posttoday

ชุมชน‘บางหญ้าแพรก’ รักษ์ป่าชายเลนยั่งยืน

16 กันยายน 2561

บนเส้นทางการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน ซึ่งวัดผลดำเนินงานด้วยการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม

บนเส้นทางการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน ซึ่งวัดผลดำเนินงานด้วยการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่ประกอบธุรกิจให้ดีขึ้น สร้างชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร  (ซีพีเอฟ) ส่งเสริมให้หน่วยธุรกิจซีพีเอฟทั่วประเทศมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
 
สถานีส่งเสริมอาชีพชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลน ที่ ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร เป็นความสำเร็จจากการส่งเสริมการรวมตัวที่เข้มแข็งของคนในชุมชน ต.บางหญ้าแพรก และการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐและ เอกชนในพื้นที่ ร่วมกันสร้างกระบวนการพึ่งพาตนเองให้แก่ชุมชน ต่อยอดจากการดำเนินโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ซึ่งซีพีเอฟมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าชายเลน อนุรักษ์ และฟื้นฟูป่าในพื้นที่ ด้วยการสร้างเครือข่ายชุมชนดูแลป่าชายเลน ฝึกอาชีพคนในชุมชนตามความพร้อม และความต้องการของชุมชน สร้างรายได้ แหล่งท่องเที่ยวของชุมชน และตั้งเป็น “กองทุนชุมชนป่าชายเลน โครงการปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร” 
 
ชาวชุมชน ต.บางหญ้าแพรก และคณะกรรมการชุมชนอนุรักษ์ป่าชายเลน รวมตัวเปิดสถานีส่งเสริมอาชีพอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน มี.ค. 2560 หลังจากที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2559 โดยมีซีพีเอฟสนับสนุนงบประมาณดำเนินการและค่าใช้จ่ายควบคู่ไปกับสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนดูแลป่าชายเลนในพื้นที่ ซึ่งตั้งแต่ปี 2557-2561 ซีพีเอฟ ชุมชน และภาคีเครือข่าย สามารถเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าชายเลนเป็นพื้นที่ปลูกใหม่ ที่ ต.บางหญ้าแพรก รวม 104 ไร่ ความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าชายเลนที่กลับคืนมานำมาสู่การสร้างอาชีพและการสร้างรายได้เสริมให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
 

ชุมชน‘บางหญ้าแพรก’ รักษ์ป่าชายเลนยั่งยืน

 
สถานีแห่งนี้ยังเป็นทั้งศูนย์เรียนรู้ พัฒนาความคิดริเริ่ม และเสริมสร้างศักยภาพตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกลุ่มสมาชิกในการลงทุนพัฒนาอาชีพของคนในชุมชน
 
“ผมมีพื้นที่ตรงนี้อยู่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร จึงให้ใช้เป็นสถานีส่งเสริมอาชีพชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านใช้เป็นศูนย์เรียนรู้และเป็นที่ถ่ายทอดความรู้เรื่องการปลูกพันธุ์ไม้ ส่วนผลิตภัณฑ์ของชุมชน เช่น ผลิตภัณฑ์ถ่านไบโอชาร์ ปุ๋ยชีวภาพนาโนไบโอชาร์ สามารถจำหน่ายให้ผู้สนใจสั่งซื้อมีรายได้เข้ากองทุน” วิรัตน์ ยอนยิ่ง ปราชญ์ชุมชนที่ให้ใช้พื้นที่ 1 ไร่ เปิดเป็นสถานีส่งเสริมอาชีพชุมชน เล่า
 
ช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชนมีทั้งซีพีเอฟเข้ามารับซื้อโดยตรง เช่น ปุ๋ยชีวภาพนาไบโอชาร์ ของชำร่วยที่ทำจากถ่านไบโอชาร์ ชุมชนรับไปจำหน่าย คณะทำงานของซีพีเอฟนำผลิตภัณฑ์มาช่วยขายที่บริษัท และชุมชนจำหน่ายเองที่สถานีส่งเสริมอาชีพฯ เมื่อมีนักท่องเที่ยวและผู้ที่เข้ามาดูงานผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของชุมชนที่สร้างรายได้เข้ากองทุน อาทิ ผลิตภัณฑ์จากถ่านไบโอชาร์ ซึ่งมีคุณสมบัติดูดซับกลิ่นได้ดี ราคาจำหน่ายตั้งแต่ 10-80 บาท ขึ้นอยู่กับแบบถ่านไบโอชาร์ กิโลกรัมละ 150 บาท ถ้าเป็นลูกทรงผลไม้ ราคาจำหน่ายจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งทำมาจากกล้วย น้อยหน่า ลูกโพธิ์ทะเล หงอนไก่ทะเล ฝักโกงกาง เป็นต้น ปุ๋ยชีวภาพนาโนไบโอชาร์ ราคาจำหน่ายถุงละ 35 บาท ขนาดบรรจุ 2 กิโลกรัม หรือ 3 ถุง ราคา 100 บาท ต้นลำแพนราคา 250-300 บาท ขนาดความสูงประมาณ 40-50 ซม. เป็นต้น
 

ชุมชน‘บางหญ้าแพรก’ รักษ์ป่าชายเลนยั่งยืน

 
รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนฯ ตั้งแต่ปลายปี 2559 จนถึงกลางปี 2561 มีรายได้เข้ากองทุนแล้วรวม 1.2 แสนบาท มาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากถ่านไบโอชาร์ 2.77 หมื่นบาท ปุ๋ยชีวภาพนาโนไบโอชาร์ 6.7 หมื่นบาท ต้นลำแพน 1.3 หมื่นบาท ผักและผลไม้ 8,300 บาท เกลือ 500 บาท ถ่านไบโอชาร์ 2,200 บาท และอีกส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งเพิ่งเริ่มทำได้ไม่นานนัก
 
“กองทุนชุมชนป่าชายเลน โครงการปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร” ยังมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารกองทุน 13 คน ประกอบด้วย สมาชิกสภาเทศบาล 4 คน ผู้ใหญ่บ้าน1 คน ตัวแทนชุมชน 3 คน ตัวแทนจากซีพีเอฟ 5 คน กำหนดแนวทางการจัดสรรกำไร แบ่งเป็น เป็นเงินประกันความเสี่ยง 20% เงินตอบแทนแก่คณะกรรมการกองทุน 10%  เป็นทุนเพื่อสมทบกองทุน 10%  เป็นทุนเพื่อพัฒนาอาชีพและคณะกรรมการกองทุนและสมาชิก 15%  เป็นทุนเพื่อสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน 10%  อื่นๆ ตามคณะกรรมการกองทุนเห็นสมควร 5%  เป็นเงินปันผลค่าหุ้น 15% เป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้กู้ 5% และ  เป็นทุนเพื่อจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก 10%
 
ปรีชา มีนิล รองกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟมองว่าการทำให้ป่าอยู่อย่างยั่งยืนได้ต้องทำให้ชุมชนแข็งแรงด้วย ส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้โดยขยายผลจากการปลูกป่าชายเลน เมื่อชุมชนมีรายได้ความยั่งยืนก็จะเกิดขึ้น การสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ป่า ก็จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยว รายได้ก็จะเข้ามาสู่ชุมชนด้วย
 

ชุมชน‘บางหญ้าแพรก’ รักษ์ป่าชายเลนยั่งยืน

 
นอกจากสร้างชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเอง สร้างอาชีพเสริมเพื่อให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืนแล้ว ซีพีเอฟร่วมมือกับบริษัท โลเคิล อไลค์ กิจการเพื่อสังคมเพื่อส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวชุมชน โดยที่ทางโลเคิล อไลค์ จะร่วมกับชาวบ้านหาจุดเด่นของชุมชนเพื่อดึงออกมาสร้างเป็นแพ็กเกจท่องเที่ยวและพัฒนาชาวบ้าน เพื่อให้สามารถจัดการการท่องเที่ยวชุมชนด้วยตัวเอง ซึ่งรายได้ที่ได้รับชุมชนจะได้รับส่วนแบ่ง 70% ขณะที่บริษัทและชุมชนจะแบ่งรายได้ 5% จากส่วนของตนมาสมทบในกองทุนของชุมชนด้วย ทั้งซีพีเอฟและโลเคิล อไลค์ นำร่องเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ใน 2 จังหวัด คือ จ.สมุทรสาคร และระยอง
 
ณฐมน กะลำพะบุตร  ผู้จัดการสำนักด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการท่องเที่ยว จึงร่วมมือกับ โลเคิล อไลค์ มาช่วยเติมเต็มในสิ่งที่เราไม่ถนัด คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้พื้นที่ที่มีคุณค่า ให้คนทั่วไปได้รู้จัก ได้มาสัมผัส โลเคิล อไลค์ จะช่วยสร้างเครือข่ายในระดับวงกว้าง
 
“การท่องเที่ยวชุมชนนับได้ว่าเป็นการช่วยหน่วยสังคมระดับครอบครัวและระดับชุมชนได้อย่างแท้จริง หากทำสำเร็จจะให้ประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง” ผู้จัดการสำนักด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซีพีเอฟ กล่าว
 

ชุมชน‘บางหญ้าแพรก’ รักษ์ป่าชายเลนยั่งยืน

 
ผลที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวชุมชน ทำให้ผืนป่าชายเลนในพื้นที่ได้รับอนุรักษ์และดูแลโดยชุมชนตลอดไป ชุมชนมีอาชีพ มีรายได้จากการท่องเที่ยว มีกองทุนที่พร้อมนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ร่วมกัน นักท่องเที่ยวเองมีความภาคภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการร่วมอนุรักษ์ทรัพยาธรธรรมชาติจากเงินส่วนหนึ่งที่ถูกปันเข้ากองทุน