posttoday

ขงจื่อเหล่าจื่อเข้าใจกันได้อย่างไร? ฮ่องเต้ต้องรู้สำเนียงท้องถิ่นหรือไม่? และหอคอยบาเบล

24 กุมภาพันธ์ 2562

หอคอยบาเบลคือหอคอยในตำนาน

หอคอยบาเบลคือหอคอยในตำนาน นับเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่เกิดจากความทะเยอทะยานของมนุษย์ เพราะเป้าหมายคือจะสร้างไว้เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมอารยธรรมของมนุษยชาติ โดยจะสร้างให้สูงถึงสวรรค์ จากความร่วมมือของลูกหลานโนอาห์ผู้รอดจากเหตุการณ์น้ำท่วมโลกครั้งใหญ่

เรื่องของหอคอยบาเบลในมุมมองของนักมานุษยวิทยาคงเป็นเพียงตัวแทนคำอธิบายความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษาของคนในอารยธรรมหนึ่ง

แต่ความสำคัญของความร่วมมือ การบริหารจัดการมวลชนด้วยภาษาเดียวกัน เป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์ทุกอารยธรรมคำนึงถึงตลอดมา

และดูเหมือนว่า ฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) ผู้รวบรวมจีนเป็นหนึ่งเดียวคนแรกในประวัติศาสตร์จีน ก็คำนึงถึงเช่นกัน

พระองค์ยังทรงเป็นผู้ริเริ่มเมกะโปรเจกต์เช่นกำแพงเมืองจีน ซึ่งก็คือการนำกำแพงที่เดิมเคยกั้นแต่ละแคว้นมาต่อเชื่อมกันเป็นกำแพงยาวสุดลูกหูลูกตา

เมกะโปรเจกต์ที่มาพร้อมภาษาที่เป็นหนึ่งเดียว สอดคล้องกับเรื่องหอคอยบาเบลเป็นอย่างดี แม้ฉินสื่อหวงตี้จะใช้กำลังฝืนบังคับมากกว่าความสมัครสมานสามัคคีก็ตาม

นี่ขนาดแค่ขยับเรื่องภาษาเขียนเท่านั้น หากทำให้ภาษาพูดเป็นหนึ่งเดียวกันได้ จีนจะได้ยิ่งใหญ่ขนาดไหนกันหนอ...

ขงจื่อน่าจะเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกไม่แน่ใจ เพราะก่อนราชวงศ์ฉินจะสั่งให้จีนใช้อักษรเป็นหนึ่งเดียว ในยุคโจวตะวันตกและโจวตะวันออก จีนก็ได้ใช้ภาษาพูดเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว

แต่ผลกลับไม่ได้ทำให้แต่ละแคว้นสามัคคีกันเลย แต่ละแคว้นต่างก็แตกแยกกันยกใหญ่อยู่ดี

ตำรา “หลุนอวี่” (论语) ของขงจื่อบันทึกไว้ ภาษาพูดที่ทุกแคว้นสามารถใช้ได้ร่วมกันในสมัยนั้นเรียกว่า “หย่าเหยียน”(雅言) ซึ่งอาจแปลตรงตัวว่า “ภาษาสูง”

“หย่าเหยียน” ใช้กันในวงขุนนาง นักวิชาการและวงนักคิดสมัยนั้น เป็นสำเนียงกลางที่ใครอยากโกอินเตอร์ระหว่างแคว้นต้องเล่าเรียน

สำหรับผู้ติดตามประวัติศาสตร์จีนทั้งหลายจึงไม่ต้องสงสัยอีกต่อไป ว่าขงจื่อแห่งแคว้นหลู่คุยกับเหล่าจื่อแห่งแคว้นเฉินต้องใช้ล่ามหรือไม่ หรือเมื่อซุนหวู่แห่งแคว้นฉี เข้าพรีเซนท์พิชัยสงครามของตนให้กับกษัตริย์แคว้นหวู เขาต้องลงท้ายบทสนทนาด้วยเสียง “ฮิ” หรือเปล่า (แคว้นหวูตั้งอยู่ใกล้ภาคกลางเยื้องไปทางตะวันออกของอาณาจักรจีน)

คำตอบก็คือ พวกเขาน่าจะใช้สำเนียง “หย่าเหยียน” สื่อสารกัน

แต่สองพันห้าร้อยกว่าปีที่แล้วยังไม่มีเทปบันทึกเสียงนักวิชาการจึงได้แต่คาดเดาว่า “หย่าเหยียน” คงใช้สำเนียงของเมืองเฮ่าจิง (镐京- ชื่อเมืองโบราณ ตั้งอยู่บริเวณเขตฉางอาน เมืองซีอานในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเมืองหลวงในสมัยราชวงศ์โจว

ซึ่งแน่นอนว่า “หย่าเหยียน” ถูกใช้กันแต่ในแวดวงคนมีการศึกษาและวงราชการ มิได้แพร่หลายในหมู่ชาวบ้านทั่วไป

เพราะหากนโยบายรวมสำเนียงเป็นหนึ่งถูกใช้กับทุกชนชั้นตั้งแต่สมัยนั้น ชาวจีนทางเหนือในยุคนี้ คงไม่ต้องละเหี่ยใจว่าฟังภาษาจีนสำเนียงกว่างตง (กวางตุ้ง) ไม่รู้เรื่องแม้แต่นิดเดียว

อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการจัดตั้งสำเนียงราชการมีอยู่ในทุกยุค อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีไว้ให้กับกลุ่มคนที่จะต้องข้องเกี่ยวกับราชสำนักส่วนกลาง มิเช่นนั้นบ้านเมืองจะบริหารงานลำบากแน่นอน

และสำเนียงราชการก็ไม่พ้นอนิจจัง เมื่อบ้านเมืองวุ่นวาย สำเนียงราชการก็วุ่นวายตามไปด้วย

เช่นในยุคราชวงศ์เหนือใต้ แผ่นดินจีนถูกรุกรานจากชนเผ่านอกด่านทางตอนเหนือ ทำเอาชาวฮั่นส่วนหนึ่งต้องอพยพลงใต้

ระยะเวลากว่า 300 ปี ผ่านไป แม้ชนเผ่านอกด่านจะพยายามปรับเปลี่ยนตนเองให้เป็นชาวจีนฮั่นแทบทุกด้านไม่เว้นแม้กระทั่งภาษาและสำเนียง แต่สำเนียงราชการทางตอนเหนือก็ปนเปกับสำเนียงชนเผ่านอกด่าน ส่วนสำเนียงราชการของชาวฮั่นทางตอนใต้ก็ปนเปกับชาวจีนดั้งเดิมทางใต้ด้วยเช่นกัน

เมื่อจีนรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในราชวงศ์สุย จึงต้องเจอกับปัญหาสำเนียงราชการในยุคนั้นก็แตกเป็นสองสาย

ราชวงศ์สุยซึ่งปกครองจีนในช่วงสั้นๆ และราชวงศ์ถังซึ่งรับมรดกเป็นแผ่นดินต่อมาจึงหาทางกำหนดสำเนียงราชการเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง

โดยบัณฑิตทางเหนือและบัณฑิตทางใต้ตกลงที่จะหาสำเนียงกลาง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสำเนียงราชการโบราณก่อนบ้านเมืองวุ่นวาย

ซึ่งสำเนียงนี้ไม่ได้อ้างอิงสำเนียงท้องถิ่นใดๆ ของยุคนั้นเลย

คาดเดาว่าแม้แต่ฮ่องเต้ราชวงศ์ถังในยุคต้น ก็ไม่คุ้นกับสำเนียงราชการสำเนียงนี้เสียด้วยซ้ำ เอาเป็นว่าต้องหัดสำเนียงใหม่กันทั้งราชสำนักเลยทีเดียว

สำเนียงที่ว่าปรากฏเป็นตำราที่ชื่อ “เชียอวิ้น” (切韵) จัดเป็นตำราเกี่ยวกับสำเนียงราชการจีนที่เก่าแก่ที่สุดที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้เราพอจะสืบรู้ได้ว่าคนสมัยถังเขามีสำเนียงราชการเป็นอย่างไร

หลังจากการโปรโมทและบรรจุให้สำเนียงนี้ใช้กับการสอบเข้ารับราชการ ทั้งในการสัมภาษณ์และการเขียนกลอนให้ได้สัมผัส จึงทำให้สำเนียงนี้แพร่หลายเรื่อยมา

แต่พอจีนเปลี่ยนศูนย์กลางอำนาจ เกิดวิกฤตการณ์พลิกผันบ้านเมืองในราชวงศ์ต่อๆ มา สำเนียงราชการก็จำต้องปรับเปลี่ยนไป

ทั้งนี้ คนที่ผลักดันให้สำเนียงราชการแพร่หลายกว้างขวางมากที่สุด น่าจะเป็นฮ่องเต้ยงเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิงของชาวแมนจู

ยุคราชวงศ์ชิงใช้สำเนียงจีนทางตอนเหนือเป็นสำเนียงราชการซึ่งคล้ายกับสำเนียงจีนกลางในยุคนี้

ในภาษาอังกฤษ คำว่าภาษาจีน “แมนดาริน” มีข้อสันนิษฐานหนึ่งที่คาดเดาว่า มาจากเสียงอังกฤษของคำว่า “หม่านต้าเหริน”(满大人) ซึ่งแปลว่า “ขุนนางแมนจู”

สำเนียงจีนแมนดาริน จึงเท่ากับสำเนียงจีนของขุนนางชาวแมนจูนั่นเอง...

ฮ่องเต้ยงเจิ้งเคยบ่นว่าพระองค์ฟังสำเนียงขุนนางแถบกว่างตง(กวางตุ้ง) ฝูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน) พูดจีนแมนดารินไม่รู้เรื่อง

จึงบัญชาให้จัดตั้งสถาบันสอนสำเนียงราชการในแต่ละมณฑล และกำหนดว่าใครก็ตามที่จะสอบเป็นขุนนางต้องเรียนสำเนียงแมนดารินให้ได้ภายในระยะเวลา 8 ปี

นอกจากนั้น ยังกำหนดให้ขุนนางในท้องถิ่นสอนสำเนียงแมนดารินให้แก่ชาวบ้านเดือนละสองครั้ง เพื่อความสะดวกในการบริหารขับเคลื่อนแผ่นดิน

นับว่าตั้งแต่สมัยฉินสื่อหวงตี้เป็นต้นมา นี่เป็นการโปรโมทภาษาราชการที่ส่งผลกว้างขวางที่สุด เพราะเริ่มลงไปถึงระดับชาวบ้าน

ในปี ค.ศ. 1867 Sir Thomas Francis Wade ทูตอังกฤษประจำราชสำนักชิงและผู้พัฒนาระบบถอดเสียงภาษาจีนกลางด้วยตัวอักษรโรมันในระบบ Wade Giles บันทึกไว้ว่า ชาวบ้านจีน 4 ใน 5 ใช้ภาษาจีนแมนดารินได้

สถิติข้างต้นอาจจะไม่ได้แม่นยำนัก แต่ก็พอบ่งบอกได้ว่าสำเนียงจีนแมนดารินมีความแพร่หลายมากที่สุดกับทุกชนชั้นในอาณาจักรจีน

และเพราะความแพร่หลายของสำเนียงจีนแมนดารินในช่วงนั้น จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ภาษาจีนแมนดารินถูกใช้เป็นภาษาจีนกลางเมื่อราชวงศ์ชิงล่มสลายลง

ประวัติศาสตร์จีนบอกว่า ในการบริหารปกครองอาณาจักรที่กว้างขวางได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่เป็นหนึ่งเดียวไปไม่ได้

แต่ภาษาที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ก็ใช่จะรับประกันความมั่นคงของอาณาจักรได้แต่อย่างใด หลายต่อหลายครั้งสำเนียงภาษากลาง ยั่งยืนยาวนานกว่าช่วงอายุของราชวงศ์

หอคอยบาเบลจะเริ่มสร้างได้หรือไม่ จึงไม่ได้อยู่แค่การมีภาษาที่เป็นหนึ่งเดียว แต่ถ้าต้องเริ่มต้นด้วยการพูดจาคนละภาษากัน สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ย่อมยากกว่าเป็นเท่าทวีแน่

เพราะแม้แต่ภาษาเดียวกันแท้ๆ หากถูกตัดต่อตอนความจากสื่อคนละแหล่ง ยังทำให้คนที่ใช้ภาษาเดียวกัน ทะเลาะกันไม่จบไม่สิ้น หาความร่วมมือกันไม่ได้สักเรื่องด้วยซ้ำไป นับ “ภาษา” อะไรกับเรื่องจะสร้างหอคอยบาเบล