posttoday

แนวโน้มภัยแล้งรุนแรงหนัก! เสนอรัฐบาลใหม่เร่งลงทุนบริหารจัดการน้ำ

10 มีนาคม 2562

นักวิชาการชี้สถานการณ์ภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น แนะรัฐบาลใหม่เร่งลงทุนการบริหารจัดการน้ำ ห่วงขาดแคลนทรัพยากรน้ำในภาคตะวันออก

นักวิชาการชี้สถานการณ์ภัยแล้งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น แนะรัฐบาลใหม่เร่งลงทุนการบริหารจัดการน้ำ ห่วงขาดแคลนทรัพยากรน้ำในภาคตะวันออก

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้น่าจะมาเร็วและยาวนาน รวมถึงมีโอกาสขยายวงมากกว่าที่คาด และแนวโน้มน่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากภาวะโลกร้อน โดยเสนอให้รัฐบาลใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้ง เร่งลงทุนการบริหารจัดการน้ำและระบบชลประทานโดยด่วน ควรจัดสรรงบประมาณด้านนี้เพิ่มเติมไม่ต่ำกว่า 30% ในปี 2562 โดยใช้หน่วยงานของกองทัพช่วยดำเนินการ และหน่วยงานในกองทัพควรทำงานด้านการพัฒนามากขึ้น และควรเป็นภารกิจสำคัญในการช่วยเหลือรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ งบประมาณปี 2562 นั้นมีการจัดสรรให้ในส่วนของของแผนงานบูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประมาณ 128,783 ล้านบาท ซึ่งมองว่าไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในปีนี้ และวางโครงการสำหรับอนาคต งานวิจัยบ่งชี้ว่าอนาคตการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมและภาคท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ภาคเกษตรกรรมจะลดลงประมาณ 3-5% ในอีก 10-15 ปีข้างหน้า จังหวัดในพื้นที่ท่องเที่ยวและชายทะเลนั้นมีการใช้น้ำมีการใช้น้ำมากถึง 350-500 ลิตรต่อคนต่อวัน

สถานการณ์ภัยแล้งกระทบทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยว สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 ล้านบาท โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ยังคงการคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ที่ 3.3-4% ปัจจัยผลกระทบภัยแล้งยังไม่ส่งต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรัง อ้อย มันสำปะหลัง ผักผลไม้เข้าสู่ตลาดน้อยลง ดันให้ราคาสินค้าเกษตรบางตัวสูงขึ้นบ้าง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเล็กน้อยและรายได้เกษตรกรลดลงในช่วงไตรมาสสอง กำลังซื้อในภาคชนบทอ่อนแอลง รัฐบาลควรมีนโยบายเสริมรายได้ให้เกษตรกรในช่วงดังกล่าวผ่านกลไกกองทุนหมู่บ้าน

ต้นทุนน้ำในหลายเขื่อนและอ่างเก็บน้ำค่อนข้างต่ำ มีสำรองน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคถึงเดือนสิงหาคม รัฐบาลใหม่ควรศึกษาต้นทุนด้านการผลิตน้ำชลประทานและส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมในการบำรุงรักษาระบบชลประทาน สังคมไทยใช้น้ำโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทำให้มีการใช้น้ำอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ใช้อย่างฟุ่มเฟือยโดยไม่สนใจดูแลแหล่งต้นน้ำและดูแลสิ่งแวดล้อม

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า มีความเป็นห่วงการขาดแคลนทรัพยากรน้ำในภาคตะวันออก เนื่องจากเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีการใช้น้ำจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมากขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะนี้พื้นที่ภาคเกษตรกรรมก็ต้องใช้น้ำจำนวนมาก การใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคก็เพิ่มขึ้นจากประชากรที่หนาแน่นขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของการท่องเที่ยว ภาคตะวันออกนั้นมีความจำเป็นต้องพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ หากไม่แก้ไขต่อไปจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำขึ้นในภาคตะวันออกระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรม

ทั้งนี้ ควรพัฒนาและลงทุนระบบการน้ำเสียมาบำบัดหมุนเวียนใช้ รณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และ ควรศึกษาการจัดเก็บค่าน้ำสำหรับการใช้ในภาคเกษตรกรรมที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่และภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงต้นทุน ควรมีการจัดเก็บค่าน้ำในอัตราต่างกันตามความสามารถในการจ่าย ศึกษาการจัดเก็บภาษีบำบัดน้ำเสีย การจ่ายค่าน้ำและ ภาษีมลพิษน้ำ จะช่วยทำให้ทุกคนบำรุงรักษาแหล่งน้ำมากขึ้น