posttoday

250 ปีแห่งยุทธนาวี เหยียบป้อมวิไชยเยนทร์

30 ธันวาคม 2561

พระศรีธวัชเมธี (ชนะ ภมรพล ป.ธ.9)ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง

โดย สมาน สุดโต 

พระศรีธวัชเมธี (ชนะ ภมรพล ป.ธ.9)ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดราชบุรณราชวรวิหาร ไปชมพระราชวังเดิม เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2561 แล้วเขียนในอนุทินประจำวัน (ครั้งที่ 660 ไม่มีวัดโพธิ์ ในแผนที่จารกรรมยุคธนบุรี) ในเฟซบุ๊ก ที่มีแฟนเพจ ติดตามจำนวนมาก ส่วนผมไปก่อนหนึ่งวัน จึงขอนำอนุทินของท่านเจ้าคุณพระศรีธวัชเมธี ลงคอลัมน์สยามอัศจรรย์ ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2562

ท่านเจ้าคุณนักเขียนเล่าว่าเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2311 เป็นวันที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราชทรงยุทธนาวี ล่องแม่น้ำจากทางตะวันออก (จันทบุรี) ทรงขึ้นเหยียบป้อมวิไชยเยนทร์ หรือป้อมแบงกอก (Bangkok Fort) ฝั่งทิศตะวันตก เป็นยุทธศาสตร์บุกพม่าที่โพธิ์สามต้นและได้รับชัยชนะ สร้างบ้านแปงเมืองสำเร็จ สถาปนาพระราชวังเดิมขึ้นเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาลประเทศสยาม แม้จะเป็นราชธานีกรุงธนบุรีสั้นๆ แค่ 15 ปี แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ในนามเจิ้งเหอ แซ่แต้ ก็ทรงสร้างชื่อเสียงสะท้านแผ่นดิน

ปกติพระราชวังเดิมเปิดให้ผู้ชมภายนอกเข้าชมปีละครั้ง ตรงกับวันปราบดาภิเษก29 ธ.ค. แต่ปีนี้ พิเศษ ครบ 250 ปีแห่งยุทธนาวีเหยียบป้อมวิไชยเยนทร์ แล้วทรงเปลี่ยนจากชื่อป้อมมาเป็น ป้อมวิไชยประสิทธิ์ จึงเปิดโอกาสให้เข้าชมราวครึ่งเดือน จากวันที่ 15 ธ.ค.เป็นต้นไป (ป้อมวิไชยเยนทร์ หรือวิไชยประสิทธิ์ สร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)

250 ปีแห่งยุทธนาวี เหยียบป้อมวิไชยเยนทร์

ท่านเจ้าคุณเขียนความตั้งใจที่จะไปพระราชวังเดิมว่า กากบาทในปฏิทินแล้วว่า ปีนี้จะต้องเข้าไปรับกลิ่นอายพระราชวังเดิม เข้าชมแผนที่จารกรรมอีกครั้ง และยืนดูว่าวัดอรุณหรือวัดแจ้งอยู่ตรงไหน ท่าน้ำวัดอยู่ตรงไหน และกะคำนวณว่าวัดโพธิ์อยู่ตรงไหน ที่ตั้งอยู่คนละฟากของแม่น้ำเจ้าพระยา (เมื่อท่านดูในแผนที่จารกรรม ที่เขียนโดยนักสืบชาวพม่า แสดงที่ตำหนักเก๋ง ในพระราชวังเดิม) ปรากฏว่าหาที่ตั้งของวัดโพธิ์ไม่เจอ นั่นคือ วัดโพธิ์ไม่ปรากฏในแผนที่จารกรรมแผ่นนี้

แต่ถ้าตรวจสอบกับแผนที่อื่นๆ ที่ชาวต่างชาติได้วาดไว้ จะเห็นชื่อวัดโพธิ์ ส่วนวัดสลักคือวัดมหาธาตุนั้นปรากฏให้เห็นแต่ไหนแต่ไรมา

เดินเข้าประตูพระราชวังเดิม เห็นอักษรจารึกที่ ร.5 เสด็จและทรงพระอักษรชมเชยกองทหารเรือไว้ เข้าชมเก๋งคู่ทั้งเก๋งเล็กเก๋งใหญ่ และเข้าไปดูศาลหัวปลาวาฬยักษ์ ก่อนจะเข้าไปภายในศาลพระเจ้าตากสินมหาราชที่ท้องพระโรง เข้าไปด้านที่มีเก้าอี้เป็นห้องประชุมเสนาบดี ไม่กล้าไปลองที่นั่งเสนาบดี แต่เข้าไปอีกด้านหนึ่ง และไปยืนดูบุษบกที่มีพระพุทธรูปปางลีลาประดิษฐานอยู่ เสียดายที่เขาไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป

250 ปีแห่งยุทธนาวี เหยียบป้อมวิไชยเยนทร์

ได้แต่คัดลอกที่เขียนว่า “บุษบกหลังนี้ พระรัตนมุนี เจ้าอาวาสวัดหงส์รัตนาราม ได้ถวายแด่พลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา ผู้สำเร็จราชการกระทรวงทหารเรือขณะนั้น เมื่อ 4/8/2467”ชื่อพระรัตนมุนี สระ “อุ” ที่เขาเขียนไว้ตกหายไป และข้าพเจ้าก็แน่ใจว่า พระรัตนมุนี วัดหงส์รัตนารามรูปนี้ หมายถึงพระรัตนมุนี (บาง) คนแถววิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ที่หลายคนนึกว่าเป็นเจ้าคุณคนสุพรรณเสียอีก เพราะวัดหงส์เกี่ยวข้องกับเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม เคยบวชพระจำพรรษาอยู่) เคยเป็นฐานที่มั่นของชาวสุพรรณมาก่อนแม้พระชาวสุพรรณไม่มีใครเป็นเจ้าอาวาส หรือใครมีหลักฐานเป็นอื่นให้แจ้งมา

ออกจากท้องพระโรง ไปยืนดูหนังสือ ซื้อติดมา 2 เล่ม ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส และเล่มเกี่ยวกับ The Second King คือสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสียดายที่พระตำหนักของสมเด็จพระปิ่นเกล้าถูกปิดซ่อมบูรณะ หมดโอกาสเข้าไปชมในปีนี้

เจ้าหน้าที่บอกว่า ที่เรือนเขียวด้านใกล้กับป้อมวิไชยประสิทธิ์นั้น มีฉายวีดิทัศน์ และแนะนำให้ไปเข้าชม (ที่เขาเปิด) เป็นรอบๆ จบแล้ว ก็เดินเข้าคณะ 7 วัดอรุณราชวราราม ไปฉันเพลกับพวกพ้องน้องพี่

250 ปีแห่งยุทธนาวี เหยียบป้อมวิไชยเยนทร์

อันเรือนเขียวนี้ เป็นเรือนไม้โบราณ สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2443-2449 เคยเป็นอาคารโรงพยาบาลของโรงเรียนนายเรือ ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของกรมสื่อสารทหารเรือ

ใช้เวลาเข้าชมพระราชวังเดิม ราว 30 นาที เดินเข้าวัดอรุณไปที่รอบระเบียงพระอุโบสถวัดอรุณฯ พบอัฐิของเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์(พุ่ม ศรีไชยยันต์) ซึ่งข้าพเจ้าเคยได้ยินว่า ในอดีตมีความพยายามจะบรรจุอัฐิที่พระพุทธปรางค์หรือไง? คือที่พระปรางค์ วัดราชบุรณะ แต่ตกลงกันไม่ได้ จึงไม่ได้บรรจุที่วัดราชบุรณะ ทั้งๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ (ถนนจักรเพชร) นั่นคือนิวาสสถานของท่านเจ้าพระยาฯ (พุ่ม) ซึ่งข้าพเจ้าเคยเดินทางไปดูโรงเรียนของท่านที่ จ.นนทบุรี

เป็นอีกหนึ่งร่องรอยประวัติศาสตร์ จากวัดราชบุรณะ ถึงพระราชวังเดิม ถึงวัดแจ้ง และไปถึงเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (พุ่ม) สำหรับผมนั้น ผ่านวัดอรุณฯ เข้าภายในพระอุโบสถน้อยที่อยู่หน้าพระปรางค์ ที่มีเตียงที่ประทับสมเด็จพระเจ้าตากตั้งอยู่ภายใน ได้ พบว่าเตียงนี้กลายเป็นที่ปัดเป่าทุกข์และภัย ของคนที่มีความเชื่อเมื่อลอดใต้เตียงนั้น ครับ