posttoday

‘ดอรี่’ เจ้าพระยา

24 มิถุนายน 2561

การออกเรือตกปลาสวายในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเกมที่เร้าใจกำลังสวย ไม่ว่าจะขนาดของปลา หรือเปอร์เซ็นต์การได้ตัว

โดยปริญญา ผดุงถิ่น

การออกเรือตกปลาสวายในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเกมที่เร้าใจกำลังสวย ไม่ว่าจะขนาดของปลา หรือเปอร์เซ็นต์การได้ตัว

“ไต๋ต้น เจ้าพระยา” เซียนปลาแห่งสามโคก พานั่งเรือไปไกลร่วม 45 นาที ก่อนทอดสมอกลางแม่น้ำ ห่างจากฝั่งประมาณ 100 เมตร นี่เป็นเกมที่แตกต่างจากการตกปลาแม่น้ำอื่นๆ ที่มักเข้าไปผูกเรือประชิดติดฝั่ง

เมื่อปล่อยเหยื่อ “แป้งพิซซ่า” และตะกั่วลูกเขื่องลงไป กระแสน้ำแรงก็พัดจนสายเบ็ดจมเฉียงไปทางท้ายเรือ แถมบางเวลามีคลื่นจากเรือใหญ่ซัดเรือเรา ได้อารมณ์คล้ายการจอดเรือตกปลาทะเล

“ไต๋ต้น เจ้าพระยา” ไม่ทำให้ผิดหวัง ผมกับ “ไก่ เซียนตกน้ำ” ได้เย่อปลาสวายแม่น้ำสมใจ แล้วจัดการปล่อยไปทุกตัว แบบที่สากลเรียกว่า Catch and Release

ทั้งที่เป็นปลาสายพันธุ์เดียวกัน แต่สภาพแวดล้อมที่ต่างกันสุดขั้ว ทำให้ปลาสวายแม่น้ำแตกต่างจากปลาสวายบ่อหลายอย่าง เริ่มจากสีสันตามตัว ที่จะดูใสเนียนกว่า บริเวณหลังก็จะเป็น “หลังเขียว” ไม่ใช่ “หลังม่วง”

แม้จับปลาอุ้มไปอุ้มมา ก็ไม่ยักได้กลิ่นคาว ต่างจากปลาสวายบ่อที่มีคาวจัด

แล้วเมื่อปรุงเป็นอาหารละ? ผมเองไม่ได้กินสวายที่ตกได้หนนี้สักตัว ก็เลยไม่รู้จะบรรยายสรรพคุณใดๆ แต่ไต๋ต้นบอกว่า เมนูที่แกกินประจำสำหรับปลาสวายแม่น้ำ ก็คือ “นึ่งมะนาว” ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ

ลองนึกภาพ “สวายบ่อนึ่งมะนาว” เห็นภาพเนื้อปลาที่มีมันเหลืองเยิ้มคาวหึ่ง ยังไงก็กระเดือกไม่ลง

(สมัยวัยฉกรรจ์ไปตามจีบสาวห้าง สาวสั่งแกงปลาสวายมากิน ผมก็กินด้วยอย่างเต็มใจ “ผมชอบปลาคาวๆ ครับ”)

‘ดอรี่’ เจ้าพระยา

เนื้อของปลาสวายแม่น้ำ แตกต่างจากเนื้อปลาสวายบ่ออย่างมีนัยสำคัญ คงเพราะวิถีชีวิตที่แหวกว่ายออกกำลังในกระแสน้ำตลอดเวลา บวกกับกินอาหารตามธรรมชาติ สลับอาหารสะอาดอย่างขนมปังแถวหน้าวัด ไม่ได้เฉื่อยแฉะอยู่ในน้ำนิ่ง กินเศษอาหารหมู

ผม “ไก่ เซียนตกน้ำ” และ “ไต๋ต้น เจ้าพระยา” เปิดประเด็นบนเรือ คุยกันถึงปลาดอรี่ (Dory) มันปลาอะไรกันแน่?

เซียนไก่กับไต๋ต้นพิจารณาจากลักษณะของเนื้อปลา มั่นใจว่าปลาดอรี่ ไม่ใช่ปลาสวาย ส่วนผมที่เคยกินปลาดอรี่มาเช่นกัน จำได้แค่ว่ามันอร่อยจริง แต่ไม่เคยใส่ใจจดจำลักษณะใดๆ จนไม่รู้จะเอาอะไรไปโต้แย้ง ก็ยังเชื่อมั่นในข้อมูลที่มีการเผยแพร่ออกมาตามสื่อ ปลา
ดอรี่ ก็คือ ปลาสวาย

พอสืบค้นข้อมูลแบบเอาจริง ผมเองเคลียร์ว่ามันคือปลาชนิดเดียวกันจริงๆ ปลาดอรี่มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า Pangasius Dory (แพนกาเชียส ดอรี่) ซึ่งผู้เลี้ยงที่เวียดนามกำจัดจุดอ่อนความเป็นปลาสวายที่มีคาวจัด ด้วยการใช้อาหารอย่างดี เลี้ยงในกระแสแม่น้ำไหล

เท่ากับว่าสภาพการเลี้ยงปลาดอรี่ คล้ายคลึงกับปลาสวายแม่น้ำตามธรรมชาติเลยละ

ทั้งนี้ทั้งนั้น คนญวนจะมีเคล็ดลับเพิ่มความอร่อย ลดความคาวให้ปลาดอรี่มากกว่าแค่วิธีการเลี้ยงหรือไม่ ต้องบอกว่าไม่ทราบ (แต่คงไม่ได้ล้างเนื้อปลาด้วยผงซักฟอก อย่างที่มีการแชร์ข้อมูลกันในไทยหรอก มีนักวิชาการยืนยันแล้วว่าไม่จริง)

เมื่อตามเข้าไปในเว็บ alibaba ที่พ่อค้าเวียดนามโพสต์ขายส่งปลาดอรี่แล่ ภาพประกอบนั้นชัดเจนว่าเป็นปลาสวาย แถมพวกยังลงชื่อเล่นปลาดอรี่ไว้ด้วยว่า Swai มันคือ “สวาย” ในภาษาไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ บ้านเรามีคนจุดพลุเปลี่ยนชื่อปลาสวายเป็น “ปลาโอเมก้า 3” ชูจุดขายที่ว่ามันมีไขมันโอเมก้า 3 มากกว่าปลาแซลมอนเสียอีก หวังจะเพิ่มกลุ่มลูกค้าคนอยากฉลาด แต่ไอเดียนี้ก็แป้กไป

ถึงตอนนี้ ผมอยากกลับไปตกปลาสวายแม่น้ำอีกรอบ ซึ่งก็คงจะ Catch and Release เหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคือ จะไม่ปล่อยหมดทุกตัวแบบหนที่แล้ว

เพราะตอนนี้อยากลองลิ้มรส “ดอรี่เจ้าพระยา” นะเซ่!