posttoday

เมื่อจีนไม่สนใจ‘กระจก’ ก็เปลี่ยนโลกเสียแล้ว (2)

30 ธันวาคม 2561

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วได้พูดถึงความสำคัญของแก้วและกระจกว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการให้กำเนิดวิทยาศาสตร์ยุคใหม่

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วได้พูดถึงความสำคัญของแก้วและกระจกว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการให้กำเนิดวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ แม้จีนจะมีแก้วใช้มายาวนานไม่แพ้อารยธรรมอื่นใด แต่เป็นเพราะจีนสามารถผลิตเครื่องเคลือบได้อย่างเชี่ยวชาญ และเครื่องเคลือบสามารถตอบสนองการใช้งานได้ดีและงดงามกว่าเครื่องแก้วยุคแรกๆ จีนจึงเลือกที่จะละเลยการพัฒนาแก้วและกระจกไป

ส่วนทางฝั่งยุโรปซึ่งไม่รู้กรรมวิธีการผลิตเครื่องเคลือบ จึงคล้ายกับถูกผลักดันให้เลือกพัฒนาเครื่องแก้วขึ้นมาแทน แต่แล้วในคริสต์ศตวรรษที่ 11 และ 12 ยุโรปก็เริ่มพัฒนากระจกให้มีคุณสมบัติ เรียบ ใส ทำเป็นแผ่นใหญ่ได้ ที่เหลือก็คือการเฝ้ารอปัจจัยอื่นๆ ให้ถึงพร้อม แล้วการทดลอง ประดิษฐ์คิดค้นยุคใหม่ก็ก้าวกระโดดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในนามของวิทยาศาสตร์และวิทยาการยุคใหม่

แต่ก่อนที่แก้วและกระจกจะมีบทบาทเข้มข้นในห้องทดลอง มันยังมีบทบาทผลักดันสังคมด้านอื่นมาก่อนเช่นกัน...

เป็นอันรู้กันว่าจุดที่อารยธรรมแถบยุโรปเริ่มมีความรู้ความก้าวหน้าพุ่งทะยานแซงอารยธรรมอื่นในโลกอย่างชัดเจน เกิดขึ้นในยุคเรอเนสซองซ์ (Renaissance)

ยุคเรอเนสซองซ์อยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14-17 อยู่หลังกำเนิดกระจกแผ่นเรียบใสในยุคกลาง และก่อนการก้าวเข้ามาของยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์เล็กน้อย

พูดถึงยุคเรอเนสซองซ์ทีไร ภาพของงานศิลปะชิ้นสำคัญของยุโรปและศิลปินที่ยิ่งใหญ่ก็ผุดขึ้นมาในหัวได้ทันที

มิเกลันเจโล หรือ ลีโอนาร์โด ดาร์วินชี ล้วนกำเนิดในยุคนี้ทั้งนั้น

ศิลปินในยุคเรอเนสซองซ์ คือผู้มีโอกาสริเริ่มใช้ทั้งกระจกใสและกระจกเงามาเป็นอุปกรณ์ช่วยวาดภาพ

ศิลปินจะใช้กระจกเงาสะท้อนภาพบุคคลที่ต้องการวาด และใช้สายตาคัดลอกภาพบนผิวกระจกเงาลงสู่ผืนผ้าใบ กระจกเงาจึงกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยถ่ายทอดภาพสามมิติลงสู่ระนาบสองมิติได้ง่ายขึ้น

หรืออีกวิธีที่ง่ายกว่านั้น โดยใช้กระจกใสวางกั้นไว้ด้านหน้า แล้วร่างโครงและสีสันของภาพเบื้องหลังกระจกลงบนแผ่นกระจกใสโดยตรง แล้วค่อยนำภาพร่างนั้นมาลอกลงบนผืนผ้าใบพร้อมใส่รายละเอียดเพิ่มเติมจนกลายเป็นภาพที่เสร็จสมบูรณ์

การถ่ายทอดภาพสามมิติจากสายตาเราออกมาเป็นภาพสองมิติเป็นเรื่องยากเกินจินตนาการ ในยุคที่กระจกและกล้องถ่ายภาพยังไม่ถือกำเนิด แทบเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะสามารถถ่ายทอดมิติสมจริงอย่างตาเห็นลงสู่ระนาบสองมิติได้ถูกต้อง (กล้องรูเข็มอาจจะทำได้ แต่ขนาดภาพจำกัด และไม่สะดวกต่อการใช้งานในวงกว้าง)

ขาดซึ่งอุปกรณ์ช่วย ศิลปะทุกยุคก่อนหน้านั้นหลายพันปี จึงไม่เคยย่างกรายเข้าสู่การจำลองภาพสามมิติที่สมจริงลงบนผิวระนาบสองมิติได้เลย

และด้วยการใช้กระจกเป็นตัวช่วยบันทึกมิติที่สมจริง ศิลปินยุโรปจึงค่อยๆ ศึกษามิติของภาพที่ได้จากกระจก จนค้นพบหลักการเขียนภาพตามมุมมองจริง ที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่าหลักการ Perspective

น่าเชื่อว่าเมื่อการศึกษามิติของภาพ Perspective เกิดขึ้น ความสนใจในแสงและเงาเสมือนจริงอย่างเข้มข้นย่อมตามมา ประเด็นทั้งหมดถูกศิลปินสังเกตและศึกษา กลายมาเป็นหลักการและความเข้าใจที่ภายหลังไม่ต้องพึ่งพาแผ่นกระจกอีกต่อไป

ขณะที่ศิลปะภาพวาดของจีนมิได้มุ่งเน้นมิติที่ถูกต้องตามสายตามองเห็น (อย่างที่ทุกอารยธรรมก่อนยุคเรอเนสซองซ์เป็น) แต่เน้นการวาดเพื่อสะท้อนภาพให้สมคำพรรณนา ศิลปะยุโรปในยุคเรอเนสซองซ์ได้เลือกอีกทิศทาง นั่นก็คือวาดเพื่อแสดงมิติ แสง และเงาที่สมจริง

แพ็กเกจของศิลปินเรอเนสซองซ์จึงมักพ่วงคุณสมบัติการสังเกตและบันทึกเสี้ยวหนึ่งของปรากฏการณ์สมจริง (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์) แต่ในอีกฟากของโลก ศิลปินวาดภาพพู่กันจีนต้องมาพร้อมแพ็กเกจความสามารถด้านการแต่งกลอน (วาดภาพได้สวย แต่แต่งกลอนไม่เป็น ก็กลายเป็นเพียงช่างฝีมือ)

และถึงตอนนี้คงเริ่มหายสงสัย ว่าทำไมศิลปินอย่างลีโอนาร์โด ดาร์วินชี จึงมีความเป็นนักทดลอง นักวิทยาศาสตร์อยู่ในตัว

คำตอบก็คือ เพราะกระบวนการทางศิลปะเรอเนสซองซ์ที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นปัจจัยหนึ่งที่คัดสรรคุณสมบัติของศิลปินที่เด่นดังขึ้นมานั่นเอง

แต่คงต้องขอเน้นเพื่อถ่วงดุลสักหน่อย กระจกและแนวคิดศิลปะในทิศทางนี้ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด แต่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ศิลปินเรอเนสซองซ์ขาดไม่ได้เท่านั้น มิเช่นนั้นศิลปินยุคนั้นคงต้องกลายเป็นครึ่งศิลปินครึ่งนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังกันหมดยุโรปพอดี

กระจกยังมีความสำคัญนอกเหนือวงการวิทยาศาสตร์และโลกศิลปะ เพราะแม้แต่มุมมองของผู้คนทั่วไปก็เปลี่ยนไปได้เพราะกระจกได้เช่นกัน...

(แต่เพราะทุกวันนี้เราต่างรายล้อมไปด้วยกระจกมากมาย จึงออกยากที่จะจินตนาการถึงมุมมองของผู้คนในโลกที่ไร้กระจก ประเด็นที่จะพูดต่อไปจึงต้องอาศัยจินตนาการมากขึ้นอีกพอตัว)

เพราะกระจกทำให้เราค้นพบมุมมองชนิดใหม่ มุมมองต่อโลกและต่อตัวเอง จึงมีพัฒนาการเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ

จากเดิมที่ผู้คนมองโลกด้วยวิธีการให้ภูมิปัญญาของนักปราชญ์และศาสดาต่างๆ นำทางไป ผู้คนก็เริ่มสังเกตการณ์ความเป็นไปของโลกรอบตัวอย่างเป็นรูปธรรมได้ด้วยตนเอง

ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นอย่างไร ทำปฏิกิริยากันอย่างไร พระอาทิตย์ พระจันทร์และดวงดาวแท้จริงมีหน้าตาเป็นอย่างไร พอมีกระจกและแก้วในรูปแบบอุปกรณ์วิทยาศาสตร์อยู่ในมือ ทุกอย่างก็สามารถสังเกตเห็นด้วยตาของเราเองได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาคำอธิบายอันศักดิ์สิทธิ์ของใคร โลกนี้จึงสามารถสังเกตได้ เข้าใจได้ ศึกษาได้ด้วยการมองเห็นจากตาของตน

หรือแม้แต่รูปร่างหน้าตาและท่าทางของตนเอง ซึ่งในยุคก่อนจะเห็นได้ก็ด้วยการมองภาพสลัวมัวๆ ที่สะท้อนจากคันฉ่องโลหะ หรือไม่ก็จากภาพสะท้อนในน้ำซึ่งไม่ชัดเจนพอๆ กัน

เพราะฉะนั้นสิ่งที่สะท้อนตัวตนเราได้ดีที่สุด จึงเป็นปฏิกิริยาของผู้คนรอบข้าง ไม่ว่าความน่าพึงพอใจ ความสวยงาม และความน่ารังเกียจของเรา ล้วนพึ่งพาการให้ค่าจากปฏิกิริยาของคนอื่นๆ แทบทั้งสิ้น

เมื่อภาพในกระจกเงา ทำให้เรารู้สึกถึงตัวตน แยกออกมาจากสิ่งแวดล้อมได้ชัดเจน เราจะเป็นอย่างไร ก็สามารถใช้ความรู้สึกและสายตาของตนเองตัดสินได้ แนวคิดที่เน้นปัจเจกบุคคลก็เริ่มแผ่ขยายทั่วทั้งสังคมอย่างง่ายดาย

กระจกส่งอิทธิพลต่อจิตใจมนุษย์ขนาดไหน คงยากที่จะชั่งตวงวัด แต่จากพัฒนาการและความแพร่หลายของการใช้กระจกในช่วงศตวรรษที่ 13-16 นั้นซ้อนทับกับช่วงระยะเวลาที่แนวคิดปัจเจกบุคคลเฟื่องฟูขึ้นมาพอดี

จึงยากจะปฏิเสธว่า ความคิดแบบปัจเจกบุคคลและการเห็นภาพของตัวตนบนกระจกเงานั้นไม่เกี่ยวข้องกันเลย

หากวัฒนธรรมเซลฟี่ส่งผลต่อบุคลิกภาพและวิธีคิดของได้ ก็ไม่น่าแปลกใจที่วัฒนธรรมการส่องกระจกเงาจะส่งอิทธิพลต่อวิธีคิดของผู้คนได้เช่นกัน และควรจัดเป็นเทคโนโลยีเพื่อการสังเกตตนเองเวอร์ชั่น 1.0 ด้วยซ้ำไป

จะเน้นว่าเพราะกระจกเท่านั้นโลกจึงเปลี่ยนก็คงจะโม้เกินไป แต่หากขาดกระจกไป โลกเราคงไม่สามารถมาถึงจุดนี้ได้ในหลายแง่มุม

แก้วและกระจกในมุมของอารยธรรมจีนจึงเป็นบทเรียนให้เราได้ว่า ทุกสิ่งล้วนมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ซ่อนอยู่ เพียงแต่ว่าจากความรู้และจุดที่เรายืนอยู่นั้น ยังไม่สามารถบอกคุณค่าและวิธีใช้มันได้เท่านั้น

การรักษาความหลากหลายเอาไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญ สังคมและอารยธรรม จึงควรส่งเสริมความสร้างสรรค์ในที่หลากหลายให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การรีบปฏิเสธหรือละเลยสิ่งใดไป เท่ากับการปิดกั้นโอกาสทองในอนาคต

และอีกข้อที่พึงระลึก คือ ในขณะที่เสพสุขจากข้อได้เปรียบคู่แข่งคนอื่นอยู่ ต้องคอยสอดส่องดูด้วยเช่นกันว่าข้อได้เปรียบนั้นกำลังกัดกินและชะลอเราอยู่หรือไม่

เพราะไม่ว่าเราจะได้เปรียบคนอื่นมากสักเท่าไร หากโลกต้องเปลี่ยนไป คู่แข่งซึ่งดิ้นรนอยู่รอดในทิศทางอื่น อาจวิ่งนำในเส้นทางใหม่ ทิ้งให้เราจมอยู่กับข้อได้เปรียบของเราที่กลายเป็นอดีต

ขณะที่อารยธรรมจีนเชิดหน้าชูตาและโกยรายได้ได้เป็นกอบเป็นกำจากการผลิตเครื่องเคลือบ ใครเล่าจะนึกว่า การละเลยความสนใจในแก้วและกระจก จะเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้โลกพลิกผันเปลี่ยนขั้วอำนาจไป