posttoday

ธปท.ลุยปั้นดิจิทัลเคอเรนซี

20 มีนาคม 2561

ธปท.ลุยศึกษาสร้างดิจิทัลเคอเรนซีไว้ใช้ชำระระหว่างธนาคารกลาง-ธนาคารพาณิชย์ อนาคตต่อยอด เชื่อมต่างประเทศ

ธปท.ลุยศึกษาสร้างดิจิทัลเคอเรนซีไว้ใช้ชำระระหว่างธนาคารกลาง-ธนาคารพาณิชย์ อนาคตต่อยอด เชื่อมต่างประเทศ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ศึกษาแนวทางการทำโฮลเซล เซ็นทรัล แบงก์ดิจิทัล เคอ เรนซี หรือการทำเงินสกุลดิจิทัล ซึ่งออกโดยธนาคารกลางสำหรับธนาคารกลางใช้กับธนาคารพาณิชย์ในขั้นตอนการหักชำระเงินระหว่างกัน แต่ไม่ใช่การทำดิจิทัลเคอเรนซีเพื่อไปใช้กับประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ การทำโฮลเซล เซ็นทรัล แบงก์ดิจิทัล เคอเรนซีจะทำให้ ธปท.ทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์ได้ 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน ต่างจากเดิมที่ทำธุรกรรมได้เฉพาะเวลาทำการ ทำให้เป็นอุปสรรคเวลาต้องเชื่อมต่อการชำระเงินกับต่างประเทศ ซึ่งในอนาคตหากพัฒนาถึงขั้นเชื่อมต่อข้ามประเทศได้ก็จะมีศักยภาพมาก

"การทำดิจิทัลเคอเรนซีนี้อยู่ใน ขั้นตอนทดสอบความเป็นไปได้ (พรูฟ ออฟ คอนเซ็ปต์) ภายใต้โครงการชื่อ อินทนนท์ ซึ่งก็เหมือนที่ธนาคารกลางหลายแห่งในโลกทำอยู่ ไม่ว่าแคนาดา อังกฤษ สิงคโปร์ ต่างก็ทำพรูฟ ออฟ คอนเซ็ปต์ รวมถึงประเทศอื่นที่อาจกำลังศึกษาแต่เก็บไว้ เพื่อสร้างเป็นรากฐานใหม่ของการทำธุรกรรม โดย ธปท.จะทำพรูฟ ออฟ คอนเซ็ปต์ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ทั้งไทยและต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 5 ราย เพื่อให้ได้โครงสร้างธุรกิจที่ชัดเจนก่อนนำออกไปเชื่อมต่อกับประเทศอื่น" นายวิรไท กล่าว

ทั้งนี้ การนำดิจิทัลเคอเรนซีมาใช้ในขั้นตอนทำธุรกรรมระหว่างธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ จะช่วยลดความผิดพลาดในการทำธุรกรรมได้ เนื่องจากไม่มีใครสามารถไปแก้ไขรายการได้ เพราะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลที่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นตัวกลาง แต่ข้อมูลชุดเดียวกันจะถูกกระจายอยู่ในเครือข่าย โดยเวลาธนาคารทำธุรกรรมกู้ยืมระหว่างกัน (อินเตอร์แบงก์) แล้วมีขั้นตอนการชำระราคากัน ก็จะใช้ดิจิทัลเคอเรนซีที่สร้างโดยธนาคารกลางดำเนินการ

นายวิรไท กล่าวว่า เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ดังนั้นไทยก็ต้องเรียนรู้เริ่มจากธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์ในไทยเข้าใจร่วมกันก่อน สร้างระบบนิเวศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันให้ได้ จึงจะยกระดับไปอีกขั้นได้

อย่างไรก็ตาม ในการทดสอบครั้งนี้ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ทุกรายเข้าร่วม แต่เน้นให้ธนาคารขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญ มีธุรกรรมการชำระเงินสูงๆ เข้าร่วมก่อน