posttoday

ถ้ำเขาช้างหาย

24 มิถุนายน 2561

ผมมีภาพเก่าภาพหนึ่งถ่ายในปี 2509 ภาพนี้ชำรุดตามกาลเวลา

โดย ถาวร หลีกภัย

ผมมีภาพเก่าภาพหนึ่งถ่ายในปี 2509 ภาพนี้ชำรุดตามกาลเวลา แต่ก็ยังพอดูออกว่าบุคคลในภาพเป็นใคร จากซ้ายไปขวา เริ่มจากตัวผมเอง ถัดไปคือ นายช่างอาจ ชะนะ คุณคำรณ ไชยพินิจ และพนักงานขับรถ ทุกคนสังกัดอยู่ในกองเศรษฐธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี และทีมของเรามีหน้าที่สำรวจหาปริมาณสำรองฟอสเฟต เพื่อประโยชน์ในการนำมาทำเป็นปุ๋ย

ในตอนเริ่มแรก โครงการสำรวจฟอสเฟตของกองเศรษฐธรณีวิทยามีเป้าหมายที่จะสำรวจหา Phosphorite ซึ่งเป็นหินตะกอนที่มีฟอสเฟตสูง การสำรวจจึงต้องเลือกพื้นที่ที่เคยเป็นทะเลมาก่อน และถ้าทะเลมี Upwelling Current โอกาสจะเกิด Phosphorite ก็จะมีมากขึ้น นายช่างกิตติ วิริยกมลพร กับผม ได้ไปอาศัยพักอยู่ที่แคมป์สร้างทาง กม.109 อยู่นานเป็นเดือนเพื่อศึกษาชั้นหินที่บริษัทสร้างทางตัดถนนผ่านเทือกเขาสก ถนนสายนี้เมื่อได้ตัดข้ามเทือกเขาแล้วก็ทำให้การคมนาคมระหว่างสุราษฎร์ธานีและพังงาสามารถติดต่อกันได้ โดยไม่มีอุปสรรคเรื่องเทือกเขาขวางกั้นอีกต่อไป

หลังจากนั้นผมก็ได้ไปร่วมอยู่ในทีมสำรวจฟอสเฟตกับนายช่างอาจ ชะนะ ทีมนี้มีหน้าที่ไปสำรวจฟอสเฟตที่เกิดจากการสะสมตัวของมูลสัตว์ปีกที่อาศัยอยู่ตามถ้ำต่างๆ

ถ้ำเขาช้างหาย

วิธีทดสอบฟอสเฟตในภาคสนาม ทำโดยการบดตัวอย่างหินที่สงสัย แล้วละลายด้วยกรดดินประสิว จากนั้นเติมสารละลาย แอมโมเนียมโมลิบเดต ถ้าหินมีฟอสเฟตจะเกิดตะกอนสีเหลืองของแอมโมเนียมฟอสโฟโมลิบเดต

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ผมไม่ได้เข้าถ้ำเพื่อสำรวจหาฟอสเฟต แต่จะมาชมปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่ทำให้เกิดหินงอกหินย้อยในถ้ำเขาช้างหายในเขต ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง

ถ้ำนี้เคยเป็นที่อยู่ของค้างคาวมาก่อน แต่เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาชมถ้ำมากขึ้น ค้างคาวคงจะอพยพไปหาที่อยู่ใหม่ แต่ก็ยังพอมีค้างคาวตัวเล็กๆ บินให้เห็นอยู่บ้าง

เขาช้างหายเป็นเขาอยู่กลางทุ่งนาเป็นหินปูนในยุค Permian ซึ่งมีอายุในช่วงตั้งแต่ 230-280 ล้านปีมาแล้ว ในยุคนั้นบริเวณนี้เป็นทะเล หินปูนส่วนใหญ่เกิดจากซากสัตว์ทะเลที่มีเปลือกเป็นสารประเภทแคลเซียมคาร์บอเนต สะสมตัวอยู่ในทะเลดังกล่าว เปลือกสัตว์ทะเลสะสมตัวจนเป็นชั้นหนาและถูกเปลี่ยนแปลงสภาพไปเป็นหินปูน ต่อมาถูกแรงภายในโลกดันให้เกิดเป็นภูเขาเหนือระดับน้ำทะเล ผลจากแผ่นดินถูกกัดกร่อนเป็นเวลายาวนาน เทือกเขาหินปูนส่วนใหญ่จะผุพังและสลายตัวไป คงเหลือไว้เพียงเขาหินปูนที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีลักษณะเป็นเขาโดดอยู่กลางทุ่งนา (Monadnock)

ถ้ำเขาช้างหาย

ปากทางเข้าถ้ำเขาช้างหาย มีรูปปั้นช้างอยู่หลายเชือก และมีป้ายเล่าตำนานที่มาของชื่อถ้ำ มีข้อความดังต่อไปนี้

หลังจากสยามประเทศได้รับอิทธิพลทางศาสนาพุทธจากศรีลังกา ยุคสมัยที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาในภูมิภาคนี้ เจ้าเมืองนครศรีฯ ได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อบรรจุพระสารีริกธาตุ จึงได้ประกาศไปยังหัวเมืองต่างๆ ให้ผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้นำทรัพย์สมบัติทองคำของมีค่ามาบรรจุใต้พระธาตุเข้าด้วยกัน

เมื่อข่าวนี้ทราบถึงหัวเมืองต่างๆ ได้มีขบวนนักแสวงบุญจากหัวเมืองในภูมิภาคนี้ได้เดินทางไปยังหัวเมืองนครศรีฯ ครั้นมีขบวนนักแสวงบุญคณะหนึ่ง พร้อมด้วยขบวนช้างได้ผ่านมายังบริเวณนี้ และได้หยุดพักแรมบริเวณหนองน้ำแห่งหนึ่ง ได้มีช้างพังท้องแก่เชือกหนึ่ง คลอดลูกพอดี ชาวบ้านจึงเรียกหนองน้ำนี้ว่า “หนองช้างทอก” หลังจากรอจนลูกช้างแข็งแรงขบวนได้เดินทางไปยังหนองน้ำอีกแห่งหนึ่งไม่ไกลกันมากนัก แม่ช้างและลูกได้ลงเล่นน้ำ ลูกช้างได้พ่นน้ำเข้าใส่แม่ช้าง ชาวบ้านจึงเรียกหนองน้ำแห่งนี้ว่า “หนองถวายน้ำ” หรือหนองหวายน้ำ (ภาษาถิ่น) อยู่ทางทิศตะวันออกของเขาช้างหายแห่งนี้

ถ้ำเขาช้างหาย

จากนั้นขบวนก็เดินทางมาถึงที่ราบเชิงเขาก็ได้หยุดพัก ลูกช้างดังกล่าวได้วิ่งเล่นพลัดหลงกับแม่ช้างและเดินหายเข้าไปในถ้ำ เมื่อควาญช้างรู้จึงเกณฑ์ผู้คนจุดคบไฟเข้าตามหาจนพบ และควาญช้างได้ใช้คาถาอาคมจับลูกช้างด้วยด้ายแดงด้ายขาวคีบด้วยเท้าเพียงสามเส้นเท่านั้น ขณะเดินนำลูกช้างออกจากถ้ำจนถึงทุ่งนา ได้พบกับชาวบ้านกำลังทำนาได้ตะโกนร้องเตือนว่าช้างจะขาด (ด้ายจะขาด) หลายๆ ครั้งด้วยความหวังดี ทำให้อาคมที่บังคับลูกช้างเสื่อมลง ด้ายที่มัดช้างก็ขาดในทันที ลูกช้างได้หันกลับหลังวิ่งหนี ควาญช้างจับหางลูกช้างได้ทันและใช้มีดฟันถูกหางลูกช้างจนขาดติดมือ หางช้างที่ว่าต่อมากลับกลายเป็นทองคำด้วยอภินิหาร โดยลูกช้างได้วิ่งหายเข้าไปในถ้ำอีกครั้งตามหาไม่เจอ ชาวบ้านจึงเรียกถ้ำแห่งนี้ว่า “ถ้ำเขาช้างหาย” จวบจนปัจจุบัน