posttoday

พอลล์ กาญจนพาสน์ เจน 2 บางกอกแลนด์ ปั้นอิมแพ็ค แลนด์มาร์ค สมาร์ท ซิตี้

26 มกราคม 2568

ปี 2568 ปีแห่งความท้าทายของ พอลล์ กาญจนพาสน์ ทายาทรุ่น 2 บางกอกแลนด์ เมื่อรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายถึงเข้าถึงอิมแพ็ค เมืองทองธานี กลายเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ผู้คนเดินทางมายัง อิมแพ็ค เมืองทองธานี สะดวกขึ้น ทำให้แผนงานปีนี้ของเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยสิ่งใหม่ๆที่น่าจับตา

KEY

POINTS

  • พลิกโฉมการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีชมพู ชู AI บริหารจราจรสู่ สมาร์ท ซิตี้
  • ขยายพื้นที่ เพิ่มห้องพัก 1,000 ห้อง มีห้อง 5 ดาว รับงานนานาชาติ
  • เพิ่มร้านอาหาร ปั้นตลาดรวมใจสู่ตลาดซีฟู้ดสไตล์ญี่ปุ่น
     

เมื่อเสียงสัญญาณรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่วนต่อขยายดังขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จะก้าวไปอีกขั้นในการเป็นศูนย์กลางการเดินทางสมัยใหม่ ภายใต้การบริหารงานของ พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ทายาทรุ่นที่สอง ของ อนันต์ กาญจนพาสน์ ผู้บุกเบิก อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยเขาเล่าว่า "การเข้ามาของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่เชื่อมต่อถึงศูนย์ประชุม จะช่วยให้ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อการเดินทางได้ง่ายและสะดวกขึ้น"

AI พลิกโฉม สู่สมาร์ทซิตี้

ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2540 เอิมแพ็ค มืองทองธานี เริ่มต้นด้วยการมีทางด่วนที่ขึ้น-ลงภายในพื้นที่ แต่นับจากนี้ผู้ที่มาร่วมคอนเสิร์ต หรืองานแสดงสินค้าจะมีทางเลือกใหม่ในการเดินทางที่ทันสมัยกว่าเดิมรถไฟฟ้า จะช่วยลดข้อจำกัดในการเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม อิมแพ็ค เมืองทองธานียังคงมีปัญหาที่เป็นที่กล่าวถึงเสมอ นั่นคือ การจราจรที่ติดขัด แม้ว่ารถไฟฟ้าส่วนต่อขยายจะเข้ามาช่วยเสริม แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขทุกปัญหาได้ พอลล์ ยอมรับว่า “การจราจรเป็นเรื่องที่คนบ่นมาตลอด เราเองก็พยายามแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง” โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทีมงานของเขาทำงานหนักท่ามกลางความท้าทายจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า

พอลล์ กาญจนพาสน์ เจน 2 บางกอกแลนด์ ปั้นอิมแพ็ค แลนด์มาร์ค สมาร์ท ซิตี้ ทางเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายมายังศูนย์ประชุม

เพื่อให้ อิมแพ็ค เมืองทองธานีกลายเป็น “สมาร์ท ซิตี้” อย่างแท้จริง พอลล์ และทีมจึงหันมาใช้เทคโนโลยี AI ในการจัดการจราจร โดยระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) จะถูกติดตั้งเพื่อช่วยมอนิเตอร์และวิเคราะห์สถานการณ์แบบเรียลไทม์ ระบบ AI จะช่วยมองเห็นภาพรวมการจราจรได้ไกลกว่าสายตามนุษย์ เช่น การวิเคราะห์การปล่อยสัญญาณไฟจราจร การตรวจจับรถติด หรือแม้แต่การระบุพื้นที่ที่มีปัญหาจากการจอดรถผิดที่ ซึ่งจะทำให้ทีมงานสามารถประสานงานและแก้ไขได้อย่างตรงจุด

“ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้ คุณจะเริ่มเห็นการจราจรที่ลื่นไหลมากขึ้นใน อิมแพ็ค เมืองทองธานี” พอลล์ กล่าวด้วยน้ำเสียงมั่นใจ นอกจากนี้ เขายังเล่าถึงการใช้ AI ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้ถนน เช่น การลดพื้นที่จอดรถข้างทางเพื่อคืนเลนให้การจราจรไหลลื่นขึ้น

เมื่อพูดถึงแนวคิด “สมาร์ท ซิตี้” พอลล์ เล่าว่า “เราเริ่มทำสิ่งนี้มานานแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ตัว” ตั้งแต่การเปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอดประหยัดพลังงานเมื่อ 10 ปีก่อน ซึ่งวันนี้เขาเข้าใจว่า ทุกสิ่งเล็กน้อยล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเมืองอัจฉริยะ เพราะแนวคิด “สมาร์ท ซิตี้” คือการทำเมืองให้สมาร์ท  7 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม การเดินทาง การดำรงชีวิต พลเมือง พลังงาน เศรษฐกิจ และการบริหารจัดการภาครัฐ

พอลล์ กาญจนพาสน์ เจน 2 บางกอกแลนด์ ปั้นอิมแพ็ค แลนด์มาร์ค สมาร์ท ซิตี้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า https://www.posttoday.com/business/688093 การใช้พลังงานทางเลือกผ่านโซลาร์เซลล์ และการจัดการขยะอาหาร (Food Waste) จากร้านอาหารที่บริษัทดูแล https://www.posttoday.com/business/710392

กางแผน อิมแพ็ค เมืองทองธานี ปี 68

ปฎิเสธไม่ได้ว่า อิมแพ็ค เมืองทองธานี เป็นหัวหอกสำคัญในการทำธุรกิจของบางกอกแลนด์ ด้วยศักยภาพในการเป็นพื้นที่จัดงานแสดงสินค้า งานประชุม งานคอนเสิร์ต ที่พัก ตลาดสด ร้านอาหาร รวมถึงห้างสรรพสินค้าคอสโม และร้านเอาท์เล็ตจากแบรนด์ชั้นนำ พอลล์ เล่าว่า งานแสดงสินค้าปีนี้จะกลับมาคึกคักเหมือนช่วงก่อนโควิด โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจแบบ B2B นอกจากนี้ งานประชุมจากต่างประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่ม SME ที่กำลังเริ่มฟื้นตัว แม้จะช้ากว่ากลุ่มอื่น ๆ เล็กน้อย

พอลล์ กาญจนพาสน์ เจน 2 บางกอกแลนด์ ปั้นอิมแพ็ค แลนด์มาร์ค สมาร์ท ซิตี้ อิมแพ็ค เมืองทองธานี 2025

สำหรับงานคอนเสิร์ต อิมแพ็ค เมืองทองธานียังคงเป็นจุดหมายหลักของศิลปินและผู้จัดงาน ด้วยประสบการณ์การจัดคอนเสิร์ตแบบอินดอร์มามากกว่า 25 ปี พอลล์ เล่าถึงการขยายพื้นที่รองรับงานขนาดใหญ่ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร ขยายเป็น 60,000 ตารางเมตร และยังขยายอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับเทรนด์มิวสิคเฟสติวัลที่กำลังเป็นที่นิยมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พอลล์ อธิบายว่า การจัดงานในพื้นที่อินดอร์มีข้อได้เปรียบหลายด้าน เช่น ไม่ร้อน ไม่มีฝุ่น และไม่ต้องกังวลเรื่องฝนตก ทำให้เทรนด์นี้ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

“ผู้ชมงานแสดงสินค้า งานคอนเสิร์ต หรืองานประชุม ทั้งผู้ร่วมงานและผู้จัดงานเอง ต่างต้องการที่พักที่สะดวกสบาย” พอลล์ กล่าวถึงความสำคัญของการเพิ่มจำนวนห้องพักในพื้นที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ปัจจุบันมีห้องพักจำนวน 1,000 ห้อง และบริษัทมีแผนจะเพิ่มเป็น 2,000 ห้องในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

ที่แน่ๆ ปีนี้ ห้องที่เพิ่มอีก 1,000 ห้อง จะมีห้อง 5 ดาวอยู่ในนั้นด้วย โดยเขาตั้งเป้าหมายให้มีห้องพักถึง 5,000 ห้องภายใน 5 ปี เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เข้าร่วมงานทั้งในและต่างประเทศ

พอลล์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “หลายครั้งที่งานจากต่างประเทศไม่สามารถมาจัดที่นี่ได้ เพราะจำนวนห้องพักไม่เพียงพอ แต่ถ้าเรามีความพร้อมในด้านนี้ ผู้จัดงานจะสามารถวางแผนการเดินทางได้สะดวกขึ้น เช่น ผู้ร่วมงานอาจเข้ามาทำงาน 3 วัน และต่อด้วยการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียง การมีเครือข่ายโรงแรมที่พร้อมรองรับจะช่วยกระจายรายได้สู่พื้นที่อื่น ๆ ได้ด้วย”

ด้วยโลเคชั่นที่ตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงเทพฯ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ห่างจากสนามบินดอนเมืองเพียง 20-25 นาที ทำให้การเดินทางสะดวกทั้งสำหรับงานประชุมที่ต้องการเดินทางไป-กลับภายในวันเดียว หรือการเข้าพักสำหรับงานที่จัดมากกว่าหนึ่งวัน พอลล์ยังเล่าถึงตลาดการเดินทางแบบ Private Jet ที่กำลังเติบโต ซึ่ง อิมแพ็ค เมืองทองธานี สามารถตอบโจทย์นักธุรกิจและเศรษฐีต่างประเทศที่ต้องการความสะดวกสบายในการเดินทางเข้ามาจัดงานหรือพักผ่อนในพื้นที่

โลเคชั่นของ อิมแพ็ค เมืองทองธานีเหมาะสมกับทุกความต้องการ ไม่ว่าจะเดินทางด้วยเครื่องบินหรือรถยนต์ พื้นที่ของเราสามารถเชื่อมต่อกับสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ ยังสามารถเดินทางต่อไปยังหัวหินหรือพัทยาได้สะดวก นี่คือข้อได้เปรียบที่ทำให้เรากลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ครบครัน

ยกระดับตลาดรวมใจสู่ตลาดซีฟู้ดแบบญี่ปุ่น

ย้อนเวลากลับไปในวันที่ "ตลาดรวมใจ" เพิ่งถือกำเนิดขึ้น พอลล์ เล่าว่า คุณพ่อ อนันต์ กาญจนพาสน์ ได้วางรากฐานตลาดแห่งนี้ไว้พร้อมกับการสร้างชุมชน อิมแพ็ค เมืองทองธานี ที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตลาด แต่คือหัวใจของการใช้ชีวิตในชุมชน ด้วยแนวคิดที่ว่า หากมีที่อยู่อาศัยแล้วก็ต้องมีแหล่งอาหารสดเพื่อบริการคนในพื้นที่

เมื่อเวลาผ่านไป หลักการนั้นยังคงอยู่ แต่แนวคิดได้พัฒนาขึ้นตามยุคสมัย ปัจจุบันเขาไม่ได้ต้องการแค่ตลาดสดธรรมดา แต่เขากำลังเปลี่ยนเป็น "ตลาดซีฟู้ดแบบญี่ปุ่น" ที่มีทั้งอาหารทะเลสดๆ และวัตถุดิบออร์แกนิกคุณภาพสูง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ พอลล์ กำลังพัฒนาให้ตลาดรวมใจกลายเป็นศูนย์รวมของความหลากหลายด้านอาหาร ไม่เพียงเพื่อชุมชน แต่ยังเพื่อผู้มาเยือนจากทั่วทุกสารทิศ เราตั้งใจให้ทุกคนที่แวะมาที่นี่ได้ลิ้มรสอาหารทะเลสดใหม่ และสัมผัสบรรยากาศที่เหมือนกับการเดินในตลาดญี่ปุ่น

อีกมุมที่เป็นจุดเด่นใน อิมแพ็ค เมืองทองธานีคือ ร้านอาหาร เขาเล่าย้อนถึงแนวคิดในการนำร้านอาหารดังๆ อร่อยๆมารวมไว้ใน อิมแพ็ค  เมืองทองธานี ว่า “อิมแพ็ค เมืองทองธานีเปรียบเสมือนบ้าน และถ้ามีเพื่อนมาเยี่ยมบ้าน เราก็อยากให้พวกเขาได้รับประทานอาหารที่ดีที่สุด” ด้วยเหตุนี้ พอลล์ จึงให้ความสำคัญกับการคัดสรรร้านอาหารในเครือที่หลากหลายและคุณภาพสูง ตั้งแต่อาหารไทย จีน ญี่ปุ่น ไปจนถึงอาหารยุโรป และที่เพิ่งเปิดตัวไปคือ โรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอโนท https://www.posttoday.com/business/689961

เขาเชื่อว่าการประชุมหรือการทำธุรกิจที่ดี มักเกิดขึ้นที่โต๊ะอาหาร ร้านอาหารที่เรานำมารวมไว้ในอิมแพ็ค เมืองทองธานี จึงเป็นเหมือนจุดเชื่อมต่อของประสบการณ์ทั้งการทำงานและความบันเทิง เรามีร้านชื่อดังจากหลากหลายประเทศ เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่น สึโบฮาจิ,คาเฟ่ 6 Zero Garage & Roaster , ร้านฮ่องกง ฟิชเชอร์แมน รวมถึงการมีร้านอาหารนอก อิมแพ็ค  เมืองทองธานี อาทิ ร้านเดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ และ ร้านอาหารจีน “เฮยยิน” ที่เกษร พลาซ่า 

ปีนี้ พอลล์ ยังคงเดินหน้าพัฒนาร้านอาหารใหม่ๆ ทั้งใน อิมแพ็ค เมืองทองธานีและพื้นที่อื่นๆ เช่น โครงการในดุสิตเซ็นทรัลพาร์ค ที่จะเปิดตัวเร็วๆ นี้ ร้านเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ที่รับประทานอาหาร แต่เป็นจุดเช็คอินสำคัญที่เขาภูมิใจนำเสนอ

กองทรัสต์ IMPACT มั่นใจรายได้โต 25% 

สำหรับในแง่ของผลประกอบการ กองทรัสต์ IMPACT มั่นใจภาพรวมในปี 2567/68 (งบปีสิ้นสุด 31 มีนาคม 2568) จะมีรายได้เติบโตราว 20-25% จากปีก่อนมีรายได้รวมประมาณ 1,752 ล้านบาท พร้อมกับนโยบายการจ่ายเงินปันผลตอบแทนผู้ถือหน่วยเพิ่มขึ้นในระดับเดียวกันที่ 20-25% และคาดอัตราการใช้พื้นที่เฉลี่ยรวม (Occupancy Rate) 37-40%

กองทรัสต์ ประเมินภาพรวม ธุรกิจ MICE  ปี 2568/69 คาดจะมีการจัดงานกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด ตามภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ และการขยายตัวของลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะพื้นที่อิมแพ็ค อารีน่า โดดเด่นในการรองรับการจัดงานขนาดใหญ่ ชูกลุ่ม Entertainment ทั้งงานคอนเสิร์ต และงานมิวสิคเฟสติวัล เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่งานท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) มีทิศทางที่ดี จากหลากหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง งานในกลุ่ม Global Conventions อยู่ระหว่างพูดคุยและรอคอนเฟิร์มเพิ่มเติม นอกจากนี้ วางแผนออกงานโรดโชว์และออกงานแสดงสินค้า บุกขยายฐานลูกค้าต่างประเทศเพิ่มเติม โดยเฉพาะตลาดจีนที่มีการเติบโตขึ้นมาก รวมทั้ง โฟกัสกลุ่มใหม่ๆ อาทิ อินเดีย เวียดนาม และ เกาหลี เป็นต้น

พอลล์ กาญจนพาสน์ เจน 2 บางกอกแลนด์ ปั้นอิมแพ็ค แลนด์มาร์ค สมาร์ท ซิตี้ ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กองทรัสต์ IMPACT รายงานผลการดำเนินงานงวด 6 เดือน ประจำปี 2567/2568 (เมษายน – กันยายน 2567) มีรายได้รวม 1,058.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.6% กำไรสุทธิ 559.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47.8% เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 378.6 ล้านบาท โดยมีอัตราการใช้พื้นที่เฉลี่ยรวม 39.3% และมีอัตราค่าเช่าพื้นที่เฉลี่ยรวม 84 บาทต่อตารางเมตร ลูกค้ามีการกระจายตัว 6 เดือนแรกปีนี้ แบ่งเป็น เอกชน 45% รัฐบาล 28% และต่างชาติ 27%

ปัจจุบัน IMPACT มีทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การจัดแสดงอิมแพ็ค อารีน่า อาคารอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ (ฮอลล์ 1-3) ศูนย์การประชุมอิมแพ็คฟอรั่ม (ฮอลล์ 4) และศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ฮอลล์ 5-12) ซึ่งทรัพย์สินทั้ง 4 แห่ง ตั้งอยู่ในโครงการอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีพื้นที่รวม 479,761 ตร.ม. และพื้นที่จัดแสดงสุทธิ 122,165 ตร.ม.