“อีฟ โรเช่” เลือก “ไทย” นำร่องโปรแกรมขายผ่าน “Social Selling” รับลูกค้ายุคโควิด “เชื่อเพื่อน” มากกว่าอินฟลูเอ็นเซอร์แล้ว
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบตลาดสินค้าความงามและเครื่องสำอางในไทยที่มีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาทไปได้ไม่สวยในปีนี้ ด้วยตัวเลขติดลบถึง 20% แต่จากการปรับตัว “ไวกว่า” ของอีฟ โรเช่ ในตลาดออนไลน์ทำให้สินค้าเติบโตกว่า 357%
ตลาดความงามไทย “กลุ่มเมคอัพ” ร่วงหนัก 40%
นางสาววิลาสินี ภาณุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด อีฟโรเช่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ทำตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและคามงาม แบรนด์ อีฟโรเช่ (Yves Roche) เล่าภาพรวมตลาดธุรกิจความงามและเครื่องสำอาง ประเทศไทย มีมูลค่าราว 7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อปี (ข้อมูลนีลเส็น) แต่ในปี 2563 ตลาดนี้มีมูลค่าหดตัวลดลงถึง 20%
โดยกลุ่มสินค้าเครื่องสำอาง หรือ เมคอัพ เติบโตลดลงมากสุด ติดลบ58% ตามมาด้วยกลุ่มลักชัวรี ติดลบ 40% และกลุ่มดูแลผิว (สกินแคร์) ติดลบ 30%
ปัจจัยหลัก มาจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวที่ชะลอกำลังซื้อสาวๆ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย หรือ ลักชัวรี แต่หันไปโฟกัสในกลุ่มสินค้าเพื่อสุขอนามัย และ การดูแลสุขภาพ ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น และผลักดันให้สินค้ากลุ่มความงามที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพไอเเท็มต่างๆ มียอดขายเติบโตสูงขึ้นในช่องทางออนไลน์ ตามมา
สร้างเครือข่ายขายตรงผ่าน “โซเชียล เน็ตเวิร์ค”
นางวิลาสินี เสริมว่าแนวโน้มที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งไม่คาดคิดมาก่อน ในตลาดสินค้าความงามและเครื่องสำอางของไทย แต่จากการปรับตัวที่รวดเร็วของแบรนด์ อีฟโรเช่ ตั้งแต่ต้นปี 2563 ด้วยกลยุทธ์ Digitalized Omni Channel จากการนำผลิตภัณฑ์ในพอร์ตอีฟโรเช่ ทำตลาดชิงรุกในช่องทางขายแพล็ตฟอร์มออนไลน์ ลาซาด้า (สัดส่วน 60%) ช้อปปี้ (33%) และ คอนวี่ (7%) ทำให้แบรนด์ อีฟโรเช่ สามารถพลิกกลับมีอัตราการเติบโตยอดขายในช่องทางออนไลน์สูงถึง 357%
นอกจากนี้ อีฟโรเช่ ยังใช้กลยุทธ์การตลาดดิจิทัล ผ่านผู้มีอิทธิพลทางความคิดในสื่อสังคมออนไลน์ (KOL) ที่ผสมผสานทั้งบล็อคเกอร์ที่มีชื่อเสียง และ ไมโคร อินฟลูเอ็นเซอร์ เพื่อมาสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์กับผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มดูแลเส้นผม (Hair Care) ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
ส่งผลให้ แบรนด์อีฟโรเช่ สามารถสร้างการพูดถึงแบรนด์ (Share of Voice) ในสังคมออนไลน์ ได้เป็นอันดับ1 เป็นครั้งแรกจากเดิมที่แบรนด์ อีฟโรเช่ มี Share of Voice ในลำดับกว่า 300 ในตลาดสินค้าและความงาม
จากกระแสตอบรับที่ดีของแบรนด์ อีฟโรเช่ ในสื่อสังคมออนไลน์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการเติบโตของตลาดโซเชียล (Social Commerce)ของไทย ที่เป็นอันดับ1 ของโลก ทำให้บริษัทแม่ ประเทศฝรั่งเศส เลือก “ไทย” จากใน 88 ประเทศที่บริษัทแม่เข้าไปดำเนินธุรกิจ เพื่อนำร่องทำตลาดในรูปแบบการขายใหม่ ที่เรียกว่า “Social Selling” ภายใต้แคมเปญ “ช้อป แชร์ ได้เงินชิลชิล” เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าดิจิทัล ที่เป็นคนรุ่นใหม่
สำหรับ Social Selling จะเป็นการทำตลาดสินค้าแบรนด์อีฟโรเช่ ผ่านเครือข่ายผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ที่มีการแชร์ภาพผลิตภัณฑ์อีฟโรเช่ ส่งต่อๆกันในแพล็ตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ โดยผู้แชร์จะได้รับค่าคอมมิชชัน หรือ ค่าตอบแทนจากการแชร์ต่อผลิตภัณฑ์นั้นๆต่อไปยังกลุ่มเครือข่ายเพื่อนของตัวเอง ซึ่งโมเดลธุรกิจดังกล่าวนรองรับทั้ง กลุ่มตัวแทนพนักงานขาย(บีเอ) อีฟโรเช่ ที่มีอยู่ราว 330ราย และ ผู้สนใจอื่นๆ ซึ่งในส่วนของรายบละเอียด บริษัทเตรียมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย.ปีนี้
“ปัจจุบันผู้บริโภคมีความฉลาดและเข้าใจผลิตภัณฑ์ต่างๆเป็นอย่างดี และเลือกเชื่อเพื่อน มากกว่า ตัวพรีเซ็นเตอร์ บล็อกเกอร์ดังๆ ที่มารีวิวสินค้าความงามต่างๆ แต่ตอนนี้ผู้บริโภคต้องการรู้ความจริง ซึ่งถือเป็น คีย์หลักในการทำตลาดสินค้าในยุคโควิด” นางสาววิลาสินี กล่าว
อีฟโรเช่ ปรับใหญ่แบรนด์รอบ 60 ปี
อย่างไรก็ตาม แบรนด์ “อีฟโรเช่” ทั้งใน 88 ประเทศทั่วโลก เลือกใช้ช่วงเวลานี้ ทยอยปรับภาพลักษณ์แบรนด์ (Re-Branding) อีพโรเช่ เป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี และ 23 ปีในไทย เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ และ ขยายฐานลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น โดยใช้แบรนด์กลยุทธ์ “สวยโลกไม่เสีย”
พร้อมปรับ มู้ด แอนด์ โทน แบรนด์ ผลิตภัณฑ์ และ ภาพลักษณ์แคมเปญโฆษณาต่างๆ ให้มีสีสันสดใสเพื่อสื่อสารแบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติในบ้านเกิด ที่เมืองลา กาชิลี แคว้นบริตทานี ประเทศฝรั่งเศส
ทั้งนี้ยังสอดคล้องกับแนวทาวการทำตลาดในไทย ที่จะขยายฐานกลุ่มเป้าหมมายให้เด็กลง มีอายุเฉลี่ย 23 ปี จากฐานลูกค้าเดิมอายุเฉลี่ย 43 ปี และมีฐานลูกค้า (?Data Base) กว่า 5 แสนราย
ลดสาขาหน้าร้าน รักษารายได้โตงคงที่ก็เก่งแล้ว
นางสาววิลาสินี กล่าวว่าจากแนวทางการทำตลาด อีฟ โรเช่ ดังกล่าวที่กล่าวข้างต้นแล้ว บริษัทยังคงให้ความสำคัญการทำตลาดช่องทางขายผ่านหน้าร้านปกติด้วย ซึ่งปัจจุบันมีหน้าร้านราว 120 สาขา แต่ในปีนี้จะปรับลดเหลือ 88 สาขา โดยเลือกปิดสาขาที่ไม่ตรงกับตำแหน่งทางการตบาดของแบรนด์อีฟโรเช่ ภายใต้ภาพลักษณ์ใหม่
ขณะที่ปีนี้ บริษัทวางเป้าหมายรายได้เติบโตคงที่เท่ากับในปี 2562 อยู่ที่ประมาณกว่า 900 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่น่าพอใจมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จากเดิมวางเป้าหมายรายได้เติบโตภายใต้สถานการณ์ปกติในช่องทางค้าปลีกอยู่ที่ 7%
โดยในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มสินค้าที่มีอัตราเติบโตสูงสุดในช่องทางออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) คือ ดูแลเส้นผม 35% ดูแลผิว 41% ทำความสะอาดผิว 11% จากเดิมกลุ่มสินค้าดังกล่าวมีสัดส่วนเติบโตยอดขายเติบโตในช่องทางปกติ อยู่ที่ 19%, 48% และ 7% ตามลำดับ
“ตลาดความงามในปี 2564 น่าจะยังรุนแรงอยู่ ด้วยยังไม่สามารถคาดการณ์การสิ้นสุดแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เมื่อใด” นางสาววิลาสินี กล่าวทิ้งท้าย
และในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้าจากนี้ อาจมีความเป็นไปได้ว่า อีฟโรเช่ ประเทศไทย จะได้รับมอบหมายจากบริษัทแม่ ให้เป็นศูนย์กลาง (ฮับ)?เพื่อดูแลแบรนด์ อีฟ โรเช่ ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วย
โดย ดวงใจ จิตต์มงคล