รฟท.เล็งลงทุนอัพเกรดรถไฟเป็น "ไฮบริด" ลดใช้น้ำมันดีเซล
รฟท.เตรียมควักลงทุน 6 หมื่นล้านอัพเกรดรถไฟเป็นระบบไฮบริดในเส้นทางรัศมี 200 กม.จากกรุงเทพฯ เผยเอกชนเอเชีย-ยุโรป สนใจตั้งโรงผลิตรถไฟในไทย
รฟท.เตรียมควักลงทุน 6 หมื่นล้านอัพเกรดรถไฟเป็นระบบไฮบริดในเส้นทางรัศมี 200 กม.จากกรุงเทพฯ เผยเอกชนเอเชีย-ยุโรป สนใจตั้งโรงผลิตรถไฟในไทย
นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธ์ รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท.จะปรับตัวไปสู่ภาพลักษณ์ใหม่สถานีไร้ควันและลดมลพิษการขนส่งระบบทางราง จึงมีแผนลงทุนรถไฟไฮบริดระบบกึ่งไฟฟ้า ลดการใช้น้ำมันดีเซลในระบบเดินรถระยะยาว และพัฒนาเป็นรถไฟระบบไฟฟ้าไร้ควันเต็มตัวในเส้นทางรัศมี 200 กิโลเมตรจากกรุงเทพมหานคร
"เบื้องต้นคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนเส้นทางละ 2 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1.ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา 2.ช่วงกรุงเทพ-นครสวรรค์ และ 3.ช่วงกรุงเทพ-หัวหิน-ชุมพร ดังนั้นในอนาคตก็ไม่ต้องเหม็นควันภายในสถานีอีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้รฟท.ยังมีแผนโครงการดัดแปลงรถไฟฟ้ากำลังเพาเวอร์คาร์ 8 คัน โครงการปรับปรุงรถโดยสารพ่วงเพาเวอร์คาร์ 95 คัน อีกด้วย"นายศิริพงศ์ กล่าว
นายศิริพงศ์ กล่าวอีกว่า ด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศนั้นปัจจุบันมีเอกชนหลายรายทั้งไทยและต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถไฟในประเทศไทย
ทั้งนี้ มีกลุ่มทุนที่สนใจจากประเทศฝรั่งเศส บริษัท ไกท์มาร์ ประเทศจีน บริษัท หวู่ชิง และกลุ่มบริษัทจากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเข้าพบ รมว.คมนาคม แล้ว เพื่อแสดงถึงความตั้งใจในการลงทุน
ขณะที่บริษัทเอกชนไทยมีความสามารถผลิตชิ้นส่วนบางประเภทได้ เช่นกัน อาทิ ตัวรถและชิ้นส่วนหลัก (Mainframe) โดยมีกลุ่มเอกชนที่สนใจ ได้แก่ กลุ่มบริษัท อิตัลไทย บริษัท เอเซีย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส (ไทยแลนด์) กลุ่มบริษัท สหวิริยา และกลุ่มบริษัท โชคนำชัย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นประเทศไทยควรเริ่มจากการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่และชิ้นส่วนหลักของตัวรถ ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่การผลิตระบบช่วงล่างอย่างเบรกและเพลาต่อไป ภายใต้ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านกระทรวงคมนาคมและสำนักงาน พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อกำหนดมาตรฐานร่วมกันต่อไป