"พื้นที่ปิโตรเลียมนวมินทร์" เปี่ยมด้วยคุณค่าด้านเศรษฐกิจ จิตใจ และองค์ความรู้
โดย...พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
โดย...พงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
หลายท่านคงเคยได้ยินชื่อ “พื้นที่ปิโตรเลียมนวมินทร์” กันมาบ้างนะครับ ชื่อพื้นที่ดังกล่าวนั้น ในปี 2544 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อให้สำหรับพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมของโครงการบงกชและโครงการอาทิตย์ในอ่าวไทย ผมจึงอยากขยายความเรื่องดังกล่าว รวมถึงเล่าด้วยว่าองค์ความรู้และประสบการณ์ที่เราได้จากการดำเนินการในแหล่งก๊าซธรรมชาติโครงการบงกชนั้น ได้ถูกนำมาต่อยอดในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในที่อื่นๆ อย่างไรบ้าง
ปตท.สผ.ได้รับพระราชทานชื่อ พื้นที่ปิโตรเลียมนวมินทร์ ในโอกาสที่ ปตท.สผ.ครบรอบการดำเนินงาน 15 ปี เมื่อปี 2543 ผมได้รับความกรุณาจากคุณมนู เลียวไพโรจน์ อดีตประธานกรรมการ ปตท.สผ. ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญในตอนนั้น ถ่ายทอดให้ฟังว่า การที่บริษัท สำรวจและผลิตปิโตรเลียมของไทย สามารถดำเนินธุรกิจมาถึง 15 ปี
โดยเป็นผู้ดำเนินการโครงการผลิตปิโตรเลียมที่สำคัญของประเทศทั้งโครงการบงกช ซึ่งถือเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และแหล่งสิริกิติ์ แหล่งน้ำมันดิบบนบกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
รวมทั้งการก้าวออกไปในต่างประเทศเพื่อลงทุนในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอีกหลายโครงการ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ถึงความสามารถของคนไทย โดยเฉพาะพนักงานของ ปตท.สผ.ได้เป็นอย่างดี
ปตท.สผ.ได้กราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานชื่อพื้นที่ปิโตรเลียมจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะผู้บริหารและกรรมการบริษัท ปตท.สผ. เข้าเฝ้าที่วังไกลกังวล พระองค์ยังมีพระราชกระแสรับสั่งและพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับนโยบายพลังงานที่พระองค์ท่านได้ให้แนวทางเกี่ยวกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้สำหรับปวงชนชาวไทยและพนักงาน ปตท.สผ.
การได้รับพระราชทานชื่อ พื้นที่ปิโตรเลียมนวมินทร์ ถือเป็นขวัญและกำลังใจสูงสุดของพนักงานทุกคน ซึ่งคุณมนูยังจำเรื่องนี้ได้อย่างแม่นยำ ท่านเล่าว่า หลังจากที่ ปตท.สผ.ได้รับพระราชทานชื่อ พื้นที่ปิโตรเลียมนวมินทร์ ทำให้พวกเราเห็นทิศทางการทำงานของบริษัทได้ชัดเจนมากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ทุกคนเห็นเป้าหมายร่วมกันว่าภารกิจที่สำคัญยิ่งที่พวกเราทำอยู่ ก็คือ การเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ยิ่งทำให้พวกเราภาคภูมิใจกับงานที่ทำอยู่ยิ่งขึ้นไปอีก
เมื่อพูดถึงพื้นที่ปิโตรเลียมนวมินทร์แล้ว จะไม่พูดถึงโครงการที่อยู่ในพื้นที่นี้คงไม่ได้ เพราะจะไม่ทราบว่าทั้งสองโครงการมีความสำคัญกับประเทศไทยอย่างไร ผมเคยเล่าเกี่ยวกับโครงการบงกชไปแล้วว่าเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งแรกที่ดำเนินการโดยคนไทย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้ในการผลิตก๊าซธรรมชาติมาจากบริษัทต่างชาติ และครบรอบ 25 ปีการผลิตก๊าซฯ เมื่อเดือน ก.ค.
สำหรับโครงการอาทิตย์นั้น เรียกได้ว่าเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งแรกที่ดำเนินการโดยคนไทยทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสำรวจ การพัฒนา ไปจนถึงการผลิต ซึ่งก็คือการนำก๊าซธรรมชาติจากใต้ดินขึ้นมาใช้เป็นพลังงานในการพัฒนาประเทศได้สำเร็จในปี 2551 ซึ่งโครงการนี้เพิ่งครบรอบ 10 ปีของการผลิตก๊าซฯ ไปเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
การผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอาทิตย์ เป็นอีกบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถและศักยภาพของบุคลากรไทย และเป็นอีกก้าวย่างที่สำคัญของบริษัทไทยที่สามารถสร้างองค์ความรู้ทั้งในการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม จนสามารถขับเคลื่อนและพัฒนาแหล่งพลังงานให้กับประเทศไทยได้ด้วยตัวเอง
ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากทั้งแหล่งบงกชและแหล่งอาทิตย์ในพื้นที่ปิโตรเลียมนวมินทร์ ถือได้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านพลังงานอีกพื้นที่หนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศไทย 35-40% มาจากพื้นที่แห่งนี้ และส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้เป็นพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ความสว่างกับครัวเรือน และเป็นพลังงานในอุตสาหกรรมต่างๆ
รวมทั้งยังสร้างคุณค่าต่อเนื่องทางเศรษฐกิจอีกหลายประการ เช่น มีการจ้างงานมากกว่า 1,000 ตำแหน่งงาน ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การว่าจ้างผู้รับเหมาเพื่อทำงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตจากแหล่งบงกชและแหล่งอาทิตย์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ก๊าซธรรมชาติยังมีองค์ประกอบที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญของปิโตรเคมี ซึ่งนำมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ภาชนะ สี เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม คุณสมบัติเหล่านี้จะไม่มีในก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศนะครับ
องค์ความรู้ที่เราได้จากการดำเนินงานในแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้งสองแหล่ง จึงถือได้ว่าเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้บริษัทไทยสามารถขยายการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมไปในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งซอติก้าในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ที่ ปตท.สผ.เข้าไปดำเนินการเองตั้งแต่การสำรวจ พัฒนา จนถึงผลิตก๊าซธรรมชาติ
ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนท้องถิ่นด้วย อีกทั้งแหล่งเจดีเอ ในพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-มาเลเซีย โดยทรัพยากรปิโตรเลียมส่วนหนึ่งได้ถูกนำเข้ามาเป็นพลังงานหล่อเลี้ยงประเทศไทย เพื่อช่วยตอบสนองความต้องการใช้พลังงานให้กับประเทศด้วย
พื้นที่ปิโตรเลียมนวมินทร์ นอกจากจะเป็นพื้นที่ที่ทรงคุณค่าด้านพลังงานและเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่ทรงคุณค่าทางจิตใจของชาว ปตท.สผ. ทำให้เราระลึกเสมอว่าภารกิจที่เราดำเนินการอยู่นั้น ไม่ใช่แค่การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานเท่านั้น
แต่ยังเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่จะส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต