือพรรคนวัตกรรมญี่ปุ่น อาจเป็นกุญแจสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลได้

 

จนถึงขณะนี้ DPP มี 27 ที่นั่ง และ พรรคนวัตกรรมญี่ปุ่น มี 35 ที่นั่ง ตามรายงานของ NHK แต่ปัญหาสำคัญคือ ทั้งสองมีนโยบายขัดแย้งกับพรรค LDP

รัฐบาลผสมของญี่ปุ่นสูญเสียเสียงข้างมาก  สะเทือนนโยบายเศรษฐกิจและการคลัง

ยูอิจิโระ ทามากิ หัวหน้าพรรค DPP ไม่ได้ปฏิเสธความร่วมมือบางอย่างกับพรรคร่วมรัฐบาลที่นำโดย LDP แต่โนบุยูกิ บาบะ หัวหน้าพรรคนวัตกรรมปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว

 

พรรค DPP เรียกร้องให้ลดภาษีการขายของญี่ปุ่น 10% ลงครึ่งหนึ่งจนกว่าค่าจ้างที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ถูกคัดค้านจาก LDP ในขณะที่พรรคนวัตกรรมได้ให้คำมั่นว่าจะกฎการบริจาคที่เข้มงวดขึ้นเพื่อทำความสะอาดการเมือง

 

ความวุ่นวายทางการเมืองอาจสร้างความปวดหัวให้กับธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น (BOJ) หาก อิชิบะเลือกพันธมิตรที่สนับสนุนการรักษาอัตราดอกเบี้ยให้ใกล้ศูนย์ ขณะที่ธนาคารกลางต้องการค่อยๆ เพิ่มอัตราดอกเบี้ย

 

พรรคนวัตกรรมต่อต้านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก และผู้นำ DPP เคยออกมากล่าวว่า BOJ เร่งรีบในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ธนาคารกลางต้องการค่อยๆ เลิกใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงินครั้งใหญ่หลายทศวรรษของญี่ปุ่น

 

“ด้วยภูมิทัศน์ทางการเมืองที่ลื่นไหลมากขึ้น การผลักดันนโยบายเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงการเพิ่มภาษี เช่น เพื่อเป็นทุนในการใช้จ่ายด้านกลาโหม จะยากขึ้นมาก” มาซาฟูมิ ฟูจิฮาระ รองศาสตราจารย์ด้านการเมืองของมหาวิทยาลัยยามานาชิ กล่าว

 

“หากไม่มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง BOJ คงจะมีปัญหามากขึ้นในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและควบคุมเงินเยนที่อ่อนค่าให้อยู่ภายใต้การควบคุม”