posttoday

หนุนเอสเอ็มอี 10 รายเข้าตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ เพิ่มโอกาสแหล่งเงินทุน

13 สิงหาคม 2562

กสอ. โชว์ต้นแบบเอสเอ็มอีเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ สำเร็จแล้ว 1 ราย เดินหน้าตั้งเป้า 10 กิจการ ภายในปี'65 หวังสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน พัฒนาธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง พร้อมรองรับการแข่งขันระดับสากล

กสอ. โชว์ต้นแบบเอสเอ็มอีเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ สำเร็จแล้ว 1 ราย เดินหน้าตั้งเป้า 10 กิจการ ภายในปี'65 หวังสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน พัฒนาธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง พร้อมรองรับการแข่งขันระดับสากล

นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมเอสเอ็มอี เพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 จนถึงปี 2562 เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีสามารถพัฒนาศักยภาพตนเอง เตรียมความพร้อมของธุรกิจก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมีเอสเอ็มอี เข้าร่วมโครงการฯ และผ่านกระบวนการขั้นตอนคัดเลือกที่มีประสิทธิภาพรวมทั้งสิ้น 10 กิจการ

ปัจจุบันมีบริษัทที่สามารถแปรสภาพจากบริษัท จำกัด เป็น บริษัท มหาชน และดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขาย (Derivative Warrants: DW ซึ่งเป็นตราสารที่ผู้ออกให้สิทธิกับผู้ซื้อในการซื้อหุ้น) และร่างหนังสือชี้ชวน (แบบ filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้ว จำนวน 1 ราย คือบริษัท อินฟราเซท จำกัด

ส่วนบริษัทที่มีแผนจะยื่นคำขอเข้าจดทะเบียนในปี 2563 คือ บริษัท โรแยล พลัส จำกัด และ บริษัท เวสเทิร์น เดคอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ส่วนที่เหลือมีเป้าหมายเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในปี พ.ศ. 2565

“การส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดและขยายธุรกิจผ่านการระดมทุนในตลาดทุนของไทย สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และมีโอกาสในการเลือกระดมทุนผ่านการออกหลักทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ได้ง่าย เช่น หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกิจการ ทำให้บริษัทเป็นทีรู้จักและได้รับการยอมรับของสาธารณชนมากยิ่งขึ้น สำหรับกิจการที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ เหล่านี้ ถือเป็นต้นแบบในการพัฒนาเพื่อขยายผลให้เอสเอ็มอีอื่น ๆ สามารถศึกษาแนวทางการพัฒนา วิธีการดำเนินงาน ตลอดจนกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในธุรกิจของตน นำไปสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นได้” นายเดชากล่าว

อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุน เอสเอ็มอี อย่างจริงจัง เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ มีสัดส่วนต่อจีดีพีของประเทศมากกว่าร้อยละ 40 มีสัดส่วนต่อการจ้างงานมากถึงร้อยละ 80 จึงเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งของเอสเอ็มอี คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐ จึงจำเป็นต้องเข้ามาสนับสนุนเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ภายใต้แผนการส่งเสริมเอสเอ็มอี ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560 – 2564) ซึ่งหนึ่งในกิจกรรม ที่จะทำให้แผนงานประสบผลสำเร็จ คือ การสนับสนุนให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพเข้าถึงตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ