6 กระทรวงดัน 'ขมิ้นชัน' เป็น 'Herb of the Year' พบมูลค่าตลาดโลกสูง 2.8 หมื่นล้าน
บูรณาการ 6 กระทรวง ผลักดัน 'ขมิ้นชัน' เป็น ' Herb of the Year' หรือ สมุนไพรแห่งปี เพื่อเป็นสินค้าสำคัญของเศรษฐกิจไทยหลังพบมูลค่าตลาดขมิ้นชันทั่วโลกโตแรงมีมูลคากว่า 2.8 หมื่นล้านบาทในปีนี้
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 ว่ารัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพและบริการทางการแพทย์ พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยสู่ระดับสากล ซึ่งวันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนงานบูรณาการนำสมุนไพรสู่การสร้างเศรษฐกิจ ภายใต้ความร่วมมือของ 6 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
แผนงานมีเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรตลอดห่วงโซ่คุณค่าในทุกมิติ ตั้งแต่การปลูกและจัดการสมุนไพร การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการส่งเสริมการตลาดและการสร้างแบรนด์สมุนไพรไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดสากล ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาแม้จะมีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง แต่ยังขาดการขับเคลื่อนและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและเพียงพอ แผนงานบูรณาการนี้จึงได้รับการออกแบบให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมกันขับเคลื่อนให้สมุนไพรเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อันจะนำมาสู่ความมั่นคงทางสุขภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการจึงมีแผนการขับเคลื่อนสมุนไพร "Herb of the Year" ปี 2568-2570 เป้าหมาย คือ “ขมิ้นชัน” ให้เป็นสมุนไพรเด่น โดยเน้นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทั้งในด้านยา เครื่องสำอาง อาหารเสริม และส่งเสริมการส่งออก เพื่อสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน
ภายใต้แผนการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรของ SMEs ไทย ในระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2568-2570) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย
- การอบรมให้ความรู้ด้านมาตรฐาน ครอบคลุมการจัดวางระบบการผลิต การจัดการด้านสุขอนามัย และการขอรับรองมาตรฐาน เช่น GMP (Good Manufacturing Practice) และ HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point)
- การให้คำปรึกษาเชิงลึกในการปรับปรุงกระบวนการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์ และจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้อง
- การส่งเสริมการตลาด สนับสนุนผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมทั้งขยายช่องทางการจำหน่ายผ่าน E-Commerce
- การเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่า ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสมุนไพร
มูลค่าตลาด 'ขมิ้นชัน' ของไทยเทียบกับของโลก
นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า “ขมิ้นชัน” ได้รับเลือกเป็นสมุนไพรเด่น เนื่องจากมีศักยภาพสูงในตลาดโลก โดยรายงานจาก Transparency Market Research คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดขมิ้นชันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 7,830.82 ล้านบาท ในปี 2567 เป็น 28,846.89 ล้านบาท ในปี 2577 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 13.9
ขณะที่ประเทศไทย มูลค่าตลาดขมิ้นชัน ปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 262.24 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.3 ของมูลค่าตลาดโลก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 770.14 ล้านบาท ในปี 2577 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอางที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแนวทางขับเคลื่อนสมุนไพรขมิ้นชัน 4 ด้าน ได้แก่
- การพัฒนาสายพันธุ์และการผลิตปลอดภัย โดยพัฒนาสายพันธุ์ขมิ้นชันเฉพาะของไทย และส่งเสริมการปลูกแบบปลอดภัย
- การใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย โดยส่งเสริมการใช้ขมิ้นชันในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ยา อาหาร และอาหารเสริม และผลักดันการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เพื่อขยายตลาด
- การวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยวางทิศทางและเป้าหมายงานวิจัยเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมสร้างเครือข่ายนักวิจัย
- การสร้างภาพลักษณ์ทางบวก สื่อสารประโยชน์และสรรพคุณของขมิ้นชันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและตลาด โดยภายในปีแรกของแผนงาน จะเร่งผลักดันการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จากขมิ้นชัน พร้อมพัฒนาช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มจากสมุนไพรท้องถิ่น และสนับสนุนการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร
คุณสมบัติและประโยชน์ของ 'ขมิ้นชัน'
จากข้อมูลของ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขมิ้นชันมีสารประกอบทางเคมีที่สำคัญอยู่ 2 กลุ่ม คือ
- สารกลุ่มเคอร์คิวมินนอยด์ (curcuminoids) ประกอบด้วยเคอร์คิวมิน (curcumin) monodesmethoxycurcumin, bisdes-methoxycurcumin
- น้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) มีสีเหลืองอ่อน สารหลักคือ เทอร์เมอโรน (turmerone) 60% ซิงจิเบอรีน (zingiberene) 25% borneol, camphene, 1, 8 ciniole , sabinene, phellandrene
โดยมีสรรพคุณจากการศึกษาพบว่าขมิ้นมีฤทธิ์ขับลม รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง แน่น จุกเสียด อาหารไม่ย่อย ฆ่าเชื้อรา ป้องกันตับอักเสบ
รักษาสิว โรคกระเพาะ แผลพุพอง บำรุงผิว