พระกำแพงซุ้มกอ กรุพิกุล กำแพงเพชร
“มีกูไว้ไม่จน” เป็นคำกล่าวขวัญถึงพระกำแพงซุ้มกอของเมืองกำแพงเพชร
“มีกูไว้ไม่จน” เป็นคำกล่าวขวัญถึงพระกำแพงซุ้มกอของเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นหนึ่งในพระเบญจภาคีของพระเครื่องเมืองไทย พระกำแพงซุ้มกอเป็นพระที่ทำจากเนื้อดินผสมว่าน 108 ชนิดและเกสรดอกไม้ จึงทำให้เนื้อของพระกำแพงซุ้มกอนี้มีลักษณะนุ่มละเอียดและมัน เมื่อนำผ้ามาเช็ดถูจะเกิดความวาวขึ้นมาทันทีอันเป็นเอกลักษณ์ของพระกำแพงซุ้มกอ องค์ที่นำมาให้ชมนี้เป็นพระกำแพงซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่กรุพิกุล
- มาดูพุทธลักษณะของพระกำแพงซุ้มกอ เป็นพระเครื่องที่ศิลปะงดงามจากยุคเชียงแสนมารวมกันกับศิลปะสมัยสุโขทัย องค์พระประธานประทับนั่งตรงกับพิมพ์สมาธิ พระเกศเป็นบัวตูมทรงจีโบ พระบาทและเข่าประทับซ้อนกันอย่างชัดเจน มีลายกนกอยู่ด้านข้าง ประทับอยู่บนบัวเล็บช้าง ขอบของพิมพ์พระจะโค้งมนลักษณะคล้ายตัว ก.ไก่ คนรุ่นเก่าจึงเรียกว่า “พระซุ้มกอ”
จุดพิจารณาโดยรวมด้านหน้า
1.ขอบด้านบนขวาขององค์พระจะงุ้มยื่นออกมาอย่างชัดเจน
2.ช่องซอกแขนทั้งสองฝั่งจะลึกมาก
3.ซอกแขนด้านขวาจะใหญ่กว่าด้านซ้าย
4.เส้นขอบจีวรจะลึกเข้าไปในซอกรักแร้ขวามองดูเหมือนตกท้องช้าง
5.ลายกนกฝั่งซ้ายขององค์พระบริเวณไหล่ซ้ายมองคล้ายเศียรพญานาค
6.ปลายเท้าซ้ายจะพลิ้วสวยงามเป็นธรรมชาติไม่แข็งทื่อ
ส่องดูจะเห็นลักษณะของเนื้อที่เด่นชัดอีกประการหนึ่ง มีจุดสีแดงเข้มกระจายที่เรียกกันว่าแร่ดอกมะขาม และตามซอกมุมลึกจะเห็นจุดดำๆ เรียกว่าคราบราดำจับอยู่
- พระกำแพงซุ้มกอเป็นพระเนื้อดินเผามีสีแดง สีเขียว และสีดำ มี 5 พิมพ์ โดยพิมพ์ใหญ่แยกออกเป็น 2 ประเภท คือ มีลายกนกและไม่มีลายกนก พระที่ไม่มีลายกนกส่วนใหญ่มักจะมีสีดำ หรือสีน้ำตาลแก่ ซึ่งเรามักจะเรียกว่า “พระกำแพงซุ้มกอดำ”
- พิมพ์กลาง ลักษณะคล้ายพิมพ์ใหญ่แต่บางกว่า พิมพ์จะตื้นกว่า
- พิมพ์เล็กจะคล้ายพิมพ์กลาง แต่ขนาดจะเล็กกว่าและบางกว่า
- พิมพ์ขนมเปี๊ยะจะมีขนาดเล็กน่ารัก การกดพิมพ์เหลือขอบปีกออกมาอันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ขนมเปี๊ยะ
- พิมพ์จิ๋วจะมีขนาดเล็กสุด
- พระกำแพงซุ้มกอนั้น นอกจากเนื้อดินยังพบเนื้อชินและชนิดที่เป็นเนื้อว่านล้วนก็มีแต่น้อยมาก ขุดค้นพบบริเวณฝั่งตะวันตกของลำแม่น้ำปิง จ.กำแพงเพชร เป็นบริเวณทุ่งกว้างที่มีชื่อว่า “ลานทุ่งเศรษฐี” หรือโบราณเรียกว่า “เมืองนครชุมเก่า”
- ด้านพุทธคุณของพระกำแพงซุ้มกอ มีครบเครื่องทั้งเรื่องเมตตา มหานิยม แคล้วคลาด และเรื่องโชคลาภ จนมีคำพูดที่พูดติดปากกันมาแต่โบราณกาลว่า “มีกูแล้วไม่จน”
- จากตำนานจากการพบจารึกบนแผ่นลานเงินในพระเจดีย์องค์ใหญ่ของวัดพระบรมธาตุสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี วัดระฆังฯ อ่านศิลาจารึกอักษรไทยโบราณ และพระยากำแพงเพชร (น้อย) เจ้าเมืองกำแพงเพชรในสมัยนั้น จึงได้ทำการค้นหาจนพบพระเจดีย์ทั้ง 3 องค์ หลักฐานบนแผ่นลานเงินที่พบในพระเจดีย์ พอสรุปเรื่องราวของสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทกษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งกรุงสุโขทัย ทรงสถาปนาพระสถูปนี้ และกล่าวถึงพระพิมพ์สกุลทุ่งเศรษฐีเป็นการสร้างขึ้นโดยพิธีกรรมของกษัตริย์ สร้างโดยพระฤๅษีทั้ง 11 ตน และบันทึกปีที่สร้าง พ.ศ. 1900 ดังนั้น อายุการสร้างของพระกำแพงซุ้มกอจนถึงปัจจุบันประมาณ 600 กว่าปี