มหิดลสู่มหา’ลัยโลก ชูปณิธาน ปัญญาของแผ่นดิน
มหาวิทยาลัยมหิดลเพิ่งก่อตั้งได้เพียง 49 ปี แต่กลับพัฒนาอย่างรวดเร็ว ถีบตัวขึ้นเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย
โดย ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม
มหาวิทยาลัยมหิดลเพิ่งก่อตั้งได้เพียง 49 ปี แต่กลับพัฒนาอย่างรวดเร็ว ถีบตัวขึ้นเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ผลิตงานวิจัยติดอันดับโลกในช่วงไม่กี่ปีมานี้จากการจัดอันดับขององค์กรด้านการศึกษานานาชาติหลายแห่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาวมหิดลเป็นอย่างยิ่ง
“เราอยากทำให้มหา’ลัยเป็น Smart University ใช้เทคโนโลยีสู่การเรียนการสอนให้เต็มพื้นที่ เราจะติดปีกเทคโนโลยีให้นักศึกษา เพราะถ้าไม่ทำมันก็เหมือนไปกักตัวเขา 4-6 ปีให้อยู่ในโลกที่ล้าหลังเหมือนไดโนเสาร์ ฉะนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านตรงนี้ เราต้องสร้างบรรยากาศการขับเคลื่อนเทคโนโลยีขับเคลื่อนโลกปัจจุบันและมุ่งให้เขาไปสู่อนาคตโดยไม่ล่าช้า”
ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล บอกถึงความมุ่งมั่นที่จะนำพามหาวิทยาลัยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกดิจิทัล หนึ่งในนโยบายสำคัญ คือ มุ่งสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ขานรับนโยบาย ดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0
“ตอนนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก บิล เกตส์ สตีฟ จ็อบส์ ไม่ได้จบมหา’ลัย สิ่งที่เขาทำ ล้วนอยู่นอกมหา’ลัยทั้งสิ้น ดังนั้น เราต้องกลับมาคิดด้วยว่า การเรียนในระบบมหา’ลัยมันขาดอะไรถึงทำให้คนที่เรียนนอกระบบมหา’ลัยถึงไปจุดสูงสุดได้ คงเพราะแนวคิดของเขาที่ต้องการทำให้ถึงเป้าหมาย อาจต้องลองผิดลองถูก สิ่งเหล่านี้บางครั้งการเรียนที่เป็นแบบเก่าอาจไม่ได้เตรียมการไว้เพราะไม่ได้สัมผัสกับการแก้ปัญหาจริงแบบลองผิดลองถูก”
ศ.นพ.บรรจง ได้ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของสถาบันการศึกษาอันดับต้นของประเทศ หลังจากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อปีที่ผ่านมาที่มี นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้เขาในฐานะรองอธิการบดี ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนใหม่จากคุณสมบัติ และความรู้ ความสามารถ แม้ว่าปัจจุบันยังติดขัดในขั้นตอนการแต่งตั้งให้มีผลสมบูรณ์ แต่ ศ.นพ.บรรจง บอกว่า ไม่หนักใจ และพร้อมเป็นผู้นำติดอาวุธทางปัญญาให้นักศึกษาได้ออกไปพัฒนาสังคม
ศ.นพ.บรรจง เติบโตและเป็นลูกหม้อมหิดล จบปริญญาตรี ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 12 ปี ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทำงานบริหารมาครบตั้งแต่ผู้ช่วยคณบดี รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยและรักษาการแทนอธิการบดีมหิดล เป็นหมอกระดูกที่มีชื่อเสียงของประเทศ ได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่นมากมาย รวมถึงบุคลากรดีเด่น และศิริราชเชิดชูเกียรติ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อไม่กี่ปีมานี้
“มันไม่ได้เรียกว่า หนักใจ เพียงแต่ว่า เราต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นกว่าตำแหน่งที่เราเดินทางมาก่อนหน้านี้ ในฐานะที่เคยเป็นรองอธิการบดีก็มีความรับผิดชอบอีกแบบ แต่วันนี้เรามาเป็นผู้นำสูงสุดขององค์กรในรูปแบบของอธิการบดี แต่สิ่งที่มหา’ลัยเป็นอยู่ขณะนี้มันไม่ได้ขับเคลื่อนโดยอธิการบดีเพียงลำพัง แต่ขับเคลื่อนด้วยคนทั้งองค์กรเป็นลักษณะเมทริกซ์”
การปรับเปลี่ยนของมหิดลเข้าสู่โลกยุคใหม่ ศ.นพ.บรรจง บอกด้วยว่า การปรับโครงสร้างของหลักสูตรต่างๆ มีความจำเป็นมากเพื่อตามเทรนด์โลกและนโยบายภาครัฐ มหิดลจะขยายหลักสูตรเกี่ยวข้องกับบิ๊กดาต้า ศาสตร์เรื่องรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รวมถึงไอซีที ขณะเดียวกันต้องค่อยๆ ลดหลักสูตรในส่วนอาชีพที่ไม่จำเป็น อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเน้นผลิตบัณฑิต ด้านแพทย์เป็นหลักเกือบครึ่งซึ่งเป็นอาชีพเฉพาะทางที่ยังจำเป็นกับประเทศอยู่มาก
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามหิดลจะพัฒนาไปทางใด ยังจะปลูกฝังเจตคติ เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม กิจกรรม อาสาสมัครต่างๆ รวมทั้งการอยู่รอดในโลกใบนี้ เช่น ลดคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้เป็น Green University และจะเป็นมหา’ลัยหลักที่นำเรื่องสุขภาวะที่เหมาะสม ไม่มีการสูบบุหรี่ ไม่มีการบริโภคน้ำเมา ไม่ให้เกิดการคุกคามทางเพศ ไม่มีการพนัน ซึ่งเครือข่ายมหา’ลัยในอาเซียน กำหนดไว้บทหนึ่งว่า มหิดลได้เป็นผู้นำเรื่องสุขภาวะด้านอาหารและการบริโภคด้วย
“ตอนนี้ก็เป็นช่วงปลายทางของผม ที่ผมจะพาคนในองค์กรสร้างคุณประโยชน์กับประเทศชาติ ผลิตบัณฑิตมีคุณภาพ เป็นคนดี คนเก่ง ตามวัตถุประสงค์ของมหา’ลัยและปณิธานของเรา ให้เป็นปัญญาของแผ่นดินอย่างเต็มศักยภาพ” ศ.นพ.บรรจง กล่าวหนักแน่น