"หนังสือเล่ม"ยังไม่ตาย! ผลสำรวจชี้คนไทยยังอ่าน88%
สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยผลสำรวจคนไทย88%ยังอ่านหนังสือเล่ม ขณะที่เวลาในการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็น 80นาทีต่อวัน
สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยผลสำรวจคนไทย88%ยังอ่านหนังสือเล่ม ขณะที่เวลาในการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นเป็น 80นาทีต่อวัน
นางสาววันเพ็ญ พูลวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผย ว่าสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจการอ่านของคนไทยในปี พ.ศ. 2561 พบว่าคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป อ่านร้อยละ 78.8 หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน โดยในกรุงเทพฯ มีคนอ่านมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 92.9, ภาคกลางร้อยละ 80.4 ภาคเหนือและภาคอีสานร้อยละ 75 และ ภาคใต้ร้อยละ 74.3 ขณะที่เวลาในการอ่านสูงขึ้น พบว่าคนไทยอ่านหนังสือนานสุด 80 นาที/วัน เทียบจากปี 2558 อ่าน 66 นาที และและ 2556 อ่าน 37 นาที
นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้(TK.Park) กล่าว ว่าสถิติการอ่านของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป สำหรับในปีนี้ เมื่อเราเข้าสู่ยุคดิจิทัล แน่นอนว่าการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ย่อมส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการอ่าน ทำให้ห้องสมุด ร้านหนังสือ หรือส่วนงานที่เกี่ยวข้องย่อมต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงนี้ จึงหวังให้ข้อมูลและสถิติการอ่านนี้เป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำงานด้านการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้
“อุทยานการเรียนรู้ TK park เห็นว่าแม้จะมีตัวเลขคนอ่านเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.8 ก็ตาม แต่เมื่อมองไปที่ตัวเลขของกลุ่มที่ไม่อ่าน พบว่ามีถึงร้อยละ 21.2 คิดเป็นจำนวนประชากร 13.7 ล้านคน ซึ่งเหตุผลของการไม่อ่าน มีตั้งแต่การดูทีวี ไม่มีเวลา อ่านไม่ออก ไม่ชอบ ไม่สนใจการอ่าน ชอบเล่นเกม รวมทั้งไม่มีเงินซื้อหนังสือ”
นายกิตติรัตน์มองว่า เหตุผลของประชากรไทยที่ไม่อ่านถึงเกือบ 14 ล้านคน ในจำนวนนั้นมีคนที่บอกไม่ชอบและไม่สนใจอ่านถึงร้อยละ 25.2 ถ้าคิดเป็นจำนวนประชากรก็ประมาณ 3,450,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยทีเดียว คนกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของอุทยานการเรียนรู้ TK park และหน่วยงานที่ทำงานด้านส่งเสริมการอ่านทั้งหลาย และเมื่อจำแนกตามช่วงวัย พบว่า เด็กอายุระหว่าง 6-14 ปี มีแนวโน้มการอ่านเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงว่าการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านในกลุ่มนี้ค่อนข้างได้ผล
เมื่อไปดูในเด็กอายุ 15-24 ปี กลับพบว่าไม่ชอบการอ่านหนังสือถึงร้อยละ 34.9 ขณะที่วัยผู้ใหญ่ 25-50 ปี ที่ไม่ชอบอ่านหนังสือมีถึงร้อยละ 32.8 ชี้ให้เห็นว่า หลังการศึกษาช่วงมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงทำงานและเกษียณอายุ คนกลุ่มนี้ยังขาดนิสัยรักการอ่าน และยังแสดงให้เห็นว่าการปลูกฝังเรื่องรักการอ่านในคนไทยอาจจะยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งนับเป็นเรื่องที่หน่วยงานด้านการส่งเสริมการอ่าน ต้องกลับไปแก้โจทย์และหาแนวทางในการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านกันต่อไป
“อีกหนึ่งประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือกลุ่มเด็กเล็ก ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 63.8 ยังขาดความเข้าใจในเรื่องการอ่านหนังสือของเด็กเล็ก โดยให้เหตุผลว่าเด็กยังมีอายุน้อยเกินไป ทำให้เด็กกลุ่มนี้ คิดเป็นจำนวนราว 1.1 ล้านคน ไม่ได้รับการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านเหตุเพราะความเข้าใจผิดของผู้ปกครอง ดังนั้นการรณรงค์ให้ความรู้และทำความเข้าใจในการส่งเสริมการอ่านในเด็กเล็กยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่องและแข็งขันมากขึ้น เพราะการอ่านของเด็กเล็กนั้นเกิดจากความร่วมมือสนับสนุนการอ่านโดยพ่อแม่ผู้ปกครอง เช่น การเล่านิทานให้ลูกฟังเป็นประจำ ซึ่งอันที่จริงพ่อแม่สามารถอ่านหนังสือให้เด็กฟังได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือแม้กระทั่งเมื่อเด็กอยู่ในท้อง โดยมีผลการวิจัยว่าจะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองสูงกว่าเด็กทั่วไป รวมทั้งมีนิสัยรักการอ่านเมื่อโตขึ้นอีกด้วย
“ผลการสำรวจในปี 2561 ยังระบุถึงประเด็นการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียวในเด็กวัยต่ำกว่า 6 ปี ที่มีจำนวนร้อยละ 5.4 เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากผลสำรวจเมื่อครั้งที่แล้ว นั่นหมายถึงมีเด็กจำนวนถึง 145,000 คน ถูกพ่อแม่เลี้ยงดูด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว ในขณะที่งานวิจัยเรื่องผลกระทบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านจอ ทีมแพทย์ระบุว่าการเสพสื่อผ่านจออิเล็กทรอนิกส์มีผลกระทบกับพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งไม่สมควรใช้กับเด็กเล็กแรกเกิดจนถึง 1 ขวบครึ่งอย่างสิ้นเชิง ซึ่งประเด็นนี้นับว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก” ผู้อำนวยการอุทยานการเรียนรู้ TK park กล่าวย้ำ
นอกจากนี้ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า “หนังสือเล่มยังไม่ตาย!” ในช่วงเวลา 3 ปีนี้เราเห็นได้ชัด ความนิยมการอ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ร้อยละ 75.4 ซึ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่อัตราการลดลงของการอ่านหนังสือเล่มกลับไม่สูงเท่าไรนัก เพราะจากการสำรวจยังคงมีคนอ่านหนังสือเล่มอยู่ถึงร้อยละ 88 ดังนั้นแนวทางการส่งเสริมการอ่านในอนาคตจึงสามารถรณรงค์ควบคู่กันไปได้ทั้งสองทาง
ประเด็นสุดท้าย ห้องสมุดทั่วโลกต้องรู้จักปรับตัวเพื่อการอยู่รอด ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจที่แสดงตัวเลขผู้อ่านหนังสือในห้องสมุดเพียงร้อยละ 0.6 ของคนอ่านหนังสือ หรือ คิดเป็นจำนวน 298,000 คน ซึ่งต่ำกว่า 3 แสนคนเป็นครั้งแรก! โดยมีผู้ยืม-คืนหนังสือลดลง คิดเป็นร้อยละ 8.3 ซึ่งปรากฏการณ์การลดลงของผู้มาอ่านหนังสือในห้องสมุดนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย ดังนั้นห้องสมุดเองจะต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่นอกเหนือจากการเป็นพื้นที่อ่านหนังสือ เพื่อรองรับการใช้งานที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในชุมชนอย่างแท้จริง
ผลการสำรวจปี 2561 นี้ยังมีการจัดอันดับ 10 จังหวัดที่มีจำนวนคนอ่านหนังสือมากที่สุด* ได้แก่ กรุงเทพฯ 92.9% , สมุทรปราการ 92.7% , ภูเก็ต 91.3% , ขอนแก่น 90.5% , สระบุรี 90.1% , อุบลราชธานี 88.8% , แพร่ 87.6% , ตรัง 87.2% , นนทบุรี 86.6% และปทุมธานี 86.2%
สำหรับสถิติการอ่านของประชากรไทย จัดทำขึ้นโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติทุกรอบ 2-3 ปี โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ได้ขยายคำนิยามการอ่าน นอกจากการอ่านหนังสือรูปแบบกระดาษ ให้ครอบคลุมการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (รวมโซเชียลเน็ตเวิร์ค และ อินเตอร์เน็ต) โดยปีล่าสุดนี้ทำการสำรวจจากประชากรตัวอย่าง 55,920 ครัวเรือน ทั้งในและนอกเขตเทศบาลทั่วประเทศ