posttoday

ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ฉลุย ศาล ปค.สูงสุดพิพากษายกคำร้องเอ็นพีซี

17 มีนาคม 2563

ศาลปกครองสูงสุด เปิดคำพิพากษา ยกคำร้องกลุ่มเอ็นพีซี ที่ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนพัฒนาแหลมฉบังเฟส 3 ที่ไม่รับซองเอกสาร ที่ 2 เพื่อร่วมลงทุน ในโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ยุติศึกยืดเยื้อข้ามปี

รายงานข่าวจากศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาออกมา ยกคำร้องของ กลุ่มเอ็นพีซี ที่ขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนพัฒนาแหลมฉบังเฟส 3 ที่ไม่รับซองเอกสาร ที่ 2 เพื่อร่วมลงทุน ในโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ของกลุ่มเอ็นพีซี

ก่อนหน้านี้ กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นพีซี ซึ่งประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด , พรีมา มารีน , แอสโซซิเอท อินฟีนิตี้ , พีเอชเอส ออร์แกนิค ฮีลลิ่ง และ ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น ไม่ลงชื่อในสัญญากิจการร่วมค้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารซองที่ 2 ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้เสนอตัวร่วมลงทุน จึงถูกคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนพัฒนาแหลมฉบังเฟส 3 ประเมินว่า ไม่ผ่านการพิจารณา เพราะเอกสารไม่ครบถ้วน

โดยการเสนอร่วมลงทุนในโครงการนี้ มีเอกชน 2 กลุ่มเสนอตัวเข้าร่วมลงทุน เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 ดังนั้น เมื่อกลุ่มเอ็นพีซี ขาดคุณสมบัติในการเข้าร่วม จึงทำให้มีผู้ผ่านเข้าสู่การพิจาiณาเพียง 1 ราย คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ซึ่งประกอบด้วย กัลฟ์ , พีพีที แทงก์เทอร์มินัล และ ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอนจิเนียริ่ง อย่างไรก็ตาม กลุ่มเอ็นซีพี ไม่ยอมรับผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ และใช้สิทธิร้องเรียนในหลายช่องทาง ได้แก่ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี), สำนักงานอัยการสูงสุด , ผู้ตรวจการแผ่นดิน, ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด

รายงานข่าว กล่าวว่า ผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ถือเป็นช้อยุติ และช่วยให้โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟสที่ 3 สามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้ หลังจากการพัฒนาล่าช้ากว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ อันเนื่องมาจากการยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อให้กรรมการคัดเลือกคืนสิทธิ์การประมูลของเอกชนกลุ่มที่ไม่ผ่านเงื่อนไขด้านคุณสมบัติ

ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ออกมาระบุว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะสนับสนุนการยกระดับประเทศไทย สู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับการขยายตัวของตู้สินค้า และส่งเสริมการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถือเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

โครงการนี้ มีมูลค่าการลงทุนเบื้องต้นสูงถึง 155,834 ล้านบาท วางเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถเปิดดำเนินการอย่างช้าภายใน ปี พ.ศ. 2568 ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อด้านเศรษฐกิจ ในแง่เป็นโอกาสสร้างรายได้ และการมีงานทำมากขึ้น โดยรูปแบบการลงทุน เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP)