posttoday

ลูกหนี้ไม่พึงประสงค์ในสายตาผู้พิจารณาให้กู้

03 มิถุนายน 2562

อะไรคือลักษณะที่อาจไม่พึงประสงค์สำหรับคนที่เขามีหน้าที่พิจารณาให้เงินกู้

อะไรคือลักษณะที่อาจไม่พึงประสงค์สำหรับคนที่เขามีหน้าที่พิจารณาให้เงินกู้

**************************

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 9/2562 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร

มันเป็นเรื่องที่จะว่าง่ายก็ง่าย​ จะว่ายากก็ยากในยุคนี้เวลานี้ที่การยื่นขอสินเชื่อเพื่อนำเงินไปซื้อบ้าน​ ซื้อคอนโด​ ซื้อรถยนต์​ กู้เอาไปใช้จ่ายทั้งที่เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายอันจำเป็นบ้าง เช่น ค่าเทอมลูกหลาน​ เกิดอุบัติเหตุ​ โรคภัยไข้เจ็บ​ ต่อเติมบ้าน​ ซ่อมแซม​ หรือจะเป็นพวกค่าใช้จ่ายที่อาจไม่จำเป็นเช่นซื้อของแพงๆ​ โดยที่บางครั้งของพวกนั้นก็มีแล้วเช่น​ โทรศัพท์​มือถือ​ กระเป๋าแบรนด์เนม​ รองเท้าโน่นนั่นนี่​ หรือที่เลวร้ายหน่อยคือกู้ไปทำอะไรที่บันเทิงเริงรมย์​ แต่ต้องมาทุกข์​ตรมตอนจ่ายหนี้ เช่น​ กู้ไปกินเลี้ยงวันครบรอบวันเกิดอะไรอย่างนี้​ เที่ยวไปก่อนผ่อนทีหลัง​หนักๆ เข้าก็ประเภทวินาศไม่ว่าแต่ข้าต้องได้ชื่อ​ เป็นต้น​ เรื่องพวกนี้​ อันนี้คือเหตุเริ่มต้นของการมีความจำเป็นต้องมีหนี้​ มีทั้งหนี้ดีและหนี้ที่จะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต

ทีนี้มามองคนที่ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์​ พิจารณาคำขอกู้​ ซึ่งต้องคนหาตัวตนที่แท้จริงของคนที่มาขอกู้​ โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญดังนี้

1. รายได้และแหล่งที่มาของรายได้​ จุดที่สำคัญมากคือ​ คำว่ามากพอที่จะเชื่อว่าสามารถมีเงินมาชำระหนี้ได้​ มีความสม่ำเสมอ​ ไม่วูบวาบเกินไป​ ที่สำคัญแหล่งที่มาของรายได้ เช่น กิจการของนายจ้าง​ ทำเลที่ทำมาหากินเป็นอย่างไร

2. ขีดความสามารถในการชำระหนี้​ ในตรงนี้จะดูแต่ว่ามีรายได้อย่างเดียวไม่ได้ครับ​ ต้องเอารายได้ที่มีมาหักด้วยหนี้ที่จะต้องจ่ายในแต่ละเดือน เช่น​ ค่าผ่อนบ้าน​ ค่างวดผ่อนรถยนต์​ ค่าผ่อนสินเชื่อ ​0% ค่าผ่อนบัตรเครดิต​ มาหักออกจากรายได้​ แล้วดูว่าเงินรายได้สุทธิจะเป็นเท่าใด​ ยกตัวอย่าง มีรายได้​ 18,000 บาทต่อเดือน​ มีหนี้บัตรเครดิต​ 3 ใบๆ ละ​ 30,000 บาท รวมเป็นยอดหนี้​ 90,000 บาท​ ถ้าผ่อนขั้นต่ำก็ต้องจ่ายหนี้รายเดือน​ 9,000 บาท​ จาก​ 18,000 -​ 9,000 = 9,000 บาทต่อเดือน​ เอา​ 30 วันไปหาร​ ก็จะได้ว่ารายได้หลังหักหนี้บัตรแล้ว​เหลือเงินกินใช้​ 300 บาทต่อวัน​ คำถามคือไหวหรือไม่ในกรุงเทพฯ

การเอายอดผ่อนหนี้ทุกสัญญาต่อเดือนมาหารด้วยรายได้รายเดือน​ เขาเรียกกันว่าอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้หรือ​ Debt service ratio หรือ​ DSR

3. ลักษณะนิสัยการชำระหนี้ในบัญชีหนี้สินต่างๆ ที่ตนเองได้ไปกู้ไว้ในอดีตว่าเมื่อได้ก่อหนี้รายการนั้นๆ แล้ว​ ได้ทำตามสัญญาไหม เป็นหนี้แล้วใช้หนี้ไหม ใช้หนี้ครบตามจำนวนไหม ใช้หนี้ตรงเวลาไหม มีหนี้เกินวงเงินไหม ตัวอย่างเช่น​ มีบางบัญชีในบางเดือนค้างชำระแต่ต่อมาก็รีบไปชำระในเดือนถัดไปแล้วจากนั้นจนถึงปัจจุบันไม่มีการค้างอีกเลย​ มีการค้างชำระแล้วก็ไปจ่ายชำระแต่เป็นอย่างนี้บ่อยๆในช่วง​ 6 เดือนหรือช่วง​ 12 เดือนที่ผ่านมาหรือไม่ มีการยื่นขอปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่ มีการปิดบัญชีไปบ้างหรือไม่​ ปิดไปนานหรือยัง​ มีการไปค้างชำระยาวนานต่อเนื่องจนเจ้าหนี้ตามไม่ไหวตัดใจขายให้คนอื่นมาตามหนี้หรือไม่ มีการพักชำระหนี้หรือไม่ในบัญชีใดบัญชีหนึ่ง​ มีการถูกติดตามทวงถามจนถึงขั้นเจ้าหนี้บางแห่งฟ้องร้องดำเนินคดีหรือไม่​ ที่เลวร้ายคือมีการค้างชำระต่อเนื่องเกิน​ 90วันหรือ​ 3เดือนก็จะกลายเป็นลูกหนี้​ NPL​ อาการแบบนี้จะบอกลักษณะ​ มีเงินแต่เหนียวหนี้​ ไมทวงสุดๆ ก็ยังไม่จ่าย​ ไม่มีเงินแต่เป็นคนดีไม่หนีไปไหนแต่ไม่มีเงินมาจ่าย​ เป็นต้น

ทีนี้ คนที่มีลักษณะชำระหนี้ดี​ ใครๆ ก็อยากคบคือ​ ทุกบัญชีมีหนี้ไม่เต็มวงเงิน​ มีบัญชีบัตรเครดิตแบบใช้​ 100จ่าย​ 100 มีบัญชีจำนวนไม่มาก​ ยอดผ่อนทุกบัญชีรวมกันเทียบกับรายได้ก็ไม่เกิน​ 40-50%

คนที่เขาต้องตัดสินใจนั้น​ เขาคิดเสมอว่าการจะให้เงินกู้ใครนั้น

1. เงินนั้นไม่ใช่ของเขา​ ไม่ใช่ของแบงก์ แต่เป็นของผู้ฝากเงิน​

2. การตัดสินใจนั้นต้องอธิบายได้ว่าทำไมจึงตัดสินใจแบบนั้น​ ไม่ว่าจะให้หรือไม่ให้

3. มันมีกฏกติกา​ มารยาท​ ระเบียบเข้ามาเกี่ยวข้องเช่น​ ราคาหลักประกันเทียบกับวงเงินกู้แล้วต้องไม่เกิน​ 90%, 75% บ้างเป็นต้น

4. การตัดสินใจนั้นต้องมีข้อมูลที่เพียงพอเหมาะสม​ ที่จะทำให้การตัดสินใจมีคุณภาพ

5. ต้องมั่นใจว่าเมื่อให้กู้ไปแล้วต้องไม่ไปเป็นภาระของคนกู้มากเกินกว่าขีดความสามารถของเขา​ คือผ่อนได้​ ได้ประโยชน์จากการกู้​ ให้กู้แล้วชีวิตลูกหนี้เขาควรจะดีขึ้น​ ไม่ใช่แย่ลง

อะไรคือลักษณะที่อาจไม่พึงประสงค์สำหรับคนที่เขามีหน้าที่พิจารณาให้เงินกู้จึงมาถึงตรงจุดสรุปว่ามันคือลักษณะพฤติกรรมที่​ ก่อหนี้แบบไม่เหตุผล​ ไม่วางแผนการใช้จ่าย​ พฤติกรรมในอดีตมีความเสี่ยงว่าจะเอามาใช้ในอนาคตกับเจ้าหนี้ใหม่ที่กำลังยื่นขอกู้​ ท่านผู้อ่านดูข้อ​ 2 ขีดความสามารถในการชำระหนี้กับข้อ 3 ลักษณะนิสัยในอดีตของการชำระหนี้​ที่ตนเองก่อเอาไว้

กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา

อดีตเป็นเหตุ​ ปัจจุบันเป็นผล

ปัจจุบันเป็นเหตุ​ อนาคตเป็นผล

สัญญาต้องเป็นสัญญา

เป็นหนี้ต้องใช้หนี้

พูดคำไหนก็ทำแบบนั้น

มันไม่ได้ยากในการตีความว่าต้องทำตนแบบไหน​ แต่มันจะยากมากถ้าคิดจะหลอกว่าเราจะไม่ทำแบบนั้นอีกแล้ว​ แต่ขาดสิ่งที่จะมายืนยันให้คนพิจารณาสินเชื่อเขาเชื่อได้ว่า​เราจะทำตามนั้น​ ทั้ง ๆ ที่ในอดีต​ สิ่งนั้นมันบ่งบอกแบบตรงข้ามกัน