เทคนิคชวนลูกน้อยออมเงิน
หากวันนี้เด็กๆ ซึมซับกับเรื่องการออม เมื่อถึงวัยทำงานเขาเหล่านี้ก็จะดูแลตัวเองได้
โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์
เด็กคืออนาคตของชาติ เพราะเด็กในวันนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เป็นกำลังสำคัญของประเทศในวันข้างหน้า
ยิ่งไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ต่อไปสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุในปี 2564 จะมีมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ประชากรเด็กก็เยอะไม่แพ้กัน เหลือประชากรในวัยทำงานไว้ดูแลทั้ง วัยเด็กและผู้สูงอายุน้อยลงไปทุกที
การปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักการออมจึงยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหากวันนี้เด็กๆ ซึมซับกับเรื่องการออม และตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ผ่านการปฏิบัติแบบซึมซับเข้าสู่สายเลือด เมื่อถึงวัยทำงานเขาเหล่านี้ก็จะดูแลตัวเองได้ และยังสามารถจัดสรรเงินของตัวเองเพื่อดูแลบุพการีที่เลี้ยงดูเขามาได้ด้วยเช่นกัน
วันนี้จึงขอแนะนำให้ผู้ปกครองเริ่มสอนให้ลูกออมตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ
วิธีง่ายที่สุด เป็นเทคนิคอมตะตลอดกาล ก็คือ การปลูกฝังให้ลูกออมเงินด้วยการหยอดกระปุก
เพื่อให้แรงจูงใจในการหยอดกระปุกสูงขึ้นไปอีก พ่อแม่อาจจะเป็นคนพาลูกไปเลือกกระปุกในแบบที่เขาชอบเองก็ได้ เพราะกระปุกน่ารักๆ ก็อาจจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็กอยากจะหยอดเหรียญทุกๆ วันจนเต็ม
หรือหากไม่อยากซื้อกระปุก ก็อาจจะชวนลูกมานั่งประดิษฐ์กระปุกออมสินเองจากวัสดุเหลือใช้ ซึ่งก็อาจเป็นอีกแรงจูงใจให้ลูกรู้สึกอยากหยอดกระปุกที่ตัวเองลงมือทำกับมือเองทุกวัน
เมื่อเด็กหยอดกระปุกจนเต็มแล้ว พ่อแม่ ก็อาจจะให้รางวัลบุตรหลานของตัวเองเป็นการตอบแทน
รางวัลสำหรับการหยอดกระปุกนั้น อาจไม่ใช่รางวัลใหญ่โต เป็นของมูลค่าแพงมากๆ แต่เป็นของชิ้นเล็กๆ ราคาไม่แพง ที่พ่อแม่ตั้งงบไว้ และให้ลูกเลือกก็ได้
วิธีนี้ก็น่าจะทำให้เด็กน้อยรู้สึกมีกำลังใจและอยากหยอดกระปุกให้เต็มอีก
ขณะที่การสอนให้ลูกใช้เงินให้เป็น ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย
เพราะต่อให้สอนหยอดกระปุกแค่ไหน หากลูกเป็นคนใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ก็ไม่เหลือให้เก็บออมอยู่ดี ซึ่งเรื่องนี้เริ่มต้นได้ด้วยการที่มีพ่อแม่เป็นแบบอย่าง
พ่อแม่จะต้องทำให้ลูกเห็น เวลาจะใช้เงินแต่ละบาทแต่ละสตางค์ของพ่อแม่ ผ่านการคิดและกลั่นกรองอย่างไร อาจจะใช้ช่วงเวลาที่ไปใช้จ่ายในบางสิ่งบางอย่างเพื่อลูก อธิบายให้ลูกฟังว่า เหตุใดจึงซื้อ เหตุใดจึงไม่ซื้อ หรือพ่อแม่ต้องทำงานเหนื่อยยากแค่ไหนกว่าจะมีเงินมาจ่ายกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้
นอกจากนั้น การทำกิจกรรมร่วมกัน กับลูก โดยเน้นกิจกรรมที่สามารถปลูกฝังเรื่องการเงินได้ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง เช่น เล่นเกมเศรษฐีที่ต้องมีการใช้เงินสมมติซื้อที่ดิน ในยุคนี้นอกจากเกมกระดานแบบยุคเก่าที่รุ่นพ่อแม่คงเคยเล่นกันแล้ว ก็มีแอพพลิเคชั่นเกมเศรษฐีให้เล่นมากมาย
ระหว่างเล่นไป พ่อแม่ก็อย่าลืมแฝงแนวคิดให้ลูกไปด้วย เรื่องการวางแผนการลงทุน เพราะเรื่องบันเทิงนี่เองเป็นช่องทางให้ความรู้ที่เข้าถึงได้ดีเสียยิ่งกว่าการพร่ำสอนด้วยปากเปล่า
การพาลูกไปร่วมกิจกรรมวันสำคัญต่างๆ ที่องค์กรจัดขึ้นและมีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับการปลูกฝังวินัยการเงิน ก็เป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจ เช่น ในช่วงวันเด็กแห่งชาตินี้ องค์กรหลายแห่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจไว้รอต้อนรับเด็กๆ อยู่ บางองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน ก็จะเตรียมกิจกรรมปลูกฝังการออมเอาไว้ด้วย
กิจกรรมหนึ่งที่แนะนำ คือ กิจกรรมของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อต้นปี จัดงาน แคมปิ้ง ฟิน ฟอร์ ฟัน ชวนน้องๆ หนูๆ ร่วมกิจกรรมงานวันเด็ก ในวันเสาร์ที่ 13 ม.ค. ที่ชั้น 2 อาคารศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เวลา 09.30-16.30 น.
ในงานมีทั้งกิจกรรมเพื่อความบันเทิงและได้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกฝังวินัยทางการเงินที่ดีให้แก่เด็กๆ ขณะเดียวกันก็มีซุ้มให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ผู้ปกครองในการวางแผนค่าเทอมลูกด้วย ซึ่งผู้ที่สนใจดูรายละเอียดการเดินทางไปได้ที่ www.botlc.or.th/visit
ไม่ว่าพ่อแม่จะเลือกสอนลูกให้ออมเงินด้วยวิธีการใดก็ตามแต่ ขอเพียงเริ่มต้นสอนก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว และอย่าลืมว่ายิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี
สุดท้ายนี้ มีโอกาสสอนลูกแล้ว พ่อแม่อย่าลืมหันกลับมามองตัวเองด้วยว่า ปัจจุบันวินัยการออม การลงทุนของตนเองเป็นอย่างไร
หากยังไม่ดีพอ และอาจเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีให้กับลูก ก็อย่าลืมปรับปรุงตัวด้วย เรียกว่า เรียนรู้การออมกันไปพร้อมๆ กับลูก ช่วยให้ลูกรู้จักวินัยการเงิน และช่วยให้พ่อแม่มีวินัยการเงินที่ดีขึ้นเช่นกัน