posttoday

ดาวซิริอัส

13 มกราคม 2562

หากมองไปบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำของช่วงเดือน ม.ค.ของทุกปี

โดย วรเชษฐ์ บุญปลอด 

หากมองไปบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำของช่วงเดือน ม.ค.ของทุกปี เราจะเห็นดาวฤกษ์สว่างหลายดวงอยู่ทางทิศตะวันออก บางคนลากเส้นเชื่อมดาวสว่างเหล่านี้ทำให้เห็นดาวเรียงตัวกันเป็นรูปวงรี หรือไม่ก็ลากเส้นเชื่อมต่อกันได้เป็นรูปหกเหลี่ยม เรียกว่าหกเหลี่ยมฤดูหนาว (Winter Hexagon) ดาวดวงที่สว่างที่สุดอยู่ทางขวามือ หรือค่อนไปทางทิศใต้มากที่สุด มีชื่อว่าดาวซิริอัส (Sirius) คนไทยเรียกว่าดาวโจร

ซิริอัสอยู่ในกลุ่มดาวหมาใหญ่ เป็นกลุ่มดาวขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็ก มีตำแหน่งอยู่ทางใต้ของเส้นศูนย์สูตรฟ้า ใกล้กับกลุ่มดาวนายพราน หรือดาวเต่า ตำนานหนึ่งกล่าวว่าเป็นสัญลักษณ์แทนหมาล่าสัตว์หนึ่งในสองตัวของนายพรานโอไรออนตามเทพนิยายกรีก (อีกตัวคือกลุ่มดาวหมาเล็กซึ่งอยู่ใกล้กัน) และเป็นหนึ่งในกลุ่มดาวโบราณ 48 กลุ่มที่ทอเลมี ปราชญ์ชาวกรีกได้รวบรวมไว้ในตำราอัลมาเจสต์เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 2

ซิริอัสเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าเวลากลางคืน ชื่อดาวในภาษาละตินมาจากภาษากรีกที่แปลว่าประกายไฟหรือการเผาไหม้ แท้จริงแล้วดาวซิริอัสมีสีขาว ความปั่นป่วนในบรรยากาศโลกทำให้เรามองเห็นดาวต่างๆ มีแสงกะพริบระยิบระยับ ดาวซิริอัสสว่างมากจึงสามารถสังเกตเห็นการกะพริบและการเปลี่ยนแปลงของสีได้ชัดเจนจนดูเหมือนว่าสีของดาวเปลี่ยนแปลงไปมาไม่คงที่

ดาวซิริอัสสว่างกว่าดาวฤกษ์ดวงอื่นบนท้องฟ้า สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เป็นอันดับต้นๆ ห่างดวงอาทิตย์เพียง 8.6 ปีแสง (1 ปีแสงคือระยะทางที่แสงเดินทางในเวลา 1 ปี)มีขนาดจริงราว 1.7 เท่าของดวงอาทิตย์ และมวลราว 2 เท่าของดวงอาทิตย์ ดาวซิริอัสปลดปล่อยพลังงานด้วยอัตราสูงกว่าดวงอาทิตย์ หากนำดาวซิริอัสมาวางแทนที่ดวงอาทิตย์จะมีความสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 25 เท่า คนไทยเรียกดาวซิริอัสว่าดาวโจร สันนิษฐานว่าในอดีตที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ดาวซิริอัสส่องสว่างมากจนโจรสามารถใช้แสงของดาวช่วยให้มองเห็นในเวลากลางคืน

บันทึกทางโบราณคดีพบว่าดาวซิริอัสเป็นดาวสำคัญสำหรับชาวอียิปต์โบราณ เมื่อเห็นดาวซิริอัสขึ้นเหนือท้องฟ้าในเวลาฟ้าสางก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น เป็นสัญญาณแสดงว่าฤดูร้อนกำลังจะมาถึงพร้อมกับฤดูน้ำหลากในแม่น้ำไนล์ดาวซิริอัสไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวในอวกาศ มีดาวที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าโคจรอยู่รอบๆ โดยดาวที่เป็นคู่จัดเป็นดาวแคระขาว ซึ่งเป็นวัตถุขนาดเล็ก หลงเหลือจากการล่มสลายของดาวในช่วงท้ายของวิวัฒนาการ เราเรียกดาวหลักว่าซิริอัสเอ (Sirius A) ส่วนดาวที่เป็นคู่เรียกว่าซิริอัสบี (Sirius B) ค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1862 คาดว่าเมื่อกว่า 100 ล้านปีก่อน ดาวซิริอัสบี
เคยเป็นดาวที่สว่างมากดวงหนึ่งเมื่อมองจากโลก

ข้อมูลจากการสังเกตการณ์ นักดาราศาสตร์พบว่าดาวซิริอัสเอและบีโคจรรอบกันด้วยคาบประมาณ 50 ปี จำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่คุณภาพดีจึงจะสังเกตเห็นทั้งคู่แยกออกจากกันได้ ซิริอัสบีมีขนาดใกล้เคียงโลก แต่มีมวลสูงมากเนื่องจากเป็นแก่นซึ่งหลงเหลือจากการยุบตัวของดาว

ข้อมูลดาวทุกดวงที่สังเกตการณ์ได้บนท้องฟ้า ซึ่งรวบรวมจากการสังเกตการณ์ด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้ทราบตำแหน่ง ระยะห่าง และการเคลื่อนที่จริงในอวกาศ จากข้อมูลนี้ นักดาราศาสตร์พบว่าดาวซิริอัสกำลังเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นอย่างช้าๆ ใกล้กันที่สุดในอีกราว 6 หมื่นปีข้างหน้า ที่ระยะห่าง 7.8 ปีแสง โดยมีความสว่างเพิ่มขึ้นมากกว่าปัจจุบันอีกเล็กน้อย และดาวซิริอัสจะยังคงเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าเวลากลางคืนสำหรับคนบนโลกนับจากปัจจุบันไปอีกประมาณ 2.1 แสนปี หลังจากนั้น ดาวเวกา (Vega) ดาวสว่างที่สุดในกลุ่มดาวพิณจะขึ้นแท่นเป็นดาวสว่างที่สุดบนท้องฟ้าแทนที่ดาวซิริอัส

ดาวซิริอัส

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (วันที่ 13-20 ม.ค.)

ท้องฟ้าเวลาหัวค่ำยังคงมีดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์สว่างดวงเดียวที่เห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่าในกลุ่มดาวปลา ดาวยูเรนัสกับดาวเนปจูนก็อยู่บนท้องฟ้าในเวลาเดียวกัน แต่ดาวยูเรนัสสังเกตได้ยากด้วยตาเปล่า ขณะที่ดาวเนปจูนต้องใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์จึงมีโอกาสเห็นได้ ดาวอังคารปรากฏอยู่สูงบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ในขณะที่ท้องฟ้าเริ่มมืดลงหลังดวงอาทิตย์ตก จากนั้นเคลื่อนต่ำลงเรื่อยๆ จนกระทั่งตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 5 ทุ่ม

ท้องฟ้าเวลาเช้ามืดมองเห็นดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีเป็นดาวสว่างสองดวงอยู่ทางทิศตะวันออก เยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สัปดาห์นี้ดาวศุกร์จะออกจากกลุ่มดาวแมงป่องแล้วเข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกงู ซึ่งมีดาวพฤหัสบดีปรากฏอยู่ สังเกตได้ว่าดาวเคราะห์สว่างสองดวงนี้กำลังเคลื่อนเข้าใกล้กันมากขึ้นทุกวัน จะเข้าใกล้กันที่สุดในกลางสัปดาห์ถัดไป

สัปดาห์นี้เป็นข้างขึ้น มองเห็นดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำของทุกวัน คืนวันอาทิตย์ที่ 13 ม.ค. 2561 จันทร์เสี้ยวอยู่ใกล้ดาวอังคารที่ระยะ 8 องศา วันจันทร์ที่ 14 ม.ค. ดวงจันทร์ทำมุม 90 องศากับดวงอาทิตย์ เราจึงเห็นดวงจันทร์สว่างครึ่งดวง

ค่ำวันพฤหัสบดีที่ 17 ม.ค. ดวงจันทร์มีตำแหน่งอยู่ในกลุ่มดาววัว โดยเคลื่อนเข้าบังดาวฤกษ์บางดวงในกลุ่มดาวนี้ ซึ่งเป็นสมาชิกของกระจุกดาวที่มีชื่อว่าไฮยาดีส (Hyades) เป็นกระจุกดาวเปิดที่ดาวสว่างในกระจุกเรียงกันเป็นรูปตัว V หรือที่คนไทยเรียกว่าดาวธง เพราะเมื่อลากเส้นเชื่อมโยงกันจะเห็นเป็นรูปธงสามเหลี่ยม พื้นที่ด้านสว่างบนดวงจันทร์เพิ่มขึ้นทุกวันจนสว่างเต็มดวงในต้นสัปดาห์ถัดไป

สถานีอวกาศนานาชาติหรือไอเอสเอสโคจรรอบโลกที่ความสูงประมาณ 400 กิโลเมตร ปรากฏให้เห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบ โดยมองเห็นเป็นดาวสว่างเคลื่อนที่บนท้องฟ้า มีโอกาสเห็นได้เฉพาะในเวลาเช้ามืดและหัวค่ำ สัปดาห์นี้สามารถเห็นได้หลายครั้ง (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.heavens-above.com) ที่น่าสนใจมีดังนี้

วันพุธที่ 16 ม.ค. 2562 ขณะท้องฟ้าเริ่มสว่างแล้ว กรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงเห็นสถานีอวกาศเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเวลา 06.14 น. จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางขวามือ ถึงจุดสูงสุดบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือในเวลา 06.17 น. ที่มุมเงย 65 องศา สถานีอวกาศจะผ่านใกล้ดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดี ก่อนสิ้นสุดการมองเห็นใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงใต้ในเวลา 06.21 น.

ค่ำวันเดียวกัน สถานีอวกาศเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเวลา 19.28 น. จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางซ้ายพร้อมกับสว่างขึ้น หายลับไปขณะเข้าสู่เงามืดของโลกทางทิศใต้ในเวลา 19.33 น. ที่มุมเงย 60 องศา

วันศุกร์ที่ 18 ม.ค. 2562 สถานีอวกาศเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเวลา 19.23 น. จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางขวา ถึงจุดสูงสุดบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเวลา 19.26 น. ที่มุมเงย 28 องศา สิ้นสุดการมองเห็นเมื่อสถานีอวกาศเข้าสู่เงามืดของโลกทางทิศเหนือในเวลา 19.28 น. ที่มุมเงย 19 องศา

วันเสาร์ที่ 19 ม.ค. 2562 สถานีอวกาศเริ่มปรากฏขณะออกจากเงามืดของโลกในเวลา05.18 น. บนท้องฟ้าทิศใต้ที่มุมเงย 65 องศา จากนั้นเคลื่อนต่ำลงโดยเบนไปทางซ้าย สิ้นสุดการมองเห็นใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงใต้ในเวลา 05.21 น.

ค่ำวันเดียวกัน ขณะท้องฟ้ายังไม่มืดดีนัก สถานีอวกาศเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเวลา 18.31 น. จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้น ผ่านใกล้ดาวอังคารและผ่านเหนือศีรษะในเวลา 18.34 น. ที่มุมเงย 80 องศา สิ้นสุดการมองเห็นใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือในเวลา 18.38 น. (เวลาอาจคลาดเคลื่อนได้เล็กน้อย)