สถานีอวกาศเทียนกง-1
เทียนกง-1 เป็นสถานีอวกาศขนาดเล็กของจีนซึ่งถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกตั้งแต่ปี 2554
โดย วรเชษฐ์ บุญปลอด
เทียนกง-1 เป็นสถานีอวกาศขนาดเล็กของจีนซึ่งถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกตั้งแต่ปี 2554 ใช้ในการทดสอบส่งนักบินอวกาศขึ้นไปอาศัยอยู่ภายใน เทียนกง-1 ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปมากขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากมีรายงานโดยสื่อตะวันตกว่าสถานีอวกาศแห่งนี้ใกล้จะตกลงสู่บรรยากาศโลกในอีกไม่นาน และเป็นการตกโดยไม่สามารถควบคุมได้ อาจมีซากชิ้นส่วนหลงเหลือมาถึงพื้นโลก ขณะที่ทางการจีนออกมาโต้ว่าเทียนกง-1 ยังคงอยู่ในการควบคุม
องค์การอวกาศแห่งชาติของจีนปล่อยจรวดส่งสถานีอวกาศเทียนกง-1 (Tiangong-1) ซึ่งเป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของประเทศขึ้นจากพื้นโลกเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2554 ชื่อสถานีอวกาศแปลว่าวิมาน นับเป็นก้าวแรกในโครงการอันมีเป้าหมายก่อสร้างสถานีอวกาศขนาดใหญ่เทียบเท่าสถานีอวกาศมีร์ของรัสเซียภายในปี 2566 หลังจากนั้น จีนได้ส่งเทียนกง-2 ขึ้นไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2559 ซึ่งยังคงใช้ในการทดสอบก่อนที่การส่งโมดูลของสถานีอวกาศขนาดใหญ่กว่าจะมีขึ้นเป็นลำดับถัดไปในอนาคต
สถานีอวกาศเทียนกง-1 มีมวล 8.5 ตัน กว้าง 3.35 เมตร ยาว 10.5 เมตร ประกอบขึ้นจากโมดูล 2 ส่วน ส่วนหนึ่งมีขนาด 15 ลูกบาศก์เมตร ใช้สำหรับให้นักบินอวกาศใช้อยู่อาศัย ออกกำลังกาย และทำการทดลองต่างๆ สามารถรองรับนักบินอวกาศพร้อมกันได้ 2 คน อีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนทรัพยากร ติดตั้งแผงเซลล์สุริยะและระบบควบคุม ภารกิจมีกำหนดยาวนาน 2 ปี
จีนส่งยานเสินโจว 8 ขึ้นไปทดสอบเชื่อมต่อกับเทียนกง-1 เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2554 โดยไม่มีมนุษย์อวกาศเดินทางไปด้วย ต่อมายานเสินโจว 9 และเสินโจว 10 ได้เชื่อมต่อกับสถานีอวกาศเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2555 และ 13 มิ.ย. 2556 ตามลำดับ ได้นำนักบินอวกาศเที่ยวบินละ 3 คน เดินทางไปด้วย เสินโจว 9 ได้นำหลิวหยาง นักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีนขึ้นสู่อวกาศ เข้าเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนาน 11 วัน ส่วนเสินโจว 10 เชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนาน 13 วัน มีการทดสอบระบบการเชื่อมต่อ ระบบควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ และระบบควบคุมด้วยมือ นักบิน 2 คนเข้าไปอยู่ในเทียนกง-1 อีกคนอาศัยอยู่ในยานเสินโจว
วันที่ 21 มี.ค. 2559 ทางการจีนออกแถลงการณ์ว่าการติดต่อสื่อสารกับสถานีอวกาศเทียนกง-1 ได้ยุติลง ผลการวิเคราะห์ข้อมูลวงโคจรของสถานีอวกาศโดยแอโรสเปซคอร์เปอเรชัน ระบุว่า จีนได้ส่งคำสั่งปรับวงโคจรของเทียนกง-1 ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน ธ.ค. 2558 ขณะที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นซึ่งเฝ้าวัดตำแหน่งและติดตามการเคลื่อนไหวของสถานีอวกาศรายงานว่า จีนอาจสูญเสียการควบคุมเทียนกง-1 มาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2559
วันที่ 14 ก.ย. 2559 ทางการจีนพยากรณ์ว่าเทียนกง-1 อาจตกสู่โลกในครึ่งหลังของปี 2560 ต่อมาเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 ผู้แทนถาวรจีนแห่งสหประชาชาติได้แจ้งต่อคณะกรรมการเพื่อการใช้ห้วงอวกาศอย่างสันติว่าขณะนั้นเทียนกง-1 โคจรรอบโลกที่ความสูงจากพื้นโลกเฉลี่ย 296 กิโลเมตร (วงโคจรเป็นวงรีโดยจุดใกล้ที่สุดอยู่สูง 281.7 กิโลเมตร จุดไกลที่สุดอยู่สูง 310.2 กิโลเมตร) ระนาบวงโคจรเอียงกับเส้นศูนย์สูตรโลกเป็นมุม 42.65 องศา
รายงานต่อสหประชาชาติยังได้ปรับปรุงผลการพยากรณ์ โดยคาดว่าเทียนกง-1 อาจตกสู่โลกในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 2561 ระบุว่า สถานีอวกาศใช้เมทิลไฮดราซีนและไดไนโตรเจนเตตราออกไซด์เป็นเชื้อเพลิง พร้อมทั้งกล่าวว่าเชื้อเพลิงที่เหลืออยู่จะถูกเผาไหม้ทำลายพร้อมกับตัวสถานีอวกาศเมื่อเข้าสู่บรรยากาศโลก โดยจีนได้ตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อเฝ้าติดตามเทียนกง-1 อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม คำชี้แจงนี้ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าการตกของสถานีอวกาศจะได้รับการควบคุมหรือไม่
เทียนกง-1 อยู่ในวงโคจรต่ำรอบโลก จึงได้รับแรงต้านจากชั้นบรรยากาศ วัตถุทุกชิ้นที่โคจรอยู่บริเวณนี้ต่างก็มีวงโคจรลดระดับลงเรื่อยๆ ตามธรรมชาติ ก่อนจะตกเข้าสู่บรรยากาศโลกในที่สุด จากข้อมูลวงโคจร ณ วันที่ 16 ก.พ. 2561 เทียนกง-1 โคจรอยู่ที่ความสูงประมาณ 251-274 กิโลเมตร
แอโรสเปซพยากรณ์เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2561 ว่าหากไม่มีการควบคุมใดๆ เทียนกง-1 จะเข้าสู่บรรยากาศโลกในต้นเดือน เม.ย. 2561 อาจเร็วหรือช้ากว่านี้ได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยอาจตกบริเวณใดก็ได้ที่อยู่ระหว่างละติจูด 42.7 องศาเหนือ ถึง 42.7 องศาใต้ โอกาสที่จะตกในทะเลหรือมหาสมุทรมีมากกว่า เพราะผิวโลกส่วนใหญ่เป็นน้ำ โอกาสที่คนจะได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้เป็นไปได้น้อยมาก
เราสามารถมองเห็นสถานีอวกาศเทียนกง-1 ได้ด้วยตาเปล่าจากพื้นโลกเช่นเดียวกับสถานีอวกาศนานาชาติและดาวเทียมหลายดวง โดยเฉพาะในช่วงหัวค่ำหรือเช้ามืดที่แสงอาทิตย์ยังคงส่องถึงวัตถุในวงโคจรเหนือพื้นโลก แต่ความสว่างของเทียนกง-1 ไม่มากเท่าสถานีอวกาศนานาชาติ จึงต้องทราบเวลาและตำแหน่งที่แน่นอน
สัปดาห์นี้ถึงต้นสัปดาห์หน้าเป็นช่วงสุดท้ายที่คนในประเทศไทยจะมีโอกาสเห็นเทียนกง-1 ได้ดี โดยวันที่สังเกตได้ดีที่สุดคือหัวค่ำของวันอาทิตย์ที่ 25 ก.พ. 2561 กรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงเห็นสถานีอวกาศเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเวลา 19.30 น. จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางขวา ผ่านจุดสูงสุดทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่มุมเงย 34 องศา แล้วเคลื่อนต่ำลง หายไปในเงามืดของโลกที่เวลา 19.32 น. ขณะอยู่ที่มุมเงย 34 องศา สำหรับสถานที่อื่นๆ คำนวณได้จากเว็บไซต์ www.heavens-above.com หรือใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ สำหรับพยากรณ์การเห็นดาวเทียมก็ได้ ซึ่งสามารถแสดงแนวการเคลื่อนที่ของสถานีอวกาศและดาวเทียมหลายดวงบนท้องฟ้า
ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (18-25 ก.พ.)
ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ยังคงเป็นดาวเคราะห์ 3 ดวง ที่เห็นได้ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ดาวพฤหัสบดีสว่างที่สุด ดาวอังคารสว่างน้อยที่สุด แต่ดาวอังคารกำลังมีความสว่างเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วเนื่องจากใกล้โลกมากขึ้นดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง ขึ้นเหนือขอบฟ้าก่อนอีกสองดวง เริ่มเห็นได้ตั้งแต่ราวเที่ยงคืนครึ่ง ดาวอังคารอยู่ถัดมา ในกลุ่มดาวคนแบกงู ดาวเสาร์อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู สัปดาห์นี้ดาวอังคารเกือบจะอยู่ตรงกลางระหว่างดาวพฤหัสบดีกับดาวเสาร์ เราจะสังเกตได้ว่าดาวอังคารเคลื่อนเข้าใกล้ดาวเสาร์มากขึ้นเรื่อยๆดาวศุกร์ทำมุมห่างดวงอาทิตย์มากพอให้เห็นได้ในเวลาหัวค่ำ แต่ยังคงอยู่ใกล้ขอบฟ้ามากเมื่อท้องฟ้าเริ่มมืด จึงมีเวลาค้นหาดาวศุกร์ได้ไม่นานนักก่อนจะตกลับขอบฟ้าอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสเห็นได้ก็ต่อเมื่อใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกไม่มีอะไรบดบัง
สัปดาห์นี้เข้าสู่ข้างขึ้น จันทร์เสี้ยวอยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ พื้นที่ด้านสว่างบนดวงจันทร์เพิ่มขึ้นทุกวันจนสว่างครึ่งดวงในวันที่ 23 ก.พ. คืนนั้นดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวอัลเดบารันหรือดาวตาวัวในกลุ่มดาววัว ช่วงหัวค่ำห่างกัน 3 องศา จากนั้นเคลื่อนเข้าใกล้กันที่สุดก่อนดวงจันทร์ตกราวตี 1 ที่ระยะห่าง 1 องศา
สถานีอวกาศนานาชาติโคจรรอบโลกที่ความสูงประมาณ 400 กิโลเมตร ปรากฏให้เห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบ โดยมีลักษณะเป็นดาวสว่างเคลื่อนที่บนท้องฟ้า เช้ามืดวันศุกร์ที่ 23 ก.พ. 2561 กรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงเห็นสถานีอวกาศเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศใต้ในเวลา 05.30 น. (ขณะอยู่ใกล้ดาวสว่างในกลุ่มดาวคนครึ่งม้า) จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางซ้าย ถึงจุดสูงสุดทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ในเวลา 05.33 น. ที่มุมเงย 28 องศา ขณะอยู่ใกล้ดาวเสาร์ แล้วเคลื่อนต่ำลง สิ้นสุดใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือในเวลา 05.36 น.
เช้ามืดวันเสาร์ที่ 24 ก.พ. 2561 ขณะท้องฟ้าสว่างขึ้นพอสมควรแล้ว สถานีอวกาศเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเวลา 06.14 น. จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางขวา ถึงจุดสูงสุดทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเวลา 06.17 น. ที่มุมเงย 24 องศา แล้วเคลื่อนต่ำลง สิ้นสุดใกล้ขอบฟ้าทิศเหนือในเวลา 06.20 น.
เช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 25 ก.พ. 2561 สถานีอวกาศเริ่มปรากฏขณะออกจากเงามืดของโลกในเวลา 05.24 น. ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่มุมเงย 64 องศา จากนั้นผ่านจุดสูงสุดที่มุมเงย 66 องศา ขณะอยู่ใกล้ดาวดวงแก้ว ซึ่งเป็นดาวสว่างในกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ แล้วเคลื่อนต่ำลงไปทางขวามือ สิ้นสุดใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือในเวลา 05.28 น. (เวลาอาจคลาดเคลื่อนได้เล็กน้อย)