ระฆังแห่งสติ
เสียงระฆังดังถึงหัวใจ : การถอยคือการมีสติ ขันติ และสันติ
โดย พระปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร
“เสียงระฆังดังถึงหัวใจ : การถอยคือการมีสติ ขันติ และสันติ : สิ่งใดพร่องสิ่งนั้นจะดัง สิ่งใดเต็มสิ่งนั้นจะเงียบ : ต้นแบบของวัดในการใช้พุทธสันติวิธี : ศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง”
ท่ามกลางกระแสเสียงระฆังของวัดอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมายาวนานกว่า 300 ปี กับผู้อาศัยในคอนโดบางคนมองว่าเป็นการรบกวนจึงมีการร้องเรียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนเป็นเสียงการวิพากษ์วิจารณ์ ถือว่าเป็นกระแสมากที่สุดในปัจจุบัน ด้วยการแสดงออกผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หรือมองแบบกลางๆ เพื่อประสานการอยู่ร่วมกันในโลกใบนี้ จึงมองว่าทุกยุคทุกสมัย “ศาสนาจะถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง”มาโดยตลอด เพราะศาสนาเป็นความเชื่อความศรัทธาของแต่ละบุคคล โดยมีวิถีปฏิบัติที่มีความแตกต่างกัน จึงง่ายที่สุดจะสร้างความขัดแย้ง
ในฐานะศึกษาเกี่ยวกับสันติศึกษาพึงระวังในเรื่องนี้ เพราะหน้าที่ของศาสนาต้องเป็นเครื่องมือให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ด้วยการเคารพให้เกียรติอดทนต่อความแตกต่างในวิถีปฏิบัติ การมองเรื่องนี้จึงต้องอาศัย คำกล่าวที่ว่า “กระทบธรรมแต่ไม่กระทบคน” ทำให้นึกถึงวิธีการของพระพุทธ
เจ้า แม้แต่มีคนเดียวยกมือขึ้นประท้วง ทักท้วงหรือไม่เห็นด้วยในท่ามกลางระหว่างสงฆ์พระองค์ก็ฟังเสียงของบุคคลนั้นด้วยหัวใจอย่างเข้าใจ ว่าไม่เห็นด้วยเพราะอะไร อย่างไร
อาทิ เวลาไปงานทอดกฐิน เราจะเห็นพิธีกรรมหนึ่งว่า “ภิกษุรูปใดไม่เห็นด้วย จงทักท้วงขึ้นท่ามกลางระหว่างสงฆ์” แสดงว่าพระพุทธเจ้าให้ความสำคัญกับทุกคนแม้คนเดียวที่เห็นต่างหรือไม่เห็นด้วย เป็นการเข้าใจความทุกข์ของคนคนนั้น เหมือนคนที่ร้องเรียนไปว่าเสียงรบกวนในเวลาพักผ่อน ถึงแม้คนที่
อาศัยในคอนโดส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาใดๆ พร้อมเข้าธรรมเนียมปฏิบัติของวัดด้วยความใจกว้าง ด้วยการพยายามลดเสียงเบาลง ถือว่าวัดใช้กระบวนการของพุทธสันติวิธีด้วยการยอมลดเสียงลง ด้วยความเข้าใจเพื่อนมนุษย์
เพราะสิ่งใดพร่องสิ่งนั้นจะดัง สิ่งใดเต็มสิ่งนั้นจะเงียบ ถือว่าควรได้รับการยกย่องเพราะมองว่าเมื่อเขาทุกข์เราก็ปรับเสียงให้เบาลง เป็นการถอยที่ใช้สติ ขันติ และสันติ รวมถึงใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาคือ สัปปุริสธรรม ในช่วงเวลาที่มีความเหมาะสม
ทว่า สิ่งหนึ่งที่น่ากลัวคือ มีความพยายามเปรียบเทียบระหว่างสองศาสนาในการใช้เสียงในด้านพิธีกรรมหรือธรรมเนียมปฏิบัติมายาวนาน ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งตามมา ศาสนาจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือมาโดยตลอดโดยศาสนิกของแต่ละศาสนาหรือผู้ไม่มีศาสนา จึงมองว่าถ้าเราจะมุ่งอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริงย่อมมีทางออกเสมอ แต่ถ้ามองว่าไม่ต้องอยู่ร่วมกันก็ใช้วิธีสุดโต่งคือ เป็นการมองแต่มุมตนเองเท่านั้น ไม่ฟังใคร โดยพระพุทธเจ้าใช้คำว่า “เอกังสวาท” เป็นการมองมุมเดียว มองสุดโต่ง จะเกิดความขัดแย้ง เกิดการทะเลาะ การด่า การวิวาทะ นึกถึงแต่ส่วนตนเองเท่านั้น ซึ่งค่อนข้างมีมากในการสื่อสารออนไลน์
ส่วนการมองเพื่ออยู่ร่วมกันและหาทางออกร่วมกัน พระพุทธเจ้าใช้คำว่า “วิภัชชวาที” เป็นการมองแบบแยกแยะ หาสาเหตุ แก้ปัญหา สานเสวนา รับฟัง พิจารณาไตร่ตรอง แยกส่วน หาประโยชน์ร่วมกัน แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง ค้นหาความทุกข์ ความต้องการที่แท้จริง เป็นการใช้เครื่องมือของพุทธสันติวิธี ด้วยการ “นุ่มนวลกับคนแต่จริงจังกับปัญหาหรือประเด็น” ที่เกิดขึ้น
ประเด็นเสียงระฆังจึงเห็น Mindset ของแต่ละคนในการมอง ถ้ามองผ่านกฎหมายก็อาจจะมีผิดถูก ใครสร้างก่อนหลัง ฟ้องร้องขึ้นศาล แต่ถ้ามองผ่านพุทธสันติวิธีก็พยายามหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ ด้วยการใช้เครื่องมือ เริ่มจากการสื่อสารเชิงสันติ มีการฟังด้วยหัวใจด้วยความเข้าใจ มีการทดสอบความดังของเสียงของผู้เกี่ยวข้องอย่างน่าเชื่อถือ มีการสานเสวนา รวมถึงการไกล่เกลี่ย
ดังนั้น ถ้าเสียงรบกวนจริง มองว่าควรมีการปรับเวลาหรือความดังของเสียงลงตามสัปปุริสธรรม ถือว่าเป็นพุทธสันติวิธี แต่ถ้าเป็นอคติภายในหัวใจของคนคนนั้น จึงยากที่จะเข้าใจวิถีปฏิบัติของวัดอันเกิดขึ้นมายาวนาน เพราะถ้ามีอคติจะไม่เข้าใจ
ส่วนตัวแล้วมองว่าเสียงระฆังเป็นเสียงแห่งสติ เสียงแห่งสันติภาพ ย้ำเตือนให้เรามีสติทุกลมหายใจ เพราะ “เสียงเพลงฟังแล้วเพลิดเพลิน เสียงสรรเสริญฟังแล้วรื่นหู เสียงคุณครูฟังแล้วรู้วิชา เสียงนินทาฟังแล้วไม่น่าฟัง เสียงระฆังฟังแล้ว สงบเย็น หรือ รำคาญ”
ถามใจตนเอง จึงสรุปว่า “ระฆังแห่งสติจะดังกังวานขึ้นมาทุกครั้ง เมื่อเรากลับมานั่งตามดูลมหายใจ”