posttoday

เจาะ10ทักษะแรงงาน ที่ทั่วโลกต้องการ

08 มกราคม 2561

เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม เผย 10 ทักษะ ที่ตลาดแรงงานทั่วโลกต้องการในปี 2563

โดย...ภูวดล โกมลรัตนเสถียร

ตลาดแรงงานกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งจากประชากรที่กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ รวมถึงความต้องการทักษะแรงงานด้านต่างๆ เพื่อตอบสนองกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้เกิดความเสี่ยงของแรงงานที่อยู่ในสายงานที่สามารถทดแทนได้ด้วยแอพพลิเคชั่น เทคโนโลยี ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ อีกทั้งเกิดความเสี่ยงสำหรับผู้หางานที่ละเลยการพัฒนาตนเองให้มีทักษะ ความรู้ ความชำนาญตรงกับที่ตลาดแรงงานต้องการและมีความจำเป็น เช่น การใช้เทคโนโลยี การใช้ภาษาและการสื่อสาร

เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) เปิดเผยรายงาน 10 ทักษะ ที่ตลาดแรงงานทั่วโลกต้องการในปี 2563 ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก ประกอบด้วย 1.ทักษะการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน 2.การคิดวิเคราะห์ 3.ความคิดสร้างสรรค์ 4.การจัดการบุคคล 5.การทำงานร่วมกัน 6.ความฉลาดทางอารมณ์ 7.รู้จักประเมินและการตัดสินใจ 8.มีใจรักบริการ 9.การเจรจาต่อรอง และ 10.ความยืดหยุ่นทางความคิด นอกจากนี้จะต้องมีความสามารถในการสื่อสารที่ส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน

นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี ประเทศไทย กล่าวว่า สายงานหรือกลุ่มอาชีพที่มีแนวโน้มจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี และระบบเอไอ ได้แก่ พนักงานขายปลีกหน้าร้าน ในห้างโมเดิร์นเทรดต่างๆ และพนักงานขายตรง พนักงานโรงแรม พนักงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน แรงงานในอุตสาหกรรม แรงงานในภาคโลจิสติกส์ คนขับรถยนต์ รถบรรทุก รวมถึงเคาน์เตอร์เซอร์วิสในภาคธุรกิจต่างๆ

สวนทางกับโอกาสของผู้หางานในสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก ที่เกิดจากการเติบโตของเทคโนโลยี และตามนโยบายของรัฐบาลสู่ไทยแลนด์ 4.0 ประกอบด้วย สายงานด้านดิจิทัล งานการจัดการข้อมูล เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เจ้าหน้าที่ไอที ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้แรงงานในอนาคตจะต้องขวนขวายหาความรู้ เพิ่มพูนทักษะ และความชำนาญ เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานในตลาด

สำหรับทิศทางการปรับตัวของผู้หางาน ประกอบด้วย ทันโลกทันเหตุการณ์ อัพเดทข้อมูลข่าวสาร ทั้งเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้รอบตัว และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างเหมาะสม ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ในการทำงานเพื่อให้มีความได้เปรียบทักษะด้านภาษา โดยภาษาที่ 2 และที่ 3 กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทำงานที่ต้องการความก้าวหน้า โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับองค์กรข้ามชาติ หรือองค์กรที่ต้องติดต่อกับชาวต่างอยู่เสมอ ซึ่งผลสำรวจของจ๊อบส์ ดีบี พบว่า นายจ้างกว่า 62% เห็นว่า การมีทักษะด้านภาษาและการสื่อสารที่ดี มีความสำคัญมากที่สุด

นอกจากนี้ แรงงานจะต้องมีทักษะในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในทุกที่และไม่เลือกเวลา ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับบุคคล กระบวนการ หรือเครื่องมือ และสามารถจัดการข้อมูลได้ ซึ่งการเป็นพนักงานพันธุ์ใหม่ในยุค 4จี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลได้ดี และหมั่นเพิ่มพูนทักษะความสามารถเพื่อสร้างโอกาสในการก้าวหน้า