AI จะแทนที่มนุษย์ในวงการภาพยนตร์ได้หรือไม่?
หลายท่านอาจเคยเห็นการเดินขบวนประท้วง AI จากอุตสาหกรรมภาพยนตร์กันมาบ้าง วันนี้เราจะพาไปรับชมว่า AI สร้างผลกระทบได้ขนาดไหน และจะเข้ามาทำลายแวดวงภาพยนตร์จริงหรือไม่
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ สร้างข้อกังวลแก่ผู้คนในหลายสาขาอาชีพ หนึ่งในส่วนที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างคือ วงการภาพยนตร์ ไม่เพียงเข้ามาทดแทนแรงงานแต่อาจสร้างแรงกระเพื่อมแก่หลายภาคส่วน นำไปสู่การประท้วงหยุดงานครั้งใหญ่พร้อมข้อเรียกร้องไม่ให้บริษัทใหญ่นำมาใช้งานมากเกินไป
วันนี้เราจึงมาดูว่าส่วนใดของวงการภาพยนตร์ที่จะได้รับผลกระทบจาก AI บ้าง
การมาถึงของเทคโนโลยีที่กระทบทุกภาคส่วน
ข่าวการมาถึงของ AI ที่เข้ามามีบทบาทในหลายวิชาชีพเป็นเรื่องที่เราได้ยินมาพักใหญ่ ด้วยขีดความสามารถอันน่าทึ่งนำไปสู่ข้อกังวลมากมาย แต่สำหรับคนจากฝั่งโลกภาพยนตร์ความกังวลอาจมีมากยิ่งกว่า เมื่อสิ่งที่กำลังเกิดอาจกระทบแรงงานเกือบทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรม
แรกสุดเป็นในส่วน บทภาพยนตร์ LLM หลายตัวที่เปิดให้ใช้งานในท้องตลาดสามารถเขียนงานได้หลายรูปแบบ นำไปสู่ข้อถกเถียงเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะสตูดิโอภาพยนตร์ของ Hollywood ที่เริ่มนำ AI มาใช้ในการเขียนและพัฒนาบทภาพยนตร์ที่จะถ่ายทำ แล้วจึงนำบทภาพยนตร์ที่ได้มาไปให้นักเขียนตัวจริงแก้ในภายหลัง
ทางฝั่งดารานักแสดงก็เป็นอีกกลุ่มที่ประสบปัญหา เมื่อทางสตูดิโอใหญ่หลายแห่งเริ่มทำการสแกนใบหน้าและร่างกายของนักแสดงประกอบฉากทั้งหลาย จากนั้นจึงนำข้อมูลที่สแกนมาเป็นฐานแล้วใช้ AI ในการปั้นโมเดลตัวนักแสดงเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ ทำให้จากนี้พวกเขาไม่ต้องพึ่งพาตัวประกอบฉากอีกต่อไป
บรรดาซูเปอร์สตาร์เองก็ได้รับผลกระทบ เมื่อข้อมูลการแสดงจากภาพยนตร์ในอดีตถูกนำมาใช้เป็นฐานข้อมูล AI ในการเนรมิตดาราดังขึ้นมา แบบที่มีการใช้งานในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์บางเรื่อง ส่งผลให้ดาราดังหลายท่านสามารถปรากฏบนหน้าจอได้อย่างแนบเนียนโดยไม่ต้องใช้ตัวจริงอีกต่อไป
แม้แต่กลุ่มทีมงานเบื้องหลังอย่าง ทีมงานถ่ายทำ ตัดต่อ ไปจนวิชชวลเอฟเฟคทั้งหลายก็ล้วนได้รับผลกระทบ เมื่อโมเดลสามมิติหรือกราฟฟิกตระการตาไม่ต้องพึ่งพาศิลปินหรือโปรแกรมเมอร์อีกต่อไป บางสตูดิโอยังเริ่มให้ความร่วมมือเพื่อนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้อย่างเต็มตัว เข่น ความร่วมมือระหว่าง Lionsgate และ Runway ในด้านวิชชวลเอฟเฟค
สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความไม่ไว้ใจ การตั้งคำถาม และข้อเรียกร้องของแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์
แรงเสียดทานจากการผลักดัน AI ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์
ท่าทีของสตูดิโอใหญ่ใน Hollywood นำไปสู่การหยุดงานประท้วงหยุดงานครั้งยิ่งใหญ่ของดารานักแสดง นักเขียนบท ไปจนทีมงานเบื้องหลังจำนวนกว่า 160,000 คน โดยมีประเด็นการเรียกร้องรายได้ สิทธิแรงงาน ไปจนการเข้ามามีบทบาทและใช้งาน AI ในอุตสาหกรรม
สำหรับแรงงานข้อกังวลในด้าน AI ของพวกเขาคือ ตำแหน่งงาน ตามที่กล่าวไปข้างต้นเมื่อทางสตูดิโอยักษ์ใหญ่เริ่มนำ AI เข้าสู่อุตสาหกรรม อาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการช่วยลดต้นทุนการผลิต แต่นั่นทำให้หลายสายอาชีพจะมีตำแหน่งและปริมาณงานลดลงจนอาจถูกแทนที่โดยสมบูรณ์
การนำ AI มาใช้งานยังถูกตั้งคำถามในหลายด้าน โดยเฉพาะข้อโต้แย้งทางด้านลิขสิทธิ์ เนื่องจาก AI หลายตัวนำข้อมูลมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือผิดเงื่อนไข, สถานะทางกฎหมายของ AI และงานที่ผลิตขึ้นมา นำไปสู่การตั้งคำถามและฟ้องร้องเป็นวงกว้าง
ส่วนที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงไม่แพ้กันคือ ศิลปินวิชชวลเอฟเฟค เนื่องจากการมาถึงของ AI อาจซ้ำเติมปัญหาสภาพการทำงานที่เลวร้ายของพวกเขาให้รุนแรงยิ่งขึ้น รวมถึงบทบาทของพวกเขาอาจไม่ใช่การสร้างสรรค์ผลงาน แต่เป็นการปรับแก้งานจาก AI แทน แบบเดียวกับที่จะเกิดขึ้นกับนักเขียนบทภาพยนตร์
นอกจากนี้การใช้ AI ในการลอกเลียนบุคคลและดารายอดนิยมขึ้นมากมายยังถูกต่อต้านอย่างกว้างขวาง เช่น Scarlett Johansson ฟ้องร้องแอปพลิเคชันที่ลอกเลียนเสียงของเธอ, Robert Downey Jr. ไม่ยินยอมให้มีการนำข้อมูลของเขามาสร้างใหม่ผ่าน AI ไปจนลูกสาวของ Robin Williams ที่รู้สึกไม่สบายใจเมื่อ AI สร้างเสียงพ่อผู้ล่วงลับของเธอขึ้นมาใหม่
ทั้งหมดเป็นกระแสต่อต้านและไม่เห็นด้วยจากคนในวงการภาพยนตร์ที่ยังคงเป็นข้อถกเถียงจนปัจจุบัน
การปรับตัวและใช้งาน AI ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์
จริงอยู่ประเด็นด้าน AI และการใช้งานยังคงคลุมเครือหาข้อสรุปไม่ได้ในปัจจุบัน แต่ใช่ว่าการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์จะมีเพียงข้อเสีย คนในอุตสาหกรรมบางส่วนเองก็เห็นพ้อง และมีมุมมองว่า AI เองก็เป็นประโยชน์และอาจมีส่วนช่วยสนับสนุนพัฒนาคุณภาพงานได้เช่นกัน
ศิลปินด้านวิชชวลเอฟเฟคหลายท่านต่างมีข้อกังวลต่อ AI ทั้งในด้านตำแหน่งงาน ค่าแรง ความคิดสร้างสรรค์ ไปจนลิขสิทธิ์ อีกทั้งยังให้ความเห็นว่า AI ยังไม่พร้อมใช้สำหรับงานผลิตก็จริง แต่สำหรับงานที่เรียบง่ายและการทำงานซ้ำๆ ก็อาจเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของพวกเขาได้ ซึ่งอาจช่วยแบ่งเบาภาระของศิลปินในสาขานี้ลงเช่นกัน
ดาราและทีมงานเบื้องหลังเองก็ไม่ได้ต่อต้าน AI เสียทีเดียว เช่น Joe Russo ผู้กำกับชื่อดังของ Marvel ก็แสดงความเห็นว่า เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมาถึงของ AI ได้ ควรหาทางปรับตัวและใช้ประโยชน์จากมันมากกว่า สอดคล้องกับองค์กรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เริ่มมองหาจุดกึ่งกลางระหว่างสองฝ่าย
ความหวาดกลัวในการมาถึงของเทคโนโลยีในวงการภาพยนตร์ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เช่น การเข้ามาของภาพยนตร์ที่มีเสียง ในช่วงแรกมีกระแสต่อต้านอยู่ไม่น้อย ด้วยความกังวลในการนำเสนอด้วยเสียงจะลดการแสดงออก และความเป็นศิลปะของภาพยนตร์ที่อาศัยภาพเคลื่อนไหวเพียงอย่างเดียว ต้องใช้เวลาอยู่หลายปีจึงจะได้รับการยอมรับทั่วไป
อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดไม่แพ้กันคือ คอมพิวเตอร์กราฟฟิก ที่ Jurassic Park ถือเป็นผู้บุกเบิกแนวทาง ทดแทนการใช้อนิมาทรอนิกส์แบบเดิม นำไปสู่การพัฒนาของวงการภาพยนตร์ ผลักดันโปรเจคในฝันตามมาอีกมากมาย เช่น Harry potter ,Lord of the ring หรือ Matrix
การมาถึงของ AI จึงอาจไม่ใช่การทำลายอุตสาหกรรม แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านเทคนิคการทำหนังให้ก้าวกระโดดไปอีกขั้น หากมีการปรับปรุงข้อกำหนดและแก้ไขกฎระเบียบที่ใช้ควบคุมให้เพียงพอ นี่อาจเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ที่ช่วยเปิดมุมมองและความเป็นไปได้ใหม่ให้แก่ภาพยนตร์ได้อีกมาก
ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า แม้เทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่โดยพื้นฐานกลไกของ AI ยังคงอาศัยการทำและผลิตซ้ำไปซ้ำมาจากฐานข้อมูลที่ป้อนลงไปเท่านั้น หากศิลปินและผู้ผลิตผลงานยังคงมีความคิดสร้างสรรค์ ก็เป็นไปได้ยากที่เอไอจะสามารถทดแทนมนุษย์ได้ในงานศิลป์
ที่มา
https://abovetheline.com/2023/05/04/ai-revolution-at-studios-disney-bob-iger-can-stop-it/
https://variety.com/2023/biz/news/wga-contract-negotiations-march-20-amptp-1235531974/
https://www.vice.com/en/article/5d37za/voice-actors-sign-away-rights-to-artificial-intelligence
https://www.bbc.com/thai/articles/c515e7kzd79o
https://www.beartai.com/buzz/1280285
https://variety.com/2023/digital/news/scarlett-johansson-legal-action-ai-app-ad-likeness-1235773489/
https://deadline.com/2023/10/robin-williams-daughter-zelda-ai-recreate-voice-1235561299/
https://techsauce.co/news/joe-russo-opinion-on-ai-development