posttoday

‘เกอ’อาวุธพิเศษของจีน

07 ตุลาคม 2561

ในบรรดาอาวุธพื้นฐานยุคโบราณที่ชาวโลกใช้ มักไม่พ้น กระบอง ขวาน หอก มีด ดาบ ธนู

ในบรรดาอาวุธพื้นฐานยุคโบราณที่ชาวโลกใช้ มักไม่พ้น กระบอง ขวาน หอก มีด ดาบ ธนู ซึ่งทุกกลุ่มอารยธรรมสามารถออกแบบอาวุธพื้นฐานข้างต้นได้เหมือนกัน โดยแทบไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ ลอกเลียน หรือรับแรงบันดาลใจจากอารยธรรมอื่นแต่อย่างใด

หากจะมีอาวุธพิสดารเสริมสีสัน ถ้าไม่ใช่การนำอาวุธพื้นฐานมาดัดแปลงให้ตรงนี้ใหญ่นิด ตรงนั้นเล็กหน่อย เพิ่มโค้งเพิ่มห่วงเข้าไป ก็มักจะใช้กันเป็นจำนวนน้อย ไม่เป็นที่นิยมในวงกว้าง

อย่าลืมว่าในศึกสงครามยุคโบราณที่ใช้ปริมาณทหารเข้าฟาดฟัน นอกจากอาวุธจะต้องใช้งานได้ดีแล้ว อาวุธที่ผลิตได้เร็ว ประหยัด ใช้งานง่าย ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยของอาวุธที่มีประสิทธิภาพ

แต่มีกรณีประหลาด นับพันปีช่วงก่อนยุคราชวงศ์ฉิน (221-207 ปีก่อน ค.ศ.) มีอาวุธชนิดหนึ่งที่แตกต่างจากชาวบ้าน ซึ่งใช้กันอย่างกว้างขวางเฉพาะแถบดินแดนจีนเท่านั้น

อาวุธชนิดนั้นมีชื่อว่า “เกอ (戈)”

เกอ เป็นเสียงภาษาจีนไม่มีคำแปลเป็นไทย มีการใช้ตั้งแต่สามพันปีก่อน แต่คงเพราะใช้กันอยู่แต่ในจีนและเสื่อมความนิยมไปเนิ่นนาน จึงไร้คำเรียกเฉพาะทั้งในภาษาไทยและภาษาอื่น

เกอ มีด้ามจับเป็นไม้พลอง ตรงปลายไม้ประกอบเข้ากับหัวโลหะใบแหลม 2 คม แต่แทนที่ปลายแหลมจะพุ่งขนานแท่งไม้ กลับติดตั้งฉากขวางแนวแทง ก้ำกึ่งระหว่างขวาน หอก เคียว ดูใช้งานยากอยู่สักหน่อย

ต้องอธิบายก่อนว่า อาวุธระยะประชิดที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในอารยธรรมโบราณอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ กรีก โรมัน เปอร์เซีย อินเดีย ฯลฯ มักเป็นอาวุธประเภทหอกทั้งสิ้น เพราะหอกมีทั้งประสิทธิภาพในการใช้งานและการผลิต

หอกใช้งานง่าย การเคลื่อนที่เพียงจังหวะเดียวก็เพียงพอจะส่งแรงทั้งหมดไปที่ปลายเล็กแหลมได้เต็มกำลัง ทำให้หอกมีอำนาจการทะลุทะลวงสูง หอกยังใช้ออกอาวุธได้ตั้งแต่ระยะไกล หอกยิ่งยาวได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้เปรียบด้านระยะการต่อสู้มากขึ้นเท่านั้น

แต่หากด้ามหอกยาวเกินไปจะสูญเสียความคล่องตัว พกพายาก หนัก อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นอาวุธระยะประชิดที่มีรัศมีการใช้งานไกลสุด บางอารยธรรมจึงยังยินดีที่จะยอมหนัก ยอมเทอะทะ ใช้หอกยาวขนาดใหญ่ ตั้งยันไว้นิ่งๆ รอการปะทะ ก็ถือว่ายังคุ้มค่ากับการใช้

เทียบกับดาบหรือกระบี่ หอกยังประหยัดโลหะมากกว่าอีกด้วย

หอกจึงอยู่คู่กับประวัติศาสตร์สงครามมายาวนานหลายพันปี และกว่าจะก้าวลงจากเวทีสงครามในประวัติศาสตร์ ก็เมื่อปืนถูกประดิษฐ์มาได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์แบบแล้ว

แล้วทำไมจีนจึงเลือกใช้ “เกอ”

คำตอบนี้ไม่มีบันทึกบอกไว้โดยตรง คนยุคใหม่จึงต้องสันนิษฐานกันเอาเอง

หลายคนสันนิษฐานว่า เพราะรูปแบบสงครามของจีนยุคโบราณต่อสู้ด้วยรถศึก

ก่อนยุคฉิน จีนใช้รถศึกเทียมม้าเป็นกำลังสำคัญ ตัวรถศึกนั้นประกอบด้วย ม้า รถ คนขับ พลธนู และนักรบที่คอยต่อสู้ระยะประชิด

แน่นอนว่าระยะประชิดที่ว่าไม่ได้หมายถึงการเข้าปะทะกันตรงด้านหน้า ที่จริงก็ไม่ต่างกับทหารม้าที่การปะทะกันระหว่างรถศึกเกิดขึ้นด้านข้าง

เป้าหมายของรถศึกจึงมิได้มีไว้พุ่งชน แต่มีไว้ให้ขับเฉียดกันในระยะพอควร

หากไม่นับการยิงธนูเข้าใส่ ยุทธวิธีการกำจัดรถศึกฝ่ายตรงข้ามให้ได้ จึงอยู่ที่จังหวะรถศึกขับเฉี่ยวกัน ซึ่ง “เกอ” มีส่วนสำคัญในวินาทีเช่นนี้

ในวินาทีที่รถศึกสวนกัน ขอเพียงนักรบจับยึดด้ามเกอให้มั่น แล้วยื่นปลายเกอให้ถึงฝ่ายตรงข้าม ถ้าลงตัวเกอจะปักลงบนร่างกายทหารอีกฝ่ายโดยตรง หรือหากไม่ ก็ขอให้มีอวัยวะที่โชคร้ายส่วนใดส่วนหนึ่งของฝ่ายตรงข้ามอยู่ในรัศมีวงเกอ ซึ่งในที่สุดปลายเกอก็จะเกี่ยวและเฉือนอวัยวะด้วยแรงปะทะของรถศึกให้เอง

รูปแบบของเกอยุคหลังจึงวิวัฒนาการให้ใบเกอมีคมและโค้งเว้าตั้งแต่ด้านตั้งฉากกับด้ามพลองทั้งสองด้านเรื่อยมาถึงส่วนขนานกับตัวพลอง เพิ่มโอกาสการทำร้ายฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเอาคมนอกเข้าเชือด เอาใบแหลมเข้าปัก หรือเอาตรงเว้าเข้าเฉือน

กรณีหลังขอให้นึกภาพถึงเคียวเกี่ยวข้าว

ในขณะที่การใช้หอกบนรถศึกกลับมีประสิทธิภาพน้อยกว่า เพราะมีโอกาสทิ่มแทงได้เพียงไม่กี่วินาทีสั้นๆ ในระยะห่างเป็นเมตร

เกอไม่เพียงแต่ใช้ได้ดีระหว่างรถศึกกับรถศึก แต่ระหว่างทหารราบกับรถศึกก็ใช้ได้ด้วยเช่นกัน ทั้งใช้เกี่ยวใช้ยัน ต่างสร้างรอยแผลลึกให้กับคู่ต่อสู้ทั้งสิ้น

รูปแบบสงครามที่ขับรถศึกเข้าประชิดรถศึกหรือกลุ่มทหารราบ จึงทำให้เกอสำแดงอานุภาพสูงสุดด้วยเหตุฉะนี้ ขณะที่บทบาทของรถศึกในสงครามของอารยธรรมอื่น มักจะใช้วิ่งทิ้งระยะไว้ไกลๆ แล้วยิงธนูหรือพุ่งหอกใส่ศัตรูแทน

แต่แล้วเกอก็เริ่มหมดความนิยมจากสองปัจจัย คือการทำสงครามด้วยรถศึกหมดความนิยมลง (เน้นทหารม้าทหารราบแทน) และการเข้ามาของเกราะเหล็ก

การเชือดเฉือนด้วยเกอจะมีประสิทธิภาพ ก็ต่อเมื่อได้ปะทะกับสิ่งที่มีลักษณะเหนียวนุ่ม ในก่อนยุคฉินที่ทหารยังใช้เกราะหนัง หรือไม่ก็ไร้เกราะ เกอย่อมใช้งานได้ดี

แต่ช่วงยุคฉิน การพัฒนาอาวุธที่ทำจากเหล็ก ก่อให้เกิดเกราะเหล็กซึ่งแข็งกว่าเกราะหนัง แม้ใบเกอจะคมขนาดไหน การเฉือนก็ไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป การใช้คมหอกปักเข้าไป ย่อมมีสิทธิทะลุทะลวงเกราะได้มากกว่า

คิดภาพว่าเอาแท่งเหล็กทื่อๆ ทิ่มกระทะ ยังดีกว่าเอาคมมีดเฉือนกระทะแน่นอน อาวุธแทงจึงต้องเข้ามาแทนที่ จากยุคฉินเป็นต้นมา เกอจึงถูกวิวัฒนาการให้มีปลายแหลมผสมไปด้วย โดยเรียกอาวุธประเภทนี้ว่า “จี่” (戟) (ขุนพลยุคสามก๊กหลายคนใช้อาวุธประเภทนี้ประจัญบาน) จี่เป็นอาวุธในยุคเปลี่ยนผ่าน ที่ยังไม่ทิ้งของเก่า แล้วลองดัดแปลงของใหม่ใส่ลงไป และในที่สุดด้วยรูปแบบสงครามที่เปลี่ยนไป และเพื่อลดปริมาณโลหะซึ่งเป็นทั้งภาระด้านน้ำหนักและความสิ้นเปลือง ส่วนเป็นเกอก็ถูกตัดทิ้งแล้วกลายเป็นหอกในที่สุด

บางคนถกเถียงว่าข้อสันนิษฐานนี้ผิดเพี้ยน เพราะจีนมีหลักฐานการใช้เกอมาแพร่หลายยาวนานตั้งแต่ก่อนจะมีรถศึก เกอจึงน่าจะเป็นอาวุธที่พัฒนามาจากขวาน แต่เพื่อการประหยัดโลหะจึงลดใบขวานเหลือเท่าใบกริชแทน แต่ข้อถกเถียงข้างต้นเป็นเรื่องที่มาของเกอ แต่ไม่ได้ปฏิเสธบทบาทของเกอที่ใช้ในสงครามรถศึกแต่อย่างใด

จีนเป็นอารยธรรมที่ประวัติศาสตร์ผสานกับศิลปะท้องถิ่นและวรรณกรรมอย่างเข้มข้น บ่อยครั้งอาวุธหน้าตาพิสดารของจีนหลายอย่างซึ่งถูกอุปโลกน์ว่าเป็นอาวุธพิเศษ พิสดาร ที่จริงมักมีไว้ก็เพียงเพื่อร่ายรำ ประดับบารมีหรือไม่ก็ประกอบการแสดงงิ้วแสดงปาหี่เท่านั้น แต่ศักยภาพในการใช้งานจริงกลับไม่เคยมีปรากฏให้เห็น

หลักการใช้อาวุธที่ใช้ในปาหี่บางทียิ่งไปกันใหญ่ เอาอาวุธสำหรับเฉือนมาใช้ฟัน เพื่อหลอกแสดงปาฏิหาริย์ว่าหนังเหนียวเท่านั้นเอง

หากจะหาอาวุธจริงจังประเภทใดที่ถือว่าเป็นอาวุธพิเศษของจีนแล้วละก็ คงจะมี “เกอ” นี่แหละ ที่เป็นอาวุธพิเศษนอกเส้นทางประวัติศาสตร์สงครามของอารยธรรมโบราณในโลกใบนี้