BPP อีก 1,400 เมก ต้องไปให้ถึง
เป้ามีไว้พุ่งชน! บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) ก็เช่นกัน ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าปี 2568 จะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ให้ได้ 4,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า ในจำนวนนี้มีพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 20%
เรื่อง พูลศรี เจริญ
เป้ามีไว้พุ่งชน! บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) ก็เช่นกัน ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าปี 2568 จะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (ซีโอดี) ให้ได้ 4,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า ในจำนวนนี้มีพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 20%
นั่นก็หมายความว่า BPP มีเวลา 7 ปีรวมปีนี้ ในการปั่นไฟหรือเพิ่มพอร์ตกำลังการผลิตไฟฟ้าให้ได้ตามเป้า
“สุธี สุขเรือน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BPP รับไม้ต่อจาก “วรวุฒิ ลีนานนท์” ในการสานภารกิจดังกล่าว
“เราต้องออกไปหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อให้สามารถขยายธุรกิจต่อไปได้” สุธี กล่าวในโอกาสให้สัมภาษณ์ “โพสต์ทูเดย์”
ความหมายที่สุธีกล่าวถึงก็คือ การลงทุนต่างประเทศ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายทางธุรกิจที่วางไว้ โดยการเติบโตจะมาจากสองส่วน คือ ออร์แกนิกโกรทหรือการเติบโตจากการดำเนินธุรกิจปกติและการซื้อกิจการ
สำหรับการซื้อกิจการนั้น สุธี กล่าวว่า เห็นโอกาสทองการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น ที่ผู้ประกอบการทั้งในท้องถิ่นเองและทุนต่างชาติที่ไปลงทุนต้องการขายกิจการ ซึ่งมีทั้งรายเล็กและรายใหญ่
โดยในญี่ปุ่น BPP ตั้งเป้ากำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 400 เมกะวัตต์ และช่วงปลายปีที่ผ่านมาได้ไปเปิดสำนักงานที่ประเทศดังกล่าว ซึ่งสุธีบอกว่าเป็นการสะท้อนชัดว่าบริษัททำจริงตามนโยบายที่วางไว้ นอกจากนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นและสถาบันการเงินในประเทศดังกล่าว ซึ่งช่วยส่งเสริมให้การพัฒนาโครงการต่างๆ สามารถเดินหน้าได้ตามแผนงานที่วางไว้
นอกจากญี่ปุ่นแล้วยังมองหาโอกาสการลงทุนในประเทศใหม่ๆ อีกด้วย เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ แต่ขณะนี้ขอโฟกัสที่เวียดนามก่อน
สุธี กล่าวว่า ล่าสุดที่บริษัทได้ไปลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เวียดนาม ณ จังหวัดซอกจัง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อผลตอบแทนของโครงการในระยะยาว โดยมีกำลังผลิต 80 เมกะวัตต์ ซึ่งแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ ซีโอดีภายในปี 2563 ส่วนโครงการอีก 2 ระยะ กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ และ 20 เมกะวัตต์ ซีโอดีภายในปี 2564
ทั้งนี้ เวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพ มีการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้า และมีนโยบายสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนอย่างชัดเจน สอดคล้องกับแนวทางการศึกษาโครงการและการตัดสินใจลงทุนที่ BPP เชื่อมั่นเสมอมา
นอกจากนี้ยังมีโอกาสสำหรับการลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานแสงอาทิตย์ หรืออย่างโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีที่สามารถขยายกำลังเพิ่มได้
สิ้นปี 2561 BPP มีกำลังผลิต 2,140 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 โดยจะเริ่มซีโอดีเข้ามาอีกประมาณ 800 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมดเป็น 2,900 เมกะวัตต์ คงเหลือกำลังผลิตอีก 1,400 เมกะวัตต์ ที่จะต้องไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้
สุธี กล่าวว่า จุดแข็งของบริษัทจากการไปลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงการที่บริษัทแม่ (บ้านปู) ได้เข้าไปลงทุนไว้แล้ว โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ทำให้ธุรกิจยังเดินหน้าไปต่อเนื่อง
ปัจจุบันธุรกิจของฺ BPP ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าหงสาใน สปป.ลาว ร่วมทุนกับบริษัท ราชบุรีโฮลดิ้งส์ (RATCH)
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจีน รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม
โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ที่ร่วมทุนกับบริษัท ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น
ทั้งนี้ หากนับรวมโรงไฟฟ้าและโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนามีทั้งสิ้น 28 แห่ง โดยมีทั้งในไทย จีน ญี่ปุ่น สปป.ลาว และเวียดนาม มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 2,869 เมกะวัตต์เทียบเท่าภายในปี 2566
ในจำนวนนี้แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนกำลังผลิตรวม 740 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยผลิตตามสัดส่วนการลงทุนที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์จนครบภายในปี 2566 พร้อมสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 10% อีกด้วย
สำหรับปี 2562 BPP ตั้งงบลงทุนปกติที่ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับปี 2561 โดยงบดังกล่าวไม่รวมการซื้อและควบรวมกิจการ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญการเดินสู่เป้าหมายของบริษัท