posttoday

สภาพัฒน์เผยอาชญากรรมไตรมาส 2 ยังพุ่งสูง กว่า 80% เป็นคดียาเสพติด

31 สิงหาคม 2561

สภาพัฒน์เผยอาชญากรรมไตรมาส 2 ยังพุ่งสูง ชี้กว่า 80% เป็นคดียาเสพติด ทำนักโทษล้นคุกเป็นแสนคน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ แนะปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาท เพิ่มทางเลือกบทลงโทษมากกว่าแค่ปรับและจำคุก

สภาพัฒน์เผยอาชญากรรมไตรมาส 2 ยังพุ่งสูง ชี้กว่า 80% เป็นคดียาเสพติด ทำนักโทษล้นคุกเป็นแสนคน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ แนะปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาท เพิ่มทางเลือกบทลงโทษมากกว่าแค่ปรับและจำคุก

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2561 สำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือสภาพัฒน์ ได้รายงานภาวะสังคมไทย ประจำไตรมาสที่2 ปี 2561  โดยนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ เปิดเผยว่า ในส่วนของการจ้างงานและหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีโดยพบว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้น 0.9% ขณะที่การว่างงานลดลงเหลือ 1.1%   จาก 1.2%  ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการกู้ยืมสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภคเพิ่มขึ้น 10.3% แต่ความสามารถในการชำระหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในเกณฑ์ดีโดยสัดส่วนหนี้เสียอยู่ในระดับต่ำที่ 2.72%  

แต่แม้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจจะดีขึ้นแต่ปรากฏว่าจำนวนการก่ออาชญากรรมยังคงเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่2  เพิ่มขึ้นถึง 34.1% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2560 โดยคดีชีวิตร่างกายและเพศ คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ลดลง 3% และ 9.2% ตามลำดับ แต่คดีที่เพิ่มขึ้นมากคือคดียาเสพติดเพิ่มขึ้น 46.5%  หรือคิดเป็น 84% ของคดีอาญารวม 

ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่หน่วยงานภาครัฐเฝ้าระวัง สกัดกั้น ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด นำไปสู่การเปิดปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมกำหนด การขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภายใต้แผนประชารัฐร่วมใจ ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2561 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดปริมาณผู้เข้าสู่การกระทำผิด อีกทั้งนำคนออกจากวงจรการกระทำผิดอันเกี่ยวกับยาเสพติดให้เห็นอย่างชัดเจน และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และสังคม การขจัดปัญหายาเสพติด ให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการช่วยเหลือผู้เสพยาเสพติดซึ่งถือเป็นเหยื่อของผู้ค้ายาเสพติดควรได้รับโอกาสและการบำบัดรักษา เพื่อให้มีโอกาสได้กลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสังคม

สภาพัฒน์เผยอาชญากรรมไตรมาส 2 ยังพุ่งสูง กว่า 80% เป็นคดียาเสพติด

นายทศพร กล่าวว่า สำหรับประเด็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาชญากรรมนั้น ยังพบว่าขณะนี้ไทยมีปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ  โดยปัจจุบันไทยมีผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ3 ของทวีปเอเชีย โดยเป็นรองแค่ประเทศจีนและประเทศอินเดียและมีอัตราผู้ต้องขัง 514 คนต่อประชากรแสน สูงเป็นลำดับ 5 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย โดยในช่วง 10 ปีมานี้จำนวนผู้ต้องขังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 201,829 คน ในปี 2552 เป็น 355,543 คน ในปี 2561 ขณะที่เรือนจำสามารถรองรับผู้ต้องขัง ได้ประมาณ 200,000 คน ก่อให้เกิดความแออัดในเรือนเกิดปัญหาความไม่เพียงพอของเจ้าหน้าที่โดยมีอัตราส่วนเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องขัง 1 ต่อ 27 คน (เจ้าหน้าที่ 13,000 คน) ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานที่สหประชาชาติที่กำหนด 1 ต่อ 5 คน ส่งผลต่อการควบคุมและการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัย และการกระทำความผิดซ้ำ ตลอดจนภาระงบประมาณจำนวนมากและต้นทุนค่าเสียโอกาสจากกำลังแรงงานที่หายไปจากระบบเศรษฐกิจ 

เมื่อจำแนกตามประเภทส่วนใหญ่เป็นนักโทษเด็ดขาด 287,601 คน คิดเป็น 80.9% ของผู้ต้องขังทั้งหมด เป็นผู้ต้องขังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดี 65,605 คน หรือ 18.5% โดยส่วนใหญ่หรือประมาณ 70% เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด

ทั้งนี้ ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกฎหมายไทยใช้กระบวนทางอาญาในการระงับข้อพิพาทเป็นหลัก แม้ว่าพฤติกรรมนั้นจะเป็นเพียงการกระทำที่เป็นความผิดที่ไม่ใช่อาชญากรรมโดยแท้ เช่น การผิดกฎจราจร การจ่ายเช็คที่ไม่มีเงินในบัญชี และหมิ่นประมาท ฯลฯตลอดจนการกำหนดโทษที่ยังขาดทางเลือกซึ่งส่วนใหญ่เป็นจำคุกและปรับ โดยโทษปรับมักกำหนดต่ำกว่าระดับที่เหมาะสมมากเนื่องจากไม่ได้ปรับตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้มีการเลือกลงโทษเป็นจำคุก จนก่อให้เกิดปัญหาคดีล้นศาลและผู้ต้องขังล้นเรือนจำ 

สภาพัฒน์เผยอาชญากรรมไตรมาส 2 ยังพุ่งสูง กว่า 80% เป็นคดียาเสพติด

นอกจากนี้ คดียาเสพติดซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการกระทำผิดกฎหมายมีความแข็งตัว ไม่ตรงกับพื้นฐานความเป็นจริง เช่น การกำหนดนิยาม “ผู้ผลิต” “ผู้จำหน่าย” ที่กำหนดผู้ครอบครองยาเสพติดมากกว่า 15 เม็ด เป็นผู้ครอบครองเพื่อจำหน่ายรวมทั้งถ้านำมาแบ่งแม้จะเพื่อเสพจะเข้าข่ายเป็นผู้ผลิตตามที่กำหนดให้แบ่งบรรจุเป็นผู้ผลิต ซึ่งได้รับโทษที่ต่างกันมาก หรือกรณีนำเข้าไม่มีการแบ่งเพื่อใช้เองหรือเพื่อขาย ทำให้ผู้เสพได้รับโทษสูงเท่ากับผู้ค้า และเป็นผู้ต้องขังกว่า30%

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำจึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย เช่น การให้ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณา (กรณีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสังคมหรือทำให้คดียุ่งเหยิง) อยู่นอกเรือนจำมากขึ้น การมีกฎหมายให้ผู้ถูกตัดสินคดีอาชญากรรมที่ไม่ร้ายแรงและไม่มีประวัติอาชญากรรมอีกเลยหลังรับโทษเป็นระยะ 5 ปี ได้รับการรับรองว่าไม่มีประวัติอาชญากรรม ฯลฯ การบูรณาการงานทุกภาคส่วนเพื่อให้การแทรกแซงก่อนและหลังปล่อยตัวผู้ต้องขังมีประสิทธิภาพ การสร้างความรู้และปรับทัศนคติประชาชน ตลอดจนการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการอบรมฟื้นฟู ดูแล และให้โอกาสอดีตผู้ต้องขังเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ