คนชอบเจียมตัว
คนเรามักเจียมตัวเมื่อต้องฝืนตัดสินใจทำบางอย่าง เพียงเพราะกลัวหรือเกรงใจบางคน
โดย ดร.ต้อง เดอะ ฟิลเตอร์ ภาพ : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย
คนเรามักเจียมตัวเมื่อต้องฝืนตัดสินใจทำบางอย่าง เพียงเพราะกลัวหรือเกรงใจบางคน แต่ท้ายสุดการเจียมตัวในเรื่องใดเรื่องหนึ่งพานให้ชีวิตด้านอื่นพังตามไปหมดเช่นตัวอย่างที่ผมจะยกต่อไปนี้...
ผมรู้จักน้องผู้ชายคนหนึ่ง เขาตกหลุมรักผู้หญิงที่ไม่ได้สวย ไม่ได้มีโปรไฟล์อะไร เป็นเด็กสาวตัวเล็ก ค่อนข้างอ้วน (เจ้าเนื้อ) และพูดจาตรงไปตรงมา ไม่ยอมคน และขี้บ่น แต่เขารักจนยอมฝืนตัวเองทำทุกอย่างให้ผู้หญิงคนนี้มีความสุข เพราะผู้ชายไม่เคยรักใครเป็น ไม่เคยมีใครมาสนใจ แต่พอยิ่งรักผู้หญิงคนนี้ก็ยิ่งเจียมตัวยิ่งรู้สึกตัวเองไร้ค่า ไม่มีดีอะไร
น้องผู้หญิงคนนี้ก็ยังมีไปคบซ้อนให้น้องชายของผมเจ็บ และผู้หญิงก็รู้สึกดีที่ถือไพ่เหนือกว่า ความสัมพันธ์ที่มีก็คลุมเครือ สับสน ดูไม่มีเป้าหมายและก็เห็นชัดว่าท้ายสุดก็คงต้องเลิกกัน เพราะผู้ชายคงทนไม่ไหว
ผมเห็นเลยว่าน้องชายคนนี้รู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่ารักต่อไป เจ็บต่อไปเจียมตัวต่อไป จนถึงจุดที่ทนไม่ไหว เพราะเป็นประสบการณ์รักครั้งแรก จึงยังไม่สามารถมองเห็นทางออกเองได้ หรือมีความกล้าพอที่จะเลือกออกมาจากความสัมพันธ์เจ็บๆ นี้ได้
ยิ่งรักเลยยิ่งเจ็บ ยิ่งเจียมตัวยิ่งกลัว รวมถึงหมดความมั่นใจ เลยเถิดไปถึงการตัดสินใจชีวิตด้านอื่นๆ การเรียนก็เสีย ความสัมพันธ์กับเพื่อนก็แย่ลง เพราะต้องคอยดูแลคนคนเดียวที่เขาผูกพัน ผูกพันด้วยความเจียมตัวว่าตัวเองไม่ดีพอ
ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น ผมให้คำปรึกษาผู้หญิงอีกท่านหนึ่ง ทนทำงานให้กับครอบครัว ตัวเองเก่งงานด้านบัญชี แต่ก็ไม่สามารถยืนยันความสามารถตัวเองได้ ทนทำงานด้านอื่นที่ไม่ถนัดเพราะคนในครอบครัวสั่งให้ทำ ด้วยความที่เกิดมาแล้วต้องท่องว่าทุกงานมีค่า ตัวเองเลยโดนลากไปทำทุกอย่างในบริษัท แต่ไม่มีผลงานอะไรออกมาทุกคนก็ลงความเห็นว่าเป็นคนไม่มีผลงานไม่โดดเด่น
ผู้หญิงคนนี้ก็เจียมตัว เชื่อว่าตัวเองคงไม่เก่งจริงๆ แต่พอถามก็ตอบว่า ถ้าได้ทำงานที่ตัวเองถนัด ก็จะมีผลงานได้ไม่ยากเย็น แต่เพราะกลัวเลยยอมทำทุกอย่างที่คนในบ้านต้องการ และเธอทิ้งฝันทุกอย่าง ไม่ไปเรียนในสิ่งที่ใช่ ไม่กล้าตัดสินใจทำสิ่งที่ใช่ และก็ไม่มีผลงานให้ตัวเองและคนอื่นชื่นใจ กลายเป็นต้องเจียมตัวไปเรื่อยๆจนชิน
ชินจนคิดแบบอื่นไม่เป็น ท้ายสุดชีวิตไม่มีเพื่อน ไม่มีแฟน ไม่มีความบันเทิง เบื่อเที่ยว เบื่อเจอคน จนเริ่มซึมเศร้า อยากจบชีวิต
มีคนอีกหลายคนรู้สึกแบบนี้ คือไม่กล้าใช้ชีวิตเพราะมัวแต่เจียมตัว พอเริ่มต้องเจียมตัวไม่กล้ายืนยันสิ่งที่ตัวเองเก่งจริง อยากทำจริงๆ คนอื่นก็พานคิดว่าเขาคิดเองไม่เป็น ยิ่งยัดเยียดสิ่งที่คาดหวังให้เจียมตัวหนักกว่าเก่า จนคิดอะไรเองไม่เป็นเอาจริงๆ
เท่าที่ทราบหลายคนใช้ชีวิตเจียมตัวเกิน เพราะอดีตเคยถูกประณามที่พลาดมาหลายครั้ง บ้างโดนนินทาเสียๆ หายๆ เลยทำให้เจียมตัว พอฝันจะทำบางสิ่งก็กลายเป็นไม่กล้าเล่าให้ใครฟังอีก
จนในที่สุดฝันในหัวก็กลายเป็นสนิม เราลืมมันไปแล้ว และปล่อยชีวิตไปวันๆ กลายเป็นคนไม่กล้ายืนยันตัวเอง กล้าลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ถูก ที่มันใช่ แล้วก็รู้สึกผิดซ้ำๆ ว่าใช้ชีวิตไม่เป็น ใช้ชีวิตไม่ดี เจียมตัวไปจนวันตายและก็ไม่อาจหลุดพ้นได้
พิษร้ายของชีวิตที่เจียมตัวเกินคือหยุดฝัน หยุดคิดถึงชีวิตที่ดีกว่า และจมอยู่กับความเป็นไปได้แบบฝืนๆ เพราะคิดไปว่าชีวิตไม่มีทางเลือก ไม่มีทางออกอะไรที่ดีกว่าที่เป็นอยู่
และเมื่อคนคนหนึ่งมาถึงจุดที่ไม่ยอมหลุดจากความรู้สึกเจียมตัว เขาจะหยุดฝัน หยุดทำตามฝัน หยุดทำความเข้าใจว่าชีวิตของเขา เขาต้องใช้มันเอง การเจียมตัวอาจดูดี ดูร่วมมือ ดูเหมือนว่าเราพร้อมใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น เพื่อให้คนอื่นมีความสุข
เราอาจคิดว่าการเจียมตัวเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราไม่เห็นแก่ตัว ไม่หลงตัวเอง ไม่เหลิง และกันความผิดพลาดที่ไม่จำเป็น แต่การเจียมตัว ส่วนใหญ่มักพาชีวิตเราไปสู่ความขมขื่น และความผิดหวังในชีวิตยาวๆ บางคนยาวจนถึงความสุดท้ายของลมหายใจตัวเอง
การลดอาการเจียมตัวลง เราต้องฝึกเชื่อในฝันที่เรามี และเล่าความฝันตัวเอง จนไปถึงจุดที่กล้าลองทำมัน อาจเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ก่อน เราอาจลองฝึกเล่าฝันของเราให้คนที่เห็นใจเราฟังก่อน เพื่อยืนยันสิ่งที่อยู่ในใจ
ทำไม่ยากครับ ผมขอให้ข้อคิดที่เราอาจลองปรับปรุงตัวเองเพื่อลดความเจียมตัวลง เช่น
หนึ่ง-ทบทวนความฝันของตัวเองกับเพื่อนสนิทคนที่เราไว้ใจว่าเขาเห็นใจเราพอ บอกให้เขาช่วยมองว่าจะทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร? คุยถึงความฝันของเรากับเขาบ่อยๆ จนเราเริ่มอยากลองทำมัน เพราะเรามีคนรู้ความฝันของเราแล้ว และเขาเชื่อในฝันเรา
สอง-ให้เริ่มแยกแยะออกระหว่างความเจียมตัว (ที่ไม่ควร) กับการร่วมมีประสบการณ์ดีๆในการคุยถึงสิ่งที่ให้พลังส่งต่อกันระหว่างเพื่อนฝูง ไม่มีอะไรน่าคุยกับคนที่แคร์เรา รักเรา มากกว่าการปันความฝันร่วมกัน
สาม-ขอเพื่อนๆ ที่แคร์เรา ลับคมความฝันให้จริงขึ้น เพราะเขามักมีมุมที่เราอาจไม่เคยมองมาก่อน ทำให้ฝันนั้นใกล้ความจริงขึ้นด้วยอีกทางหนึ่ง เราจะเริ่มจำประสบการณ์นี้มากกว่าเสียงแย่ๆ หรือคำนินทา กล่าวร้ายที่เราเคยโดน (ทั้งที่จริงบางส่วน หรือไม่จริงเลยแต่เราโดนกล่าวหาฯ)
สี่-โอกาสใหม่ๆ เกิด เพราะเมื่อคนแคร์เรา รู้ความฝันของเรา เขาจะอยากเติมฝันให้เราในส่วนที่เขามีเครือข่าย หรือมีบางอย่างต่อยอดความฝันของเราได้ เมื่อเราปันความฝัน เราจะให้โอกาสเพื่อนใหม่ๆ ของเรารักเราลึกขึ้นด้วย
ห้า-การปันฝันเป็นการพัฒนาจินตนาการ และจินตนาการที่เราเริ่มเชื่อมั่นเราจะทำมัน จินตนาการเป็นด่านสำคัญที่จะเปิดสมองเราให้เรียนรู้แบบก้าวกระโดด เพราะจินตนาการต้องเห็นภาพรวม เป็นกระบวนการคิดที่ซับซ้อนกว่าการจำในสิ่งที่คนอื่นพูด หรือสอนมาก
อยากสรุปอย่างนี้นะครับว่า ส่วนใหญ่คนเจียมตัวมักกลายเป็นคนเศร้าในบั้นปลายชีวิต ผมยังไม่เคยเห็นความเจียมตัวช่วยใครจริงๆ และส่วนใหญ่เรามักคิดไปเองว่า คนรอบข้างอยากให้เราเจียมตัว เพราะถ้าครอบครัวเรารักเราจริง ย่อมไม่อยากเห็นเราจมปลักอยู่กับที่ เจียมตัวฝืนทำสิ่งที่ไม่ใช่ไปวันๆ