posttoday

ปีทองผลไม้ใต้ ราคาพุ่งรอบ 10 ปี

07 กรกฎาคม 2561

ปี 2561 ถือเป็นปีทองของผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียนจากภาคตะวันออกขายได้ราคาแพงแถมถูกพ่อค้าแม่ค้าสั่งจองยกสวน

โดย...อัสวิน ภักฆวรรณ

ปี 2561 ถือเป็นปีทองของผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียนจากภาคตะวันออกขายได้ราคาแพงแถมถูกพ่อค้าแม่ค้าสั่งจองยกสวน เช่นเดียวกับผลไม้จากภาคใต้ ซึ่งกำลังออกผลผลิตก็ถูกสั่งจองหมดแล้วทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ 

สุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา (สสก.ที่ 5) กล่าวว่า ฤดูกาลนี้ทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้จะให้ผลผลิตกว่า 2.78 แสนตัน เพิ่มขึ้นถึงกว่า 61% จากปี 2560 มังคุด ให้ผลผลิตกว่า 1.11 แสนตัน เพิ่มขึ้นถึงกว่า 104% เงาะให้ผลผลิตกว่า 8.4 หมื่นตัน มากกว่า 102% และลองกองให้ผลผลิตกว่า 7 หมื่นตัน หรือมากกว่า 613%

“ราคาผลไม้ในภาคใต้จะได้ราคาที่สูงขึ้น เพราะผลไม้มีคุณภาพ โดยเฉพาะที่ จ.ระนอง มังคุด ขายอยู่ที่ราคา 50-60 บาท/กิโลกรัม (กก.) ส่วนทุเรียน 100 บาท/กก. ถือว่าราคาดีมากถือว่าราคาพุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี” สุพิท กล่าว

ทั้งนี้ ผลผลิตส่วนใหญ่จะออกจำนวนมากในช่วงปลายเดือน ก.ค.-ส.ค. ประมาณ 30-40% ขณะที่ภาคใต้ตอนล่าง ทุเรียนจะยังให้ผลผลิตไปถึงเดือน ก.ย. ส่วนภาคใต้ตอนบนทุเรียนผลผลิตค่อนข้างจะเหลือ 30-40% แต่ก็มากกว่าปีที่แล้วในช่วงฤดูปกติ เพราะส่วนหนึ่งได้ทำการผลิตออกนอกฤดู หรือทุเรียนปลัง ไปก่อนแล้ว

สุพิท กล่าวอีกว่า นโยบายทำการผลิตแปลงใหญ่ตามที่รัฐบาลวางไว้ ในส่วนผลไม้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง และมีแนวโน้มว่าการทำแปลงใหญ่จะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ แปลงใหญ่ถึงจะมีพื้นที่กระจัดกระจายไม่ได้เป็นอุปสรรค เพราะการมาร่วมกันทำการผลิตจะมีคุณภาพได้มาตรฐาน และผลิตตามที่ตลาดต้องการ ผลิตเสร็จมีตลาดรองรับ

“ตอนนี้ทุเรียนภาคใต้ตอนล่างประสบความสำเร็จสูง เช่น ทุเรียนบ้านทรายขาว ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ตลาดต้องการทั้งหมด และมีคำสั่งจองหมดแล้ว และมีการวางระดับห้างสรรพสินค้าต่างๆ เช่น ที่ห้างท็อปส์ทั่ว
ภาคใต้และภาคกลางรวมทั้งในกรุงเทพฯ” 

ทั้งนี้ ผลไม้แปลงใหญ่ ตลาดนำการผลิต มีการผลิตได้ตามคุณภาพ ตามมาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ อีกทั้งทางการก็สามารถเข้าไปทำการส่งเสริมให้ความรู้ที่ดี ดูแล ควบคุมคุณภาพ และประสานเชื่อมโยงกับที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันทุเรียนแปลงใหญ่มีประมาณ 41 แปลง หรือประมาณ 1 หมื่นไร่ ซึ่งได้ขยายตัวเติบโตมากขึ้น เพราะความสำเร็จและราคาสูงเป็นมูลเหตุจูงใจ

ที่ผ่านมาสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จ.สงขลา ได้ประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายเกษตรกรภาคใต้และล้งรับซื้อทุเรียน เรื่องทุเรียนอ่อนมาขายผลเสียตามมาคือ ราคาตกและสร้างความเสียหายเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องวางมาตรการดำเนินการและการป้องกันร่วมกัน ปัจจุบันทางภาคใต้ปลูกทุเรียนมากที่สุด เช่น ที่ จ.ชุมพร ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นถึง 50%

อย่างไรก็ตาม นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ลดพื้นที่ปลูกยางพารา พร้อมชดเชย 1 หมื่นบาท/ไร่ หวังกระตุ้นให้เกษตรกรปลูกทุเรียน ทั้งมีโค่นเองและเข้าโครงการไทยนิยมยั่งยืน แต่ละจังหวัดของภาคใต้สามารถไปยื่นแบบความจำนงที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งเกษตรกรทั่วภาคใต้สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหากยังปลูกยางพารามีแต่ขาดทุนเพราะราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

ด้าน ต่อผา วินทิจักร เจ้าของร้านกะหยาม ผู้รับซื้อผลไม้รายใหญ่ หมู่ 3 บ้านด่านโลด ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวว่า ทางร้านจะรับซื้อผลไม้ทุกชนิดทุกฤดูกาล และตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.นี้จะเป็นฤดูกาลที่ผลไม้มังคุดเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งปัจจุบันราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 50 บาท/กก. เป็นราคาสูงสุดในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จนสร้างปรากฏการณ์ความพึงพอใจให้กับเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง

“ทุกๆ ปีที่ผ่านมา มีราคาตั้งแต่ 4 บาท 5 บาท 7 บาท/กก. และราคา 24 บาท/กก. ที่ถือว่าราคาที่สูงสุด ซึ่งเป็นมังคุดประจำฤดูกาล แต่ยกเว้นเฉพาะมังคุดนอกฤดูกาล หรือมังคุดปรัง ที่ผ่านมาราคาจะได้ดีมากสูงสุด 180-200 บาท/กก.”

ต่อผา กล่าวอีกว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากปีนี้มังคุดพุ่งขึ้น แม้ว่ามังคุดจะออกผลผลิตที่ปริมาณมาก บางต้นที่ขนาดใหญ่มีประมาณ 200-400 กก. และต้นขนาดเล็ก 30-100 กก. ซึ่งมีการเก็บมังคุดเป็นรายวันจนเกิดรายได้ที่ดี

สำหรับภาคใต้พื้นที่ปลูกทุเรียนมากคือ จ.ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา และระนอง ส่วน จ.ระนอง จะเป็นโซนกาแฟเดิมที่หันมาปลูกทุเรียนสายพันธุ์หมอนทองเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ จ.พัทลุง ปลูกปริมาณไม่มาก โดยพื้นที่ปลูกแหล่งใหญ่คือ อ.ศรีนครินทร์ ตะโหมด กงหรา และป่าพะยอม และ จ.สงขลา พื้นที่ปลูก อ.รัตภูมิ สะเดา สะบ้าย้อย และนาทวี

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรเริ่มทยอยปลูกกันมากขึ้นส่งผลให้ต้นเพาะพันธุ์ทุเรียนราคาขยับขึ้นเป็น 120 บาท/ต้น จากเดิมราคา 50 บาท/ต้น