กลุ่มสวนยางร้องรัฐบาล ใช้น้ำยางสดทำถนนแทนน้ำยางข้น
ราคายางพาราที่ตกต่ำลงมามาก
โดย ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์
ราคายางพาราที่ตกต่ำลงมามาก ทำให้ชาวสวนยางรวมตัวกันยื่นหนังสือถึงรัฐบาลขอให้เพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศโดยวิธีการใช้น้ำยางสดทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์
วีระศักดิ์ สินธุวงศ์ กรรมการสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มสถาบันเกษตรกร สหกรณ์ยาง วิสาหกิจชุมชนยาง กลุ่มยางทั่วประเทศทุกจังหวัด จะมีการลงชื่อร่วมกันแล้วยื่นหนังสือถึงรัฐบาล ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อสนองตอบต่อรัฐบาลที่ประกาศใช้น้ำยางสดในการทำถนนดินพาราซอยล์ซีเมนต์ โดยจะเริ่มทยอยส่งไปจนถึงวันที่ 15 ธ.ค.พร้อมกันทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ทางกลุ่มสถาบันเกษตรกรยางพารา ได้นำเสนอผลงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในการใช้น้ำยางสดทำถนน ซึ่งภาคเกษตรกรชาวสวนยางพาราได้ส่งตัวแทนติดตามที่ผ่านมามีสัมฤทธิ์ผลที่ดี และการใช้น้ำยางสดสร้างถนนดินพาราซอยล์ซีเมนต์จะเป็นการตอบโจทย์ดีที่สุด เพราะถึงตัวชาวสวนยางพาราโดยตรง จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตอบสนองนโยบายรัฐบาลตรงจุดที่สุด
สำหรับถนนดินพาราซอยล์ซีเมนต์ จากโครงการต้นแบบของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซื้อน้ำยางสดจากชาวสวนยางพารา ประกันราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 65 บาท
วีระศักดิ์ กล่าวว่า การทำถนนดินพาราซอยล์ซีเมนต์ที่ยังไม่ดำเนินการ เพราะอยู่ระหว่างการออกแบบทีโออาร์ (TOR) ซึ่งมีบางกลุ่มพยายามผลักดันเสนอให้ไปใช้น้ำยางข้น และน้ำยางข้นจะไม่มีของกลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพารา จะมีเฉพาะภาคเอกชน และจะมีอยู่เฉพาะในจังหวัดภาคใต้เป็นส่วนมาก หากออกแบบการใช้น้ำยางข้นก็จะไม่ถึงเกษตรกรโดยตรง เพราะสถาบันเกษตรกรผลิตน้ำยางสดแล้วจะนำไปจำหน่ายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมน้ำยางข้น
“โดยจะมีการออกแบบทีโออาร์น้ำยางข้นผสมน้ำยางสดทำถนนดินพาราซอยล์ซีเมนต์หมุนเวียนกลับไปมา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้รับเหมา ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น จะทำให้ผู้รับเหมาปฏิเสธรับงานในที่สุด แล้วจะล้มเหลวอีกต่อไป”
วีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า สถาบันเกษตรกรทั่วประเทศทุกจังหวัดจะยื่นหนังสือถึงรัฐบาล และจะติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้มีบางกลุ่มเตรียมเสนอทีโออาร์ จึงวิตกว่าจะเปลี่ยนจากน้ำยางสดให้ไปใช้น้ำยางข้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตถนนดินพาราซอยล์ซีเมนต์ให้กับกลุ่มผู้รับเหมาในท้องถิ่นที่ต้องไปซื้อน้ำยางข้นจากอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้น ซึ่งทั้งประเทศมีอยู่ทางภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ และในที่สุดก็ไม่ถึงชาวสวนยางโดยตรง และโครงการจะล้มเหลวอีก
“สำหรับทีโออาร์จะมีการเสนอนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภายในวันที่ 15 ธ.ค. 2561 นี้”
ประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ ประชา สัมพันธ์เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (คยท.) บอกว่า การเอาน้ำยางสดทำถนนดินพาราซอยล์ซีเมนต์จะถึงมือชาวสวนยางพาราโดยตรง เนื่องจากในพื้นที่มีเครือข่ายน้ำยางสดของสถาบันเกษตรกรอยู่ทุกพื้นที่ แต่หากทำถนนดินพาราซอยล์ซีเมนต์จากน้ำยางข้น ก็จะไม่ถึงมือชาวสวนยางพารา เพราะไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมน้ำยางข้นและน้ำยางข้นราคาจะสูงขึ้นประมาณ กิโลกรัมละ 2-3 บาท ทำให้ผู้รับเหมามีต้นทุนเพิ่มขึ้น และต้องขนส่งน้ำยางข้นจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้น ซึ่งก็มีแต่เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้อีก
ไพรัช เจ้ยชุม ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า จากการนำสมาชิกสหกรณ์ฯ เดินทางไปยังประเทศจีนและได้พบกับภาครัฐและภาคเอกชน ศึกษาดูงานและหารือ โดยเฉพาะกับบริษัทอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง โดยระบุว่าเรื่องการตลาดยางพาราของไทยยังอ่อนการส่งเสริมต่างๆ เช่น เรื่องการตลาด และประการสำคัญเกี่ยวกับนโยบายยางพาราขยับขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 60-70 บาท ค่อนข้างจะเป็นไปได้ยาก สำหรับทางออก ไทยต้องแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า
นี่เป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ที่พยายามให้มีการใช้ยางพาราในประเทศเพื่อให้ราคารับซื้อน้ำยางสดสูงขึ้นกว่าราคารับซื้อตามปกติ ซึ่งเกษตรกรเห็นว่าต่ำกว่าราคาลงทุนจริง