สงครามการค้าสหรัฐ-จีนหนุนส่งออกไทยเพิ่ม 0.10-0.25%
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนเป็นผลดี หนุนมูลค่าการส่งออกไทยเพิ่ม 8,000-2 หมื่นล้านบาท
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนเป็นผลดี หนุนมูลค่าการส่งออกไทยเพิ่ม 8,000-2 หมื่นล้านบาท
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในกรณีที่ทั้ง 2 ฝ่ายใช้มาตรการทางภาษีกีดกันสินค้าระหว่างกัน จะทำให้มีทั้งสินค้าของทั้ง 2 ฝ่ายที่ส่งออกระหว่างกันไม่ได้ ถูกส่งเข้ามาขายในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ทั้ง 2 ชาติหันมานำเข้าสินค้าจากไทยเข้าไปทดแทนเช่นกัน เมื่อวิเคราะห์แล้ว ในภาพรวมจะเป็นบวกต่อไทยมากกว่า โดยจะทำให้ไทยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 8,072-20,180 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.10-0.25% ของการส่งออกไทย และมีผลต่อจีดีพี 0.01-0.04%
"ผลกระทบจากการทำสงครามการค้าของสหรัฐฯและจีนในการเก็บภาษีนำเข้าระหว่างกันเพิ่ม 10-25% นั้น มีทั้งผลกระทบทางบวกและลบต่อไทย แต่เมื่อคิดบวกลบกันแล้ว พบว่า ส้มหล่นที่ไทย เพราะได้อานิสงส์จากการส่งออกเพิ่มขึ้น 8,000-2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้การส่งออกของไทยปีนี้มีโอกาสแตะที่ 7.1-7.25% จากเป้าหมายเดิมที่มองไว้ 7%ได้" นายอัทธ์ กล่าว
สำหรับกลุ่มสินค้าที่ไทยได้รับประโยชน์จากกรณีสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนได้แก่ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ และสินค้าที่ไทยเสียประโยชน์ได้แก่ สารเคมี ยา เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก อลูมิเนียม รถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยได้รับประโยชน์จากกรณีจีนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ได้แก่ ผลไม้ ข้าวสาลี ข้าวโพด และผลไม้แปรรูป และ สินค้าที่ไทยเสียประโยชน์ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ถั่วเหลือง ฝ้าย เครื่องบินและชิ้นส่วนอุปกรณ์ เป็นต้น
"ไทยจะต้องเร่งปรับตัวด้วยการปรับผลิตภัณฑ์สินค้าต่างๆให้มีคุณภาพสูงขึ้น แม้ว่าอนาคตอาจจะมีสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในไทยบ้าง แต่เชื่อว่าการใช้มาตรการมาตรฐานสินค้าเข้ามาดูแลและควบคุมจะทำให้ไทยได้สินค้ามีคุณภาพสูงขึ้นได้ รวมทั้งจะต้องมีการเทรดสินค้าวัตถุดิบกับจีนและสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เน้นเทรดแค่สินค้าสำเร็จรูป เพื่อรักษาห่วงโซ่การค้าไม่ให้ห่างกันเกินไป" นายอัทธ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีข้อเสนอแนะว่า ไทยควรสร้างห่วงโซ่การผลิตของจีนกับสหรัฐให้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงใช้โอกาสนี้สร้างความร่วมมือทางการค้ากับสหรัฐ เช่น การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐ และผลักดันความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) หรืออาเซียน+6 ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
นอกจากนี้ กรณีที่ไทยสามารถร่วมมือกับทางอาลีบาบานั้น มองว่า โดยรวมไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมในการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มของอาลีบาบา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าผลไม้ ผลไม้แปรรูป และ ข้าว เป็นต้น