posttoday

จุดเปลี่ยนของ LPN

28 กรกฎาคม 2561

ทีมผู้บริหารรุ่นที่ 2 ของบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) เพิ่งมารับไม้ต่อจากรุ่นบุกเบิก

โดย เจียรนัย อุตะมะ

ทีมผู้บริหารรุ่นที่ 2 ของบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) เพิ่งมารับไม้ต่อจากรุ่นบุกเบิก เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561 นำโดย โอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อภิชาติ เกษมกุลศิริ เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงด้านการเงิน และสุรวุฒิ สุขเจริญสิน เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงด้านกลยุทธ์ โดยทั้งอภิชาติและสุรวุฒินั้นเป็นผู้บริหารที่ได้รับการทาบทามจาก พิเชษฐ์ ศุภกิจจานุสันติ์ กรรมการ ให้เข้ามารับหน้าที่ใหม่ที่นี่

ทีมผู้บริหารทั้ง 3 คน เข้ามารับตำแหน่งได้ประมาณ 2 เดือน ปลายเดือน ก.ค. LPN ก็ประกาศความสำเร็จของกลยุทธ์ใหม่ โครงการ BAAN 365 ยอดขายทะลุ 1,600 ล้านบาท ยอดจองกว่า 50%

โอภาส กล่าวว่า เริ่มเปิดจอง BAAN 365 พระราม 3 เมื่อกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ยอดจองเกินกว่าเป้ายอดขายที่ตั้งไว้ 1,200 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2561 สะท้อนความสำเร็จจากการใช้โครงการนี้เป็นหนึ่งในการปรับกลยุทธ์จากการพัฒนาเฉพาะอาคารชุดพักอาศัยสำหรับกลุ่มเป้าหมายระดับบน-กลาง-ล่าง ไปสู่การพัฒนาบ้านพักอาศัยในระดับพรีเมียมเพิ่ม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการบ้านคุณภาพในเมืองสำหรับกลุ่มลูกค้าในระดับบน และรองรับกลุ่มลูกค้าคอนโดมิเนียมลุมพินีที่ขยายครอบครัว

จุดเปลี่ยนของ LPN

“การพัฒนาโครงการในย่านพระราม 3 นี้ ตอบโจทย์ความต้องการบ้านในเมืองสำหรับลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ตัดสินใจซื้อส่วนใหญ่เป็นเจ้าของธุรกิจคนไทยเชื้อสายจีนที่มีที่อยู่อาศัยเดิมในละแวกนี้ แต่ต้องการขยายครอบครัวเพื่อรองรับการอยู่อาศัยที่รวมคน 3 วัยไว้ด้วยกัน ทำให้บริษัทมั่นใจว่า สิ้นปี 2561 นี้บริษัทจะสามารถปิดการขาย พร้อมทยอยส่งมอบได้ทันที” โอภาส กล่าว

อภิชาติ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และปีนี้คาดว่าจะฟื้นตัว

นับว่าเป็นการเปิดตัวทีมบริหารรุ่นที่ 2 ด้วยข่าวดีของบริษัท

สุรวุฒิ เล่าว่า โจทย์ที่ได้รับมา คือ การต่อยอดจุดแข็งเดิมของบริษัท โดยได้จัดแพ็กเกจใน 4 เรื่อง คือ

เรื่องแรก กระจายความเสี่ยงลูกค้าและสินค้าให้มีความหลากหลาย จากเดิมสินค้าเป็นคอนโดเจาะลูกค้าที่มี
รายได้ปานกลางจนถึงระดับล่าง ได้มีการขยายประเภทสินค้าให้เป็นบ้านหรูอย่าง BAAN 365 ขยายเป็นสำนักงานขายและให้เช่าสำหรับลูกค้าองค์กร

สุรวุฒิ กล่าวว่า รุ่นบุกเบิกได้วางนโยบายการเปลี่ยนแปลงไว้แล้วโดยมีแนวคิดตั้งแต่ 2 ปีก่อน และรุ่นที่ 2 ได้เข้ามารับไม้ต่อ สานเป้าหมายให้เป็นจริงอย่างสำนักงานขายและให้เช่าได้เริ่มทำมาแล้วตั้งแต่โครงการที่วิภาวดี โครงการลุมพินี สุขุมวิท 24

เรื่องที่สอง ด้านรายได้ใหม่ เดิมทำที่อยู่อาศัยเพื่อขายอย่างเดียว ปัจจุบันให้เช่าด้วยเพื่อสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง อย่างโครงการคอนโดที่รังสิต ได้มีการปล่อยเช่าบางส่วน หลังจากนั้นอาจมีการขายทรัพย์สินให้กองทุนอสังหาริมทรัพย์นำไปบริหารเพื่อลดความเสี่ยง โครงการลุมพินี คอนโดทาวน์ รังสิต คลอง 1 มี 8 ตึก พื้นที่กว่า 100 ไร่ 1 หมื่นยูนิต เดิมขายอย่างเดียว ขายได้ช้าเพราะมีเพียงกลุ่มผู้ที่ต้องการอยู่อาศัยมาซื้อ ปัจจุบันนี้เริ่มปล่อยเช่า ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดี มีนักลงทุนเข้ามาซื้อเพื่อปล่อยเช่ามากขึ้น

จุดเปลี่ยนของ LPN

เรื่องที่สาม การสร้างความแตกต่างด้านการบริการ การสร้างชุมชนน่าอยู่ นำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับชุมชนเชื่อมต่อกับลูกค้าโครงการ เช่น แอพพลิเคชั่นไลน์

เรื่องที่สี่ ลดความสูญเสียของห่วงโซ่ทุกสายงาน เช่น การอนุมัติซ้ำซ้อนหลายขั้นตอน เพื่อลดต้นทุนด้วยการเพิ่มความรวดเร็ว และดีต่อโลก เช่น โครงการเพื่อสังคม ลดการใช้ถุงพลาสติก ประหยัดพลังงาน โดยช่วงนี้อยู่ระหว่างการวางรากฐานโดยใช้ไอที

สุรวุฒิ วัย 43 ปี เป็นลูกเขยของพิเชษฐ์ อดีตผู้นำ LPN ยุคบุกเบิก มีประสบการณ์ในวงการธุรกิจมานับ 20 ปี

เขาจบปริญญาโท บริหารธุรกิจ จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ และวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการทางวิศวกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทางวิศวกรรม มหาวิทยาลัยวอริก สหราชอาณาจักร และปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

ก่อนหน้าที่จะเข้า LPN เขาเป็นหัวหน้าฝ่ายวางแผนและพัฒนาธุรกิจ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จากก่อนหน้านั้นเป็นผู้จัดการระดับสูงด้านปฏิบัติการ บริษัท เรนอร์ คอนซัลติ้ง ดูแลบริษัททั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่ด้านการปฏิบัติการ บริษัทสตาร์ทอัพ Gamenet Asia บริษัทด้านสื่ออินเทอร์เน็ต และริเริ่มพัฒนาโปรแกรมบนมือถือ เคยเป็นที่ปรึกษาบริษัท Accenture (ประเทศไทย, ฮ่องกง) จากการที่เริ่มงานแรกจากการเป็นวิศวกรระบบที่บริษัท C HARTERED SEMICONDUCTOR

จุดเปลี่ยนของ LPN

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) คงคำแนะนำซื้อเก็งกำไร นักลงทุนระยะยาวสามารถถือรับปันผลที่จ่ายปีละ 2 ครั้ง และผลตอบแทนจากเงินปันผลปีละ 5%+/- และรอผลประกอบการไตรมาส 4 ที่จะดีที่สุดของปี และนักลงทุนระยะสั้นในไตรมาส 3 สามารถซื้อเก็งกำไร รับยอดจองที่คาดว่าจะดีขึ้นจากไตรมาส 2 โดยให้ราคาเป้าหมายปีนี้อยู่ที่ 12.20 บาท/หุ้น

ภายหลังเยี่ยมชมโครงการ BAAN365 แนวราบระดับหรู เมย์แบงก์มีมุมมองเป็นกลางถึงบวกจากการขยาย ประเภทและสินค้าใหม่ของ LPN เพื่อกระจายความเสี่ยงของความต้องการคอนโดที่ช่วงที่ผ่านมาอ่อนตัว โครงการนี้มีมูลค่าโครงการ 3,200 ล้านบาท ราคาขาย 18-80 ล้านบาท/หลัง เปิดเฟส 1 มูลค่า 1,600 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในจุดที่กังวล คือระดับอัตรากำไรขั้นต้น อยู่ที่ 27-29%ยังเป็นระดับที่ไม่เด่นหากเทียบกับคอนโด แต่มีโอกาสที่โครงการ BAAN 365 โครงการต่อไปจะมีอัตรากำไรขั้นสูงขึ้น ยอดจองเป้าหมายขึ้นกับโครงการในไตรมาส 3 ปี 2561 ยอดจองเป้าหมายของปีนี้ยังมีความเสี่ยงจากครึ่งแรกปี 2561 ที่คาดว่าจะทำได้ประมาณ 40% ของเป้าปีนี้อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 12%

แม้โครงการแนวราบจะทำได้ดีแต่เป้าขายของแนวราบต่อเป้า ยอดจองรวมมีเพียง 10-15% ดังนั้น ต้องเน้นการขายจากคอนโดและสินค้าใหม่ คือ สำนักงานคอนโดในไตรมาส 3 ปี 2561 มาหนุน จึงคงประมาณการรายได้ของปีนี้อยู่ที่11,250 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากปี 2560 กำไรสุทธิเท่ากับ 1,454 ล้านบาท สะท้อนการฟื้นตัวเด่น 37% และคาดว่าทิศทางผลประกอบการไตรมาส 2 จะดี จาก 2 โครงการใหม่สร้างเสร็จและส่วนต่อเนื่องของไตรมาสแรกและในไตรมาส 4 คาดว่าจะเด่นสุดของปีจาก 5 โครงการใหม่สร้างเสร็จ

ด้านนักวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ แนะนำให้ถือหุ้น LPN เพราะกังวลงานในมือและให้มูลค่าที่เหมาะสม 13.30 บาท